โลกร้อนมีจริงเหมือนที่ COVID-19 มีอยู่ตอนนี้ และมันเป็นโอกาสสุดท้ายที่ดีที่สุดของเราแล้วในการจัดการมัน

โลกร้อนมีจริงเหมือนที่ COVID-19 มีอยู่ตอนนี้  และมันเป็นโอกาสสุดท้ายที่ดีที่สุดของเราแล้วในการจัดการมัน

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการระบาดของโรค COVID-19 นั้น ไม่ได้เป็นเพียงวิกฤตการณ์ร้ายแรงที่คุกคามแต่ชีวิตมนุษย์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงเศรษฐกิจโลกด้วย

แต่มันไม่ใช่วิกฤตการณ์เดียวที่โลกกำลังเผชิญอยู่ เราไม่ควรให้การเผชิญหน้ากับภัยคุกคามหนึ่งมาทำให้เราลืมมองภัยคุกคามอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเราอย่างเช่นภาวะโลกร้อน เราควรจะใช้สถานการณ์นี้เป็นบทเรียนในการจัดการกับปัญหาอื่น ๆ ที่กำลังจะตามมา

เป้าหมายในครั้งนี้ผู้เขียนไม่ได้อยากจะแสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนเชื่อมโยงกับการระบาดของโรค COVID-19 แต่อยากจะแสดงให้เห็นถึงการตอบสนองของทั่วโลกต่อการระบาดใหญ่ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่าโลกสามารถรวมตัวกันเพื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามด้วยกันได้ และนั่นเป็นสัญญาณที่ดีมากสำหรับการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถ้าเราจริงจังกับมัน

การระบาดใหญ่ของ COVID-19 ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างมาก โรงงาน และสำนักงานถูกปิด รัฐบาลหลายประเทศควบคุมสถานการณ์โดยให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน มีเพียงที่ทำงานไม่กี่ที่ และคนที่ทำงานอยู่ไม่กี่คนที่ยังเดินทางอยู่ สิ่งนี่ลดผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะธุรกิจต่าง ๆ และประชาชนใช้พลังงานลดลงอย่างมาก (โดยเฉพาะพลังงานจากฟอสซิล) ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง แต่มันคงเป็นแบบนี้อีกไม่นานหรอก พอสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น ระบบเศรษฐกิจกลับมาเหมือนเดิม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็จะกลับมาคงเดิม

ถึงแม้ว่าวิกฤตการณ์ครั้งนี้จะทำลายเศรษฐกิจ และสุขภาพของผู้คนแล้ว แต่มันก็ได้ทำให้ธุรกิจหลาย ๆ ที่ เห็นว่าพนักงานของบริษัทตัวเองนั้นสามารถทำงานจากที่บ้านได้ ซึ่งนั่นถือว่าเป็นโอกาสที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทต่าง ๆ นั้นปรับรูปแบบการทำงานให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยลดพลังงานที่เกิดจากการเดินทาง เช่นเดียวกันกับผู้บริโภคที่กำลังถูกปรับเปลี่ยนวิธีการบริโภคไปด้วยในตัว

ธุรกิจการขนส่งทางอากาศควรจะพยายามมากขึ้นที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเนื่อง จากการเดินทางทางอากาศที่ถูกคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น รายงานฉบับเดือนกันยายนจากสภาระหว่างประเทศว่าด้วยการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใช้ข้อมูลจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการทำวิจัย และได้สรุปผลว่าการปฏิบัติการทางอากาศเชิงพาณิชย์คิดเป็น 2.4% ของการปล่อยคาร์บอนทั่วโลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการปล่อยมลพิษในอุตสาหกรรมในปี 2018 นั้นสูงกว่าปี 2013 มากถึง 32% 

โดยทางเลือกสำหรับธุรกิจการขนส่งทางอากาศมีทั้งการเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเชื้อเพลิงแบบธรรมดา แต่เช่นเดียวกันก็ราคาสูงกว่า หรือการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องบินรุ่นใหม่ขึ้นที่ถูกพัฒนาระบบมาให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเดิม เช่นเดียวกับรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ 

แน่นอนว่าช่วงแรก ๆ การจะทำให้ธุรกิจใด ๆ มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นเรื่องยาก ยิ่งโดยสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้แล้ว ก็อาจจะต้องการเงินอุดหนุนจากรัฐบาลบ้าง สิ่งที่สำคัญคือรัฐบาลต่าง ๆ ก็ห้ามลืมที่จะคำนึงถึงนโยบายการลดการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในขณะที่วางแผนที่จะอุดหนุนธุรกิจไหนบ้าง เช่น หลังจากนี้รัฐบาลก็ไม่ควรที่จะสนับสนุนธุรกิจน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ควรไปสนับสนุนธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานสะอาดมากกว่า

ในช่วงแรกที่ COVID-19 ระบาด หลาย ๆ ประเทศก็ไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องใหญ่อะไร จนกระทั่งผลกระทบมันทำให้ผู้คนเดือดร้อนมากขึ้นจึงจะลงมือแก้ไขอย่างจริงจัง เช่นเดียวกับภาวะโลกร้อนซึ่งเป็นภัยที่ร้ายแรงกว่า COVID-19 อีกด้วยซ้ำแต่แค่มันอาจจะ “ยัง” ไม่เดือดร้อนต่อคนส่วนใหญ่มากเท่าไร จึงยังไม่ได้มีการลงมือแก้ไขอย่างจริงจังจากผู้คนส่วนใหญ่บนโลกใบนี้ 

แท้ที่จริงแล้วโลกเริ่มส่งสัญญาณให้เราเห็นผลกระทบของสภาวะโลกร้อนไปบ้างแล้ว เช่น ภัยแล้งที่ยาวนานและรุนแรงกว่าปกติ ในบางพื้นที่ก็เป็นเหตุการณ์น้ำท่วม ในเขตเส้นศูนย์สูตรก็เผชิญกับพายุโซนร้อนที่แข็งแกร่งและรุนแรงขึ้น และการเพิ่มขึ้นอุณหภูมิเฉลี่ยในหลายภูมิภาค นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่ามีคนบางกลุ่มได้พยายามต่อสู้กับปัญหานี้มาหลายทศวรรษแล้ว เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มจะร้ายแรงขึ้นทุกปี แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการจะหยุดกระบวนการนี้อยู่ดีถ้าคนส่วนใหญ่ยังละเลย

วิทยาศาสตร์ได้ยืนยันแล้วว่าปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้นมีจริง เหมือนกับที่ได้ยืนยันการแพร่กระจาย และอันตรายจากโรค COVID-19 ดังนั้นการที่เรายอมรับความเป็นจริงของ COVID-19 และได้ทำการลงมือแก้ไขมันกันอย่างจริงจังดังเช่นทุกวันนี้ ก็หมายความว่าในอนาคตเราก็จะต้องยอมรับถึงการมีอยู่ของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และร่วมมือร่วมใจกันจัดการกับมัน เหมือนที่เรากำลังทำกับโรค COVID-19 อยู่ในทุกวันนี้

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Editorial: Climate change is just as real as COVID-19. Now’s the last, best chance for our government to treat it that way
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร