ใน 1 ปี พื้นที่ป่าทั่วโลกหายไปเทียบเท่าขนาดของประเทศอังกฤษ

ใน 1 ปี พื้นที่ป่าทั่วโลกหายไปเทียบเท่าขนาดของประเทศอังกฤษ

ทุกๆ ปี ทั่วทั้งโลกกำลังสูญเสียพื้นที่ป่าขนาดเท่าประเทศอังกฤษ โดยเฉพาะพื้นที่ป่าฝนเขตร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสภาพอากาศและสัตว์ป่า

อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้นถึง 26 ล้านเฮกตาร์ (64 ล้านเอเคอร์) ต่อปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่าอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าอดีต แม้ว่าผู้นำประเทศทั่วโลกได้ร่วมปฏิญญาที่จะลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้กันไปแล้วในปี 2557

ปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้ (New York Declaration on Forests) ที่ผู้นำประเทศจากทั่วโลกได้ร่วมลงนามกันไปเมื่อปี 2557 นั้น ระบุให้ประเทศต่างๆ ต้องลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 และส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ที่ถูกทำลายหรือเสื่อมโทรมลง 150 ล้านเฮกตาร์

แต่นับจากการลงนามเกิดขึ้น กลับพบว่าอัตราการสูญเสียต้นไม้ได้เพิ่มมากขึ้นถึง 43% โดยพื้นที่ป่าฝนเขตร้อนซึ่งมีคุณค่าทางระบบนิเวศและไม่อาจปลูกทดแทนได้นั้นได้รับความเสียหายมากที่สุด มีอัตราลดลงราว 4.3 ล้านเฮกตาร์ต่อปี

ในปฏิญญานอกจากต้องลดอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ลงให้ได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2563 แล้ว ยังได้วางเป้าหมายสูงสุดเพื่อหยุดการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งคาดการณ์กันว่า ถ้าเราสามารถรักษาพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่นี้ไว้ได้ อาจช่วยจัดการก๊าซคาร์บอนได้มากเท่ากับการกำจัดรถยนต์ออกไปจากถนนกันเลยทีเดียว

ในละตินอเมริกา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแอฟริกา ซึ่งเป็นที่ตั้งป่าฝนเขตร้อนที่สำคัญ พบว่าอัตราการสูญเสียต้นไม้ที่ปกคลุมพื้นที่ตลอดทั้งปีนั้นเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนระหว่างปี 2557-2561 เมื่อเทียบกับอัตราการสูญเสียระหว่างปี 2544-2556

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พื้นที่ป่าฝนเขตร้อนของละตินอเมริกาได้รับความเสียหายมากที่สุด ในขณะที่ทางฝากของแอริกานั้นพบว่าอัตราการทำลายป่าเพิ่มมากขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิมที่สูญเสียน้อยกว่า 2 ล้านเฮกตาร์ต่อปีเป็นมากกว่า 4 ล้านเฮกตาร์

 


ชาร์ตแสดงการเปลี่ยนแปลงของปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยต่อปีจากการสูญเสียต้นไม้โดยรวมระหว่างปี 2545-2556 และ 2557-2562


 

รายงานตามที่กล่าวถึงรวบรวมข้อมูลจนถึงปี 2561 ดังนั้น ตัวเลขการสูญเสียจึงยังไม่ได้นับรวมเอาผลกระทบจากไฟป่าแอมะซอนที่เพิ่งเกิดขึ้น โดยผู้เขียนรายงานได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า เมื่อเดือนมิถุนายน 2562 อัตราการตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนของบราซิลเพิ่มขึ้น 88% เมื่อเทียบกับในช่วงเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา

Charlotte Streck ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการ Climate Focus และผู้เขียนรายงานการสูญเสียพื้นที่ป่าชิ้นนี้ เตือนว่า ไฟป่าที่เพิ่งเกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างมาก เพราะธรรมชาติของป่าฝนเขตร้อนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นเกิดไฟป่าได้ยาก ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณเขียวชอุ่มนั้นเป็นกลไกการป้องกันไฟป่าที่มีประสิทธิภาพของระบบนิเวศป่าชนิดนี้ แต่ด้วยสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นของโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทำให้ผืนป่าเผชิญความแห้งแล้งมากขึ้นและส่งผลให้ติดไฟได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

อัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าก่อนและหลังลงนามในปฏิญญานครนิวยอร์กว่าด้วยป่าไม้

การรักษาพื้นที่ป่าที่เหลืออยู่โดยเฉพาะป่าฝนเขตร้อนนั้นเป็นวิธีที่ถูกยอมรับว่าเป็นเครื่องมือสำคัญต่อการรับมือปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดกันว่าค่าใช้จ่ายในการอนุรักษ์พื้นที่ป่าที่สำคัญทั่วโลกนั้นมีมากถึงหมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

ผู้เขียนรายงานพบว่าปัญหายุ่งยากอย่างหนึ่งของการรักษาป่า คือ รัฐบาลหลายแห่งยังให้เงินอุดหนุนแก่ภาคเกษตรซึ่งเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่นำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่า

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ปัญหาที่กำลังเผชิญก็ยังพบเรื่องราวดีๆ อยู่บ้าง เช่นอัตราการสูญเสียป่าจากการเพาะปลูกปาล์มน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียนั้นชะลอตัวลงเกือบ 1 ใน 3 ระหว่างปี 2560-2561 ซึ่งเป็นมาจากแรงกดดันจากภาคประชาชน

ขณะเดียวกันในหลายๆ ประเทศมีแผนปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น เช่นเอธิโอเปีย แต่ถึงกระนั้นเสียงชื่นชมของเรื่องการปลูกป่าในบางประเทศอย่างเม็กซิโกหรือเอลซัลวาดอร์นั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดีนักตราบใดที่พื้นที่ป่าเดิมยังคงลดลงอยู่ เพราะการปลูกต้นไม้เพิ่มไม่อาจชดเชยการสูญเสียป่าดั้งเดิมได้ และเรายังต้องการเวลาอีกหลายศตวรรษกว่าที่ป่าจะฟื้นความสามารถดูดซับคาร์บอนฯ และควบคุมสภาพอากาศได้อย่างเต็มรูปแบบ

 


เรื่อง เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
อ้างอิง World losing area of forest the size of the UK each year, report finds