สายน้ำแห่งชีวิต – แม่น้ำแยงซี ของประเทศจีน หรือที่รู้จักกันในฐานะแม่น้ำที่ยาวเป็นอันดับสามของโลก เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดกว่า 300 ชนิด ทว่าในต้นปีที่ผ่านมา ฉลามปากเป็ดจีน ต้องลาละจากระบบนิเวศของมหานที หลังการพบเห็นครั้งสุดท้ายในช่วงปี 2003
เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าสปีชีส์นี้ได้สูญหายไปอย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2005-2010 ที่นักวิจัยใช้เวลาค้นหาเรื่อยมานานกว่าทศวรรษ แต่ไม่เคยพบกับ “ฉลามปากเป็ดจีน” อีกเลย
จากรายงานในวารสาร Science of the Total Environment โดย Hui Zhang นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันการศึกษาวิทยาศาสตร์การประมงของจีน อธิบายว่า ประเทศจีนสร้างเขื่อนและทำประมงมากมายเกินไปจนเป็นเหตุให้สัตว์น้ำที่อยู่รอดมานานกว่า 200 ล้านปีต้องสูญพันธุ์ไปในที่สุด “มันน่าเศร้ามาก” Zeb Hogan นักชีววิทยาจาก University of Nevada กล่าวกับสื่อมวลชน เขาบอกว่า “นี่คือการสูญพันธุ์ของสัตว์เฉพาะถิ่นและมีความพิเศษมาก แต่เราไม่อาจเอามันกลับคืนมาได้อีกแล้ว”
“ฉลามปากเป็ดจีน” (Chinese Paddlefish) หรือที่บางครั้งถูกขนานนามว่า “แพนด้าแห่งแยงซี” เป็นหนึ่งในชนิดพันธุ์ปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ตามรายงานตัวโตเต็มวัยจะมีขนาดถึง 23 ฟุต (7 เมตร) และหนักถึง 992 ปอนด์ (450 กิโลกรัม) ซึ่งในบรรดาปลาน้ำจืดมีเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้นที่สามารถเติบโตได้มากขนาดนี้
“ฉลามปากเป็ดจีน” จะใช้จมูกที่มีความยาวในการตรวจจับเหยื่อ เป็นสายพันธุ์ปลาโบราณที่รอดชีวิตจากการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ที่คร่าชีวิตไดโนเสาร์และสัตว์เลื้อยคลานทางทะเลขนาดใหญ่อย่างพลีซิโอซอร์ มีอายุนับเนื่องมาตั้งแต่ยุคจูแรสซิก ลงหลักปักฐานอยู่ในแม่น้ำแยงซีมาตลอด
กระทั่งในที่สุด หายนะก็มาเยือนกับปลาน้ำจืดขนาดยักษ์ ภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การสูญพันธุ์ของพวกมันมีสาเหตุมาจาก “มนุษย์” นั่นเอง
ในขณะที่ “ฉลามปากเป็ดจีน” ถูกระบุว่าเป็นสัตว์ที่ได้รับคุ้มครองระดับประเทศในทศวรรษที่ 1980 ทว่าการจับปลาที่มากเกินไปหรือการทำประมงเกินขนาดที่ดำเนินมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 ก็ทำให้จำนวนประชากรปลาลดลงอย่างมาก โดยรายงานของ National Geographic ระบุว่า มีการจับ “ฉลามปากเป็ดจีน” เฉลี่ยมากถึง 25 ตันต่อปี และการก่อสร้างเขื่อนเกอโจวปา (Gezhouba Dam) คร่อมแม่น้ำแยงซีได้แยกประชากรออกเป็นสองกลุ่ม ส่งผลกระทบต่อรูปแบบการย้ายถิ่น ผสมพันธุ์ วางไข่ การหาอาหาร ซึ่งเรื่องนี้เคยถูกยกมาเตือนแล้วตั้งแต่ปี 1993 จากรายงานของ Stephanie Pappas ใน Live Science
ที่ผ่านมามีความพยายามศึกษาและติดตามจำนวนประชากร “ฉลามปากเป็ดจีน” มาโดยตลอด ในปี 1995 ยังคงเห็น “ฉลามปากเป็ดจีน” อยู่บ้าง แต่พบในจำนวนที่ไม่มากนัก กระทั่งในช่วงปี 2005-2010 ภาพก็ชัดเจนว่า “ฉลามปากเป็ดจีน” ได้หายไปจากน่านน้ำแล้วเป็นที่แน่ๆ ซึ่งรายงานการพบเห็นครั้งสุดท้ายระบุว่าเจอในปี 2003 นักวิจัยได้ติดเครื่องส่งสัญญาณติดตามหลังพบ “ฉลามปากเป็ดจีน” ด้วยความบังเอิญ แต่เป็นที่น่าเศร้าเพราะเพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา สัญญาณก็ขาดหายไม่สามารถติดตามต่อได้อีก
ในปี 2008-09 นักวิจัยยังคงค้นหาหลักฐานการดำรงอยู่ของ “ฉลามปากเป็ดจีน” พวกเขาติดตามตรวจสอบตลาดปลาในท้องถิ่นและอวนจับปลาต่างๆ แต่ไม่พบ “ฉลามปากเป็ดจีน” แม้แต่ตัวเดียว นอกจากนี้ยังทำให้ทราบด้วยว่าสายพันธุ์ปลาอีกกว่า 100 ชนิดได้หายไปจากระบบนิเวศ ซึ่งชนิดที่หายไปนั้นถือเป็นกลุ่มที่อยู่ในข่ายความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศจีนได้ออกประกาศห้ามทำประมงเชิงพาณิชย์เป็นเวลา 10 ปีตามแนวแม่น้ำแยงซี หลังพบปริมาณการลดลงโดยรวมของสัตว์น้ำที่ใกล้สูญพันธุ์ กระทรวงเกษตรและกิจการชนบทของประเทศออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า พื้นที่ 300 โซนตามแนวแม่น้ำแยงซีจะไม่อนุญาตให้มีการจับและเก็บเกี่ยวชนิดพันธุ์พื้นเมืองอีกต่อไป เพื่อช่วยคงความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำให้กลับคืนมา