เมื่อพูดถึง “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” คุณจะนึกถึงอะไร
หลายคนอาจจินตนาการไปถึงวันที่อุกกาบาตพุ่งชนโลก จนเกิดสึนามิขนาดใหญ่กลางมหาสมุทรแอตแลนติก แผ่นดินไหวไปท่ัวทุกทวีป คลื่นความร้อนแผ่ปกคลุมไปทั่ว ไทแรนโนซอรัสค่อยๆ ล้มตายไปพร้อมกับอีกสิ่งมีชีวิตร่วมกาลเวลาอีก 75% สายพันธุ์
ตัดกลับมาที่ภาพความจริงในปัจจุบัน… วันที่การสูญพันธุ์ครั้งใหม่ได้เริ่มต้นขึ้น – ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์โลก – ภาพความเป็นจริงคงไม่เหมือนในจินตนาการสักเท่าไหร่…
ตามสถานการณ์ที่เป็นไป สิ่งมีชีวิตทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤตจากที่มาหลายแง่มุม เช่น อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของมหาสมุทร การบุกรุกพื้นที่ป่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผสมรวมจนทำให้จำนวนประชากรของสิ่งมีชีวิตลดลงมากอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แต่ไม่ว่าสาเหตุมาจากเรื่องใด แนวโน้มการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นตอนนี้ มีต้นตอร่วมอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์
ในรายงานของสหประชาชาติที่เพิ่งเผยแพร่ออกมาเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สรุปเอาไว้ว่า การกระทำของมนุษย์ส่งผลให้สายพันธุ์ต่างๆ ทั่วโลกต้องเผชิญการสูญพันธุ์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และมีพืชและสัตว์มากกว่า 1 ล้านชนิดต้องเผชิญกับการสูญพันธุ์ภายในเวลาอันใกล้นี้ – เช่นเดียวกันกับงานวิจัยอีกหลายๆ ชิ้นที่ให้ข้อสรุปออกมาในทำนองเดียวกัน
วันนี้เรากำลังเผชิญอยู่กับสิ่งใด ? – บทความนี้จะนำเสนอตัวอย่างผลการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายสายพันธุ์รวมถึงต้นตอของปัญหา เพื่ออธิบายว่า เหตุใดการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 จึงได้เริ่มขึ้นแล้ว และทำไมเราจึงถูกตราหน้าว่าเป็นต้นเหตุของปัญหา
40% ของสายพันธุ์แมลงทั่วโลกกำลังค่อยๆ หายไป
งานวิจัยเรื่อง Worldwide decline of the entomofauna: A review of its drivers ให้ข้อสรุปว่า ทุกๆ ปีจะมีแมลงหายไปจากโลกของเราราว 2.5% ต่อไป ซึ่งหากปริมาณการลดลงยังคงดำเนินเข่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ภายในปี พ.ศ. 2662 โลกจะไม่มีแมลงเหลืออยู่อีกเลย
“ในอีก 10 ปี แมลงจะลดลงเหลือเพียงหนึ่งในสี่ของที่มีอยู่ ภายใน 50 ปี แมลงจะเหลือเพียงครึ่งเดียว และในอีก 100 ปี บนโลกนี้จะไม่เหลือแมลงอีกแล้ว” Francisco Sánchez-Bayo ผู้ทำงานวิจัยกล่าว
การหายไปของแมลงถือเป็นปัญหาใหญ่ของโลกใบนี้ เพราะแมลงแต่ละชนิดต่างมีบทบาทสำคัญในการผลิตผักและผลไม้ให้กับโลก ยิ่งไปกว่านั้นแมลงยังเป็นอาหารสำหรับนก ปลา และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอีกหลายสายพันธุ์
งานวิจัยเกี่ยวกับแมลงชิ้นล่าสุด ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications รายงานว่า ระหว่างปี 2523 – 2556 ผึ้งป่าและแมลงสายพันธุ์ต่างๆ จากทั้งหมด 353 สายพันธุ์ ในสหราชอาณาจักรได้ลดลงถึงหนึ่งในสามจากที่เคยมี
ผู้ทำวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าสาเหตุเกิดจากการลดลงของที่อยู่อาศัยและการหายไปพืชสายพันธุ์ต่างๆ
ขณะที่รายงานของสหประชาชาติที่เพิ่งออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ ระบุว่าการลดลงของจำนวนผึ้งและแมลงต่างๆ จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 577 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี
ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า 500 สายพันธุ์ได้ลดจำนวนลงอย่างมาก และมีเกือบร้อยสายพันธุ์มีอยู่ในสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์โดยมีสาเหตุมาจากโรคเชื้อรา chytridiomycosis
งานวิจัยเรื่อง Amphibian fungal panzootic causes catastrophic and ongoing loss of biodiversity ระบุว่า การแพร่กระจายของเชื้อรา chytridiomycosis เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนส่งผลกระทบต่อปริมาณจำนวนประชากรของกบ คางคก และซาลาแมนเดอร์ทั่วโลก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อราระบาดหนัก เป็นผลมาจากการค้าสัตว์ป่าข้ามชาติที่เป็นเหมือนการลำเลียงโรคจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง
งานวิจัยสรุปว่า โรคเชื้อรา chytridiomycosis เป็นโรคที่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดโรคหนึ่งเท่าที่เคยมีการบันทึกเอาไว้
ในงานวิจัยชิ้นอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น Phylogenetic and Trait-Based Prediction of Extinction Risk for Data-Deficient Amphibians ได้อธิบายถึงเรื่องนี้ไว้เพิ่มเติมว่า ไม่ได้มีเพียงแค่สัตว์จำพวกกบเท่านั้นที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ถูกคุกคามมากที่สุด ยังมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอีกอย่างน้อย 2,000 ชนิด ที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากโรคเชื้อราชนิดดังกล่าว
ในขณะนี้ดูเหมือนว่าโลกกำลังอยู่ในขั้นตอนการ “ทำลายล้างทางชีวภาพ” สิ่งมีชีวิตที่เคยอายศัยอยู่ร่วมกับมนุษย์เราได้หายไปจากโลกแล้วราวครึ่งหนึ่งจากที่เคยมี
งานวิจัยเรื่อง Biological annihilation via the ongoing sixth mass extinction signaled by vertebrate population losses and declines ซึ่งวิเคราะห์ชนิดจำนวนประชากรของสัตว์ทั่วโลก (ไม่ใช่แค่แมลง) พบว่า 30% ของสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังจากทั้งหมด 27,600 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นจำนวนเพียงครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดที่มนุษย์รู้จัก กำลังตกอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วง
บางสายพันธุ์กำลังเผชิญหน้าการสูญพันธุ์อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่จำนวนประชากรของสัตว์บางสายพันธุ์ได้สูญพันธุ์ไปจากถิ่นที่อยู่อาศัยบางแห่งบนโลกนี้แล้ว นั่นคือสัญญาณเตือนถึงอนาคตที่น่าเป็นห่วง และการหายไปของบางสายพันธุ์ในบางพื้นที่ถือเป็น “การโหมโรงของการสูญพันธุ์”
ดังนั้น แม้การลดลงของจำนวนประชากรสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์อาจยังไม่วิกฤต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรอดพ้นจากวิกฤตครั้งนี้ได้
สิ่งมีชีวิตมากกว่า 26,500 ชนิดบนโลกถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และมีแนวโน้มว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ข้อมูลจาก IUCN ระบุว่ามีสิ่งมีชีวิตมากกว่า 27% ที่ได้รับการประเมินว่ามีสถานะถูกคุกคามและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในปัจจุบันมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 40% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 25% และปะการังอีก 33% ที่อยู่ในสถานะถูกคุกคาม
IUCN ทำนายว่ามีโอกาส 99.9% ที่สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะสูญพันธุ์ และจะมีสัตว์ 67% สูญพันธุ์ลงในอีก 100 ปีข้างหน้า
รายงานของสหประชาชาติระบุว่า มีสิ่งมีชีวิตมากถึงหนึ่งล้านสายพันธุ์กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ในรายงานคาดการณ์ว่า มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำมากกว่า 40% สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเลและแนวปะการังมากกว่า 33% และอย่างน้อย 10% ของสายพันธุ์แมลงที่กำลังถูกคุกคาม
นอกจากนี้ในรายงานยังระบุอีกว่า สิ่งมีชีวิตมากกว่า 500,000 สายพันธุ์ ต้องเผชิญปัญหาการไร้ถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งจะส่งผลต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์ในระยะยาว
การสูญเสียสิ่งมีชีวิตแม้เพียงชนิดเดียวก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่น “เป็นการสูญพันธุ์แบบโดมิโน” แรงกระเพื่อมนี้จะส่งต่อระบบนิเวศเป็นทอดๆ จนนำไปสู่การล่มสลายทางนิเวศในที่สุด
การศึกษาเรื่อง Co-extinctions annihilate planetary life during extreme environmental change อธิบายว่าเรากำลังประเมินจำนวนสายพันธุ์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ต่ำกว่าความเป็นจริง
การวิจัยชี้ให้เห็นว่าการสูญเสียสายพันธุ์หนึ่งไปสามารถทำให้สายพันธุ์อื่นๆ สูญพันธุ์ตาม และอาจนำระบบทั้งหมดไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อกระบวนการผสมเกสรจากแมลงหายไป ดอกไม้ก็จะตายลงในไม่ช้า
สิ่งนี้ คือ การสูญพันธุ์ร่วมกัน และมันจะแสดงให้เห็นก่อนการล่มสลายของทุกสิ่งทุกอย่าง
ค่าเฉลี่ยการสูญพันธุ์ในศตวรรษที่ผ่านมาของ นก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สูงกว่าปกติมากถึง 100 เท่า
Elizabeth Kolbert ผู้เขียนหนังสือ “The Sixth Extinction” อธิบายว่า จากการศึกษาเรื่อง Accelerated modern human–induced species losses: Entering the sixth mass extinction ให้ผลลัพธ์ที่น่ากลัวอย่างมาก เพราะ 75% ของสัตว์ชนิดต่างๆ อาจสูญพันธุ์ในช่วงชีวิตของมนุษย์
ในเวลาประมาณ 50 ปี สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1,700 ชนิด จะเผชิญความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของลดลง
ถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ราว 1,700 ชนิด จะหายไปราว 30% – 50% เนื่องจากการใช้ประโยชน์ทางที่ดินของมนุษย์ อ้างอิงจากงานศึกษาเรื่อง Global habitat loss and extinction risk of terrestrial vertebrates under future land-use-change scenarios โดยจะมีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ 886 ชนิด นก 436 ชนิด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 376 ชนิด ที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้
การตัดไม้และการทำลายป่าฝนแอมะซอนคือตัวการใหญ่ที่จะทำให้สิ่งมีชีวิตอีกหลายสายพันธุ์หายไปจากโลก
ประมาณ 17% ของป่าแอมะซอนได้ถูกทำลายลงในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา สาเหตุส่วนใหญ่เป็นเพราะมนุษย์ได้บุกรุกเพื่อเปิดพื้นที่สำหรับการทำปศุสัตว์
โดยในรายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลกระบุว่า 80% ของสายพันธุ์ที่พบในโลกสามารถพบได้ในป่าแอมะซอน เช่น เสือดาวอามูร์ที่ใกล้สูญพันธุ์
และแม้แต่การทำลายป่าในพื้นที่ขนาดเล็กก็สามารถทำให้สัตว์บางตัวสูญพันธุ์ลงได้ เนื่องจากเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่เฉพาะถิ่นเท่านั้น
ปัจจุบัน ในทุกๆ ปี มีป่ามากกว่า 18 ล้านเอเคอร์หายไปทั่วโลก หรือกล่าวได้ว่าในทุกๆ 1 นาทีจะมีป่าหายไปประมาณ 27 สนามฟุตบอล
สิ่งที่เกิดขึ้นนอกจากจะทำให้สัตว์หลายชนิดมีความเสี่ยงต่องการสูญพันธุ์เพราะไร้แหล่งที่อยู่อาศัย ยังส่งผลให้จำนวนต้นไม้ที่ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศลดลงตามไปด้วย
ต้นไม้มีความสามารถดักจับก๊าซซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน เมื่อต้นไม้น้อยลง ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศก็จะเพิ่มมากขึ้น
ที่กล่าวมาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาที่บอกว่าโลกของเรากำลังอยู่ในช่วงเวลาของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6
แต่เรื่องราวในบทนี้ยังไม่จบ และยังดำเนินต่อไปเรื่อยๆ หากยังไม่มีการหยุดยั้งหรือแก้ไขสิ่งใดใดนับจากนี้