หอยสองฝาผู้ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในประเทศโปแลนด์

หอยสองฝาผู้ทำหน้าที่ตรวจวัดคุณภาพน้ำในประเทศโปแลนด์

น้ำดื่มสะอาดก็เหมือนกับประชาธิปไตย มันคือสิ่งที่เราไม่เคยเห็นค่าจนกระทั่งเสียมันไป อีกทั้งการดูแลรักษาน้ำดื่มไม่ให้ปนเปื้อนนั้น ก็ต้องใช้ทั้งกำลังเวลาและการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น

ในเมือง Poznan ประเทศโปแลนด์ ภาระความยุ่งยากในการดูแลให้น้ำดื่มสะอาดอย่างสม่ำเสมอเกิดขึ้นในอาคารใกล้กับแม่น้ำ Warta นี่คือโรงบำบัดน้ำ Dębiec ที่ใช้นวัตกรรมในการบริหารจัดการน้ำที่หลายคนอาจต้องประหลาดใจ

ที่แห่งนี้ใช้ระบบดูแลคุณภาพน้ำทั้งที่มนุษย์สร้างขึ้นเองและระบบชีวภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าน้ำที่ไหลให้กับประชาชนทั้งเมืองนั้นสามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย ระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นจะวัดระบบการปนเปื้อนของสารเคมีอย่างแม่นยำ ซึ่งนับว่ามีประโยชน์มาก แต่ตัวชี้วัดทางชีวภาพจะช่วยให้เราสามารถระบุความเป็นพิษโดยรวมของน้ำ โดยพิจารณาทุก ๆ ปัจจัยในเวลาเดียวกัน

ระบบชีวภาพดังกล่าวคือหอยสองฝาจำนวน 8 ตัวประกอบกับเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่บนเปลือกของมัน ซึ่งจะทำงานร่วมกับระบบคอมพิวเตอร์ที่ควบคุมการส่งน้ำของทั้งเมือง หากน้ำสะอาด หอยชนิดดังกล่าวก็จะยังคงเปิดฝาอยู่ตามปกติ แต่หากเมื่อใดก็ตามที่คุณภาพน้ำต่ำเกินไป หอยก็จะปิดฝาและส่งสัญญาณให้ระบบส่งน้ำแก่ประชากรนับล้านคนหยุดลงทันที

โรงบำบัดน้ำประปาแห่งนี้จะใช้น้ำดิบจากแม่น้ำ Warta ซึ่งผ่านพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่นอย่างยิ่ง รวมถึงพื้นที่อุตสาหกรรมหนักเก่าแก่ ปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้สารเคมีสามารถปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำกินน้ำใช้ได้หากไม่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ข้อกังวลที่สำคัญคือการปนเปื้อนของโลหะหนักอย่างโครเมียม ที่สามารถซึมผ่านชั้นดินและไหลลงสู่แม่น้ำได้

ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวนำไปสู่การตั้งคำถามว่า โรงบำบัดน้ำแห่งนี้จะมั่นใจได้อย่างไรว่า น้ำที่ไหลไปยังอาคารบ้านเรือนให้ประชาชนดื่มกินนั้น ไม่ได้ปนเปื้อนสารพิษอันตราย

คำตอบก็คือ ‘ตัวชี้วัดทางชีวภาพ (bioindicator)’ ที่ผ่านการศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้น เพื่อให้สามารถประเมินคุณภาพน้ำได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้วิศวกรในโรงงานทราบว่า คุณภาพน้ำยังปลอดภัยที่จะให้มนุษย์บริโภคได้ ถึงแม้ว่าสิ่งมีชีวิตเหล่านี้จะไม่สามารถผลิตรายงาน หรือสร้างข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับคุณภาพน้ำ แต่สัตว์อย่างหอยสองฝาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพน้ำที่ดีเยี่ยมเนื่องจากความทนทานต่อมลภาวะที่ต่ำ และจะตอบสนองทันทีเมื่อคุณภาพน้ำย่ำแย่ลงโดยการปิดฝา

หอยสองฝา ตัวชี้วัดค่าน้ำสะอาด

หอยสองฝาจำเป็นต้องอาศัยในน้ำสะอาด มีออกซิเจน และมีการปนเปื้อนของสารเคมีที่ต่ำ พวกมันพบได้น้อยลงเรื่อย ๆ ในทะเลสาบในประเทศโปแลนด์เนื่องจากมลภาวะ ซึ่งมักเกิดจากสารเคมีจากแหล่งอุตสาหกรรมที่ซึมผ่านชั้นดินสู่แหล่งน้ำ

ความอ่อนไหวต่อมลภาวะนี้เอง ทำให้มันเป็นเครื่องชี้วัดคุณภาพน้ำในอุดมคติ เพราะถ้าน้ำสะอาด พวกมันก็จะเปิดฝาเพื่อหาอาหาร โดยการกรองน้ำเพื่อกินสารอินทรีย์ แต่หากคุณภาพน้ำแย่ลง พวกมันก็จะปิดฝาอย่างรวดเร็ว และลดอัตราการเผาผลาญพลังงานลง

การใช้หอยร่วมกับระบบจ่ายน้ำประปาอัตโนมัติได้รับการทดสอบในมหาวิทยาลัย A. Mickiewicz ในประเทศโปแลนด์ และพบว่าวิธีดังกล่าวนับเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือสำหรับการวัดคุณภาพน้ำ เมื่อไหร่ที่หอยปิดฝาลง จะเป็นการส่งสัญญาณเตือนในระบบคอมพิวเตอร์ให้พร้อมปิดระบบจ่ายน้ำประปาทันที โดยคอมพิวเตอร์จะพิจารณาค่าต่าง ๆ ที่เก็บได้จากเครื่องเซ็นเซอร์ เพื่อยืนยันอีกครั้งว่านั่นเป็นสัญญาณจริง ไม่ใช่เกิดจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของหอยบางตัวที่อาจจะเหนื่อยล้าและปิดฝาลงเพื่อพักผ่อน

If four of the mussels close at the same time, however, the system shuts down automatically. It’s engineering at its best.

จากหอยทั้งหมด 8 ตัว ถ้าหอยอย่างน้อย 4 ตัวปิดฝาลงระบบก็จะหยุดจ่ายน้ำทันที นี่คือประโยชน์ของหอยที่หลายครั้งมักถูกมองว่าเป็นสิ่งอุดตันหรือทำให้ระบบจ่ายน้ำเสียหาย หรือมองเห็นค่าเมื่อถูกนำมาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร แต่ระบบควบคุมดูแลคุณภาพน้ำโดยหอยสองฝานั้น ถูกใช้ในโรงบำบัดน้ำ Dębiec ตั้งแต่ พ.ศ. 2537 จวบจนปัจจุบัน

หากใครสนใจเบื้องลึกเบื้องหลังของระบบควบคุมคุณภาพน้ำโดยหอยสองฝา ตั้งแต่การคัดตัวแทนหอยทั้ง 8 ที่จะมารับผิดชอบดูแลระบบจ่ายน้ำของประชาชนนับล้าน ไปจนถึงอายุงานและชีวิตหลังเกษียณ สามารถรับชมได้ในสารคดี Gruba Kaśka (Fat Kathy) ได้เลยครับ


ถอดความและเรียบเรียงจาก In Poznan, Poland, eight clams get to decide if people in the city get water or not

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก