ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้บริษัทเชลล์ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ 45% ภายในปี พ.ศ. 2573

ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้บริษัทเชลล์ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ 45% ภายในปี พ.ศ. 2573

เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศาลเนเธอร์แลนด์ตัดสินให้บริษัท Royal Dutch Shel บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ต้องลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ 45 เปอร์เซ็นต์จากระดับการปลดปล่อยแก๊สเมื่อปี พ.. 2562 ภายในปี พ.. 2573 เป้าหมายดังกล่าวนับว่าสูงกว่าที่เชลล์ตั้งไว้ว่าจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
.

คำพิพากษาครั้งสำคัญมาในช่วงเวลาที่หนึ่งในบริษัทที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกอันดับต้นๆ ของโลกกำลังเผชิญแรงกดดันให้ตั้งเป้าหมายลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส สนธิสัญญาสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อมนุษยชาติในการหลีกเลี่ยงวิกฤติภูมิอากาศที่ไม่อาจแก้ไขได้

กลยุทธ์ด้านภูมิอากาศของบริษัทเชลล์ในปัจจุบันระบุว่า บริษัทจะตั้งเป้าปล่อยแก๊สเรือนกระจกเท่ากับศูนย์ภายในปี พ.. 2593 โดยบริษัทตั้งเป้าหมายว่าจะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก 45 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.. 2579

โฆษกของบริษัทแถลงว่าบริษัทคาดว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อคำพิพากษาของศาลที่น่าผิดหวัง

เราลงทุนในพลังงานคาร์บอนต่ำหลายพันล้านดอลลาร์ ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า พลังงานไฮโดรเจน พลังงานหมุนเวียน และเชื้อเพลิงชีวภาพโฆษกระบุในอีเมล์เราต้องการเพิ่มความต้องการซื้อผลิตภัณฑ์เหล่านี้ และขยายกำลังการผลิตในธุรกิจพลังงานภาคส่วนใหม่ของเราให้เร็วยิ่งขึ้น

ราคาหุ้นของ Shell ปรับราคาขึ้น 0.2 เปอร์เซ็นต์ที่ตลาดหลักทรัพย์กรุงลอนดอน นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ราคาหุ้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นราว 10 เปอร์เซ็นต์ จากที่ราคาร่วงลงไปกว่า 40 เปอร์เซ็นต์เมื่อปีที่ผ่านมา
.

จุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์

คดีดังกล่าวมีโจทก์คือนักกิจกรรม 7 กลุ่ม อาทิ กรีนพีซ ที่ส่งฟ้องเมื่อเดือนเมษายน พ.. 2562 ในฐานะประชาชนชาวดัทช์ 17,200 คน คำฟ้องระบุว่าการทำธุรกิจของเชลล์จะเป็นภัยต่อสิทธิในการมีชีวิจอยู่ของประชาชนเนื่องจากเป็นภัยคุกคามต่อการบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส

ข้อตกลงปารีส เป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่มีผู้ลงนามกว่า 195 ประเทศเมื่อ พ.. 2558 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 องศาเซลเซียสก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือหากเป็นไปได้คือจำกัดไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส

โรเจอร์ ค็อกซ์ (Roger Cox) ทนายความของฝ่ายนักกิจกรรมสิ่งแวดล้อมระบุในแถลงการณ์ว่าคำพิพากษาดังกล่าวนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งประวัติศาสตร์และอาจส่งผลอย่างมากต่อบริษัทที่ปล่อยแก๊สเรือนกระจกจำนวนมาก

ในขณะที่ซารา ชอว์ (Sara Shaw) ผู้ประสานงานระหว่างประเทศจาก Friends of the Earth ระบุว่าองค์กรคาดหวังให้คำพิพากษาจะก่อให้เกิดกระแสการฟ้องร้องในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อผู้ปล่อยมลภาวะรายใหญ่ และบังคับให้บริษัทเหล่านั้นยุติการดำเนินการเกี่ยวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมด

มาร์ค ฟาน บัล (Mark van Baal) ผู้ก่อตั้ง Follow This ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CNBC ทางอีเมล์ว่าคำพิพากษาดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่จะไม่ถูกละเลยจากบทบาทเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ในการประชุมสามัญประจำปีผู้ถือหุ้นบริษัทเชลล์ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผู้ถือหุ้นลงคะแนนอย่างท่วมท้นให้บริษัทดำเนินการตามแผนเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน ขณะที่กลุ่มเสียงส่วนน้อยปฏิเสธกลยุทธ์ดังกล่าวโดยมองว่าบริษัทต้องดำเนินการเพือ่รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้มากกว่านี้

Follow This นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้าถือหุ้นเชลล์ระบุว่าผลของคำพิพากษาในครั้งนี้แสดงว่าเชลล์จะต้องปรับเป้าหมายด้านภูมิอากาศอีกครั้ง สำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า คดีนี้นับเป็นครั้งแรกที่นักกิจกรรมบังคับให้บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ต้องขึ้นศาลและปรับกลยุทธ์ด้านภูมิอากาศ

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Dutch court rules oil giant Shell must cut carbon emissions by 45% by 2030 in landmark case
ภาพเปิดเรื่อง นักรณรงค์ที่ Friends of the Earth เฉลิมฉลองการพิจารณาคดี ภาพโดย Friends of the Earth

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก