“อยากเรียนจบต้องปลูกต้นไม้” กฎหมายฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์

“อยากเรียนจบต้องปลูกต้นไม้” กฎหมายฉบับใหม่ของฟิลิปปินส์

ประเทศฟิลิปปินส์กำลังเตรียมออกกฏหมายฉบับใหม่ให้นักเรียนในประเทศต้องปลูกต้นไม้คนละ 10 ต้น เพื่อขอจบการศึกษา โดยคาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยสร้างความตระหนักทางสิ่งแวดล้อม และลดปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า ผ่านรากฐานของเยาวชนที่จะเติบโตเป็นอนาคตของประเทศ

ร่างพระราชบัญญัตินี้มีชื่อว่า “Graduation Legacy For the Environment Act” ได้รับการอนุมัติในสภา และกำลังถูกส่งไปยังวุฒิสภาฟิลิปปินส์เพื่อดำเนินการ

ผู้เสนอกฎหมายให้ความเห็นว่า เป็นโอกาสสำหรับเยาวชนชาวฟิลิปปินส์ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนแก่อนาคตของพวกเขา

นอกจากนี้ ผู้เสนอกฎหมาย ยังเห็นว่า การเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีจริยธรรมและก่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคตต่อเยาวชน ระบบการศึกษาถือเป็นส่วนสำคัญในการอบรมเยาวชนให้เติบโตไปพร้อมกับความรับผิดชอบต่อสังคมและมีสำนึกต่อหน้าที่พลเมือง

โดยเฉลี่ยในแต่ละปีมีนักเรียนที่จบระดับประถมศึกษา 12 ล้านคน ชั้นมัธยม 5 ล้านมัธยม และจบมหาวิทยาลัยประมาณ 500,000 คน หมายความว่า จะมีการปลูกต้นไม้ประมาณ 175 ล้านต้นต่อปี และหากนับรวมตลอดชั่วอายุคนหนึ่ง จะมีต้นไม้เพิ่มขึ้นถึง 525 ล้านต้น

อย่างไรก็ตาม มีการคำนวนไว้ว่าโอกาสที่ต้นไม้จะรอดอาจมีเพียงแค่ 10% เท่านั้น แต่ก็ยังถือเป็น 10% จาก 525 ล้านต้น ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจ

ในกฎหมายระบุว่า ต้นไม้สามารถปลูกได้ในพื้นที่ป่า ป่าชายเลนและพื้นที่คุ้มครอง ที่ดินสมบัติบรรพบุรุษ (Ancestral domains) พื้นที่ของหน่วยราชการและทหาร ในเมือง พื้นที่เหมืองที่ไม่ได้ใช้งานและถูกทิ้งร้าง หรือสถานที่อื่นๆ ที่มีความเหมาะสม และต้นไม้ที่ปลูกจะต้องเป็นสายพันธุ์พื้นเมืองที่เข้ากับสภาพอากาศและภูมิประเทศ โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐเป็นผู้ให้คำแนะแนว

ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่กำลังประสบปัญหาพื้นที่ป่าถูกทำลายอย่างรุนแรง อ้างอิงจากรายงานของ Forbes ตลอดศตวรรษที่ 20 พื้นที่ป่าในประเทศฟิลิปปินส์ลดลงจาก 70% เหลือเพียง 20% เท่านั้น คาดว่าป่าจำนวน 24.2 ล้านเอเคอร์ ถูกทำลายลงระหว่างปี พ.ศ. 2477 ถึง พ.ศ. 2531

 


เรียบเรียงจาก Students in the Philippines must plant 10 trees to graduate
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์
ภาพประกอบ Oecs Business Focus