อาร์กติกกำลังเผชิญกับการลุกลามของ ‘ไฟซอมบี้’

อาร์กติกกำลังเผชิญกับการลุกลามของ ‘ไฟซอมบี้’

ฤดูไฟป่าในอาร์กติกของปีนี้ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อสองเดือนก่อน ความรุนแรงของไฟได้ขยายอาณาเขตลุกลามไปยังพื้นที่หลายแห่ง อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

Merritt Turetsky นักนิเวศวิทยาเกี่ยวกับไฟและความแห้งแล้ง จากมหาวิทยาลัยโคโลราโด โบลเดอร์ ซึ่งกำลังศึกษาปรากฎการณ์ไฟป่าในอาร์กติกขณะนี้ อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า…

สิ่งที่น่าตกใจเกี่ยวกับไฟป่าในอาร์กติก ไม่ใช่แค่เรื่องจำนวนพื้นที่ที่ถูกเผาเท่านั้น แต่ยังพบว่า รูปแบบการเกิดไฟป่ากำลังมีแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงเป็นแบบไหน และสิ่งนี้จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศในอนาคตอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์ได้ระบุ คำอธิบายคุณลักษณะใหม่ของการเกิดไฟป่าในอาร์กติกไว้สองประการ

ประการแรก คือ สิ่งที่เรียกกันว่า ไฟซอมบี้ (Zombie Fires) มันคือไฟที่เคยลุกลามในฤดูกาลก่อน หรือเคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ และได้มอดดับลงเมื่อฤดูหนาวมาเยือน หรือถูกมนุษย์ดับ แต่แท้จริงแล้ว ไฟยังคงลุกไหม้อยู่ต่อเนื่องในชั้นใต้ดินที่อุดมด้วยคาร์บอน หมกตัวและพร้อมลุกโชนขึ้นเหนือพิภพอีกครั้งในวันที่สภาพอากาศอุ่นขึ้นเมื่อฤดูใบไม้ผลิมาเยือน

ประการที่สอง คือ ไฟได้ลุกลามไปถึงภูมิประเทศที่เคยทนต่อไฟ เนื่องจากพื้นที่ทุ่งทุนดราทางตอนเหนือเริ่มเผชิญกับอากาศที่ร้อนและแห้งแล้งมากขึ้น

นักวิทยาศาสตร์ ขยายความว่า ภายใต้สภาพอากาศที่ร้อนขึ้น จะมีผลทำให้พรรณพืชต่าง ๆ ที่เราไม่เคยคิดว่าจะเป็นเชื้อไฟ อาจเกิดลุกไหม้ขึ้นได้ ไม่ว่าจะเป็นพุ่มไม้แคระ หญ้ามอส หรือภูมิทัศน์ส่วนที่เป็นบึงหรือหนองน้ำที่มีพืชปกคลุมก็เสี่ยงต่อการถูกไฟไหม้ได้เหมือนกัน

แม้อาร์กติกจะมีไฟป่าเกิดขึ้นเป็นปกติในบางพื้นที่ เช่น พื้นที่แห้งแล้งทางตอนใต้ของไซบีเรีย แต่จากการติดตามสถานการณ์ไฟป่า ณ ดินแดนแห่งนี้แบบเรียลไทม์ ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทราบว่า ในปี 2019 และ 2020 พบจำนวนไฟเกิดขึ้นมากอย่างโดดเด่น

Dr.Jessica McCarty นักภูมิศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์ด้านไฟ จากมหาวิทยาลัยไมอามี กล่าวว่า ผลที่ตามมาของระบอบไฟใหม่นี้ มีความสำคัญต่อภูมิประเทศและผู้คนในแถบอาร์กติกและต่อสภาพภูมิอากาศโลก

เธออธิบายว่า มากกว่าครึ่งของไฟที่ตรวจพบในไซบีเรียปีนี้ปรากฎขึ้นทางตอนเหนือของวงกลมอาร์กติก ซึ่งพื้นที่เป็นชั้นดินเยือกเเข็งคงตัว ไฟมีโอกาสทำให้น้ำแข็งบริเวณนั้นเกิดการละลายตัวได้สูง

โดยปกติชั้นดินเยือกเเข็งคงตัวจะเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนจำนวนมหาศาล จากชีวมวลยุคดึกดำบรรพ์ การละลายอย่างรวดเร็วของสภาพแวดล้อมในส่วนนี้จะเป็นการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซมีเทนที่ถูกสะสมไว้แต่กาลก่อน

ผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้น มีทั้งสเกลเล็กและใหญ่ – ในระดับท้องถิ่น การละลายของชั้นดินเยือกเเข็งคงตัว จะทำให้แผ่นดินทรุดตัวกลายเป็นหลุมขนาดยักษ์ พื้นหลายแห่งอาจจมลงไปอยู่ใต้ทะเลสาบหรือพื้นที่ชุ่มน้ำ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของผู้คนที่อาศัยในแถบอาร์กติก ขณะเดียวกันก๊าซเรือนกระจกจำนวนมากที่ถูกกักเก็บไว้ก็จะเคลื่อนย้ายตัวมันไปไปสู่ชั้นบรรยากาศ

การเปลี่ยนแปลงนี้ จะส่งผลกระทบต่อสภาพอากาสโลกอย่างรุนแรง

นักวิทยาศาสตร์เน้นย้ำว่า มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนสำหรับการศึกษา วิจัย และทำความเข้าใจกับระบบการเกิดไฟในอาร์กติกให้ได้ดียิ่งขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือ แนวทางการทำงานใหม่ ๆ เพื่อใช้ตรวจสอบการเกิดไฟป่า ตลอดจนการประเมินความเสี่ยงต่าง ๆ เมื่อสภาพแวดล้อมได้เปลี่ยนแปลงไป

เรื่องนี้ ถือเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและเชื่อมโยงตั้งแต่ระดับชุมชนท้องถิ่นไปสู่ระดับโลก ซึ่งการศึกษาและวิจัยมีความจำเป็น เพื่อนำไปกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในการจัดการ และจำเป็นต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว

.
อ้างอิง : University of Colorado at Boulder, The Arctic is burning in a whole new way

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม