ขณะที่การทำประมงเกินขนาดทำให้ทรัพยาการใกล้ถึงขีดจำกัด ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเองก็ถือเป็นอีกปัจจัยเสี่ยง หรือ ภัยคุกคาม ต่อความมั่นคงในแหล่งอาหารโลก
เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นจำนวนปลาจะลดลง หรืออาจหายไปเลยในบางภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่เขตร้อน
การประมงมักเป็นเรื่องที่ถูกนักวิจัยตลอดจนผู้มีอำนาจในการกำหนดนโยบายมองข้าม เพราะพวกเขาต่างมองว่าแหล่งอาหารหลักของประชากรโลกที่กำลังเติบโตคือพื้นที่ทำการเกษตรเป็นหัวใจสำคัญ
ทว่าปลาในทะเลก็ถือเป็นแหล่งโปรตีนที่จำเป็นสำหรับประชากร 3.2 พันล้านคน และยังเป็นแหล่งโปรตีนให้กับสัตว์บนโลกอีกร้อยละ 17 ถือเป็นอีกหนึ่งแหล่งอาหารที่มีความสำคัญยิ่งในประเทศพื้นที่เขตร้อนที่กำลังพัฒนา ซึ่งยังจำเป็นต้องพึ่งพาสารอาหารจากปลามากถึงร้อยละ 70
“การเปลี่ยนแปลงของมหาสมุทรจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้คนที่อาศัยอาหารจากแหล่งนี้” William Cheung ศาสตราจารย์จาก University of British Columbia กล่าว
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า แม้จะมีการจับปลาอย่างยั่งยืน หรือการควบคุมปริมาณปลาที่จับได้โดยไม่ทำลายกลุ่มประชากรหลัก ปริมาณปลาก็อาจลดลงมากถึง 1 ใน 4 ภายในสิ้นศตวรรษนี้ หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงดำเนินต่อไปดังเช่นที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
มหาสมุทรคอยทำหน้าที่ดูดซับความร้อนส่วนเกินไว้ประมาณ 90% และคาร์บอนไดออกไซด์อีกประมาณ 1 ใน 4 จากการเผาไม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ซึ่งสิ่งนี้นำไปสู่ระดับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นของมหาสมุทร เพิ่มความเป็นกรด และลดระดับออกซิเจน ที่จะมีผลกระทบต่อชีวิตในท้องทะเล เช่น หอยไม่สามารถพัฒนาเชลล์ได้อย่างเหมาะสม ปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬจะแพร่กระจายเพิ่มขึ้นจนกระทบการทำประมงชายฝั่ง และประชากรปลาจะเคลื่อนที่ไปยังน่านน้ำที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ทอดทิ้งชุมชนชาวประมงและเศรษฐกิจท้องถิ่นที่ต้องพึ่งพิงทรัพยากรมานานหลายศตวรรษไว้เบื้องหลัง
“ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันได้ชี้ให้เราเห็นว่า เมื่ออุณหภูมิมหาสมุทรอุ่นขึ้นและเกิดการสูญเสียออกซิเจน ขนาดร่างกายของสัตว์น้ำจะเล็กลง การกระจายของของปลาจะเปลี่ยนไป และการผลิตแพลงก์ตอนก็ลดน้อยลง” Lisa Levin ศาสตราจารย์จาก Scripps Institution of Oceanography กล่าว “เมื่อแพลงก์ตอนที่เป็นฐานของห่วงโซ่อาหารมีน้อยลง จำนวนปลาก็จะน้อยลงด้วยเช่นกัน”
ผลกระทบจากพื้นที่เขตร้อนถึงอาร์กติก
จากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนประชากร ที่อาจมีมากถึง 9 พันล้านคนในปี พ.ศ. 2593 หากเราต้องสูญเสียแหล่งโปรตีนที่สำคัญจากปลา นั่นอาจหมายถึงแนวโน้มที่ระบบนิเวศแหล่งอื่นๆ จะต้องล่มสลายตามไปด้วย เช่น การเปลี่ยนระบบนิเวศของพื้นที่ป่าให้กลายเป็นแหล่งเพาะปลูกเพื่อสร้างแหล่งโปรตีนทดแทน
ประเทศเขตร้อน รอบๆ เส้นศูนย์สูตรโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็ก คือกลุ่มที่เสี่ยงจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล หากต้องสูญเสียปริมาณปลาไป จะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมถึงเรื่องคุณค่าทางโภชนาการ
Doug Rader หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ทางทะเล อธิบายว่า “แม้จะจัดการกับสถานการณ์มลพิษอย่างจริงจังและมีประสิทธิภาพ แต่ประชาชนก็ยังจะสูญเสียปริมาณปลาถึง 20-40% อยู่ดี ผู้คนหลายร้อยล้านคนในกลุ่มประเทศหมู่เกาะในเขตร้อนถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด”
ไม่เพียงแต่บริเวณที่กล่าวมาเท่านั้น ประเทศในส่วนอื่นๆ ของโลก ก็ต้องเผชิญปัญหาไม่ต่างกัน
William Cheung อธิบายว่า ชุมชนในอเมริกาเหนือบางแห่งที่ต้องพึ่งพาปลาแซลมอนก็อาจต้องพบกับปัญหาเดียวกัน เนื่องจากน้ำในลำธารอุ่นขึ้น ปลาจึงอพยพไปยังพื้นที่อื่น เช่นเดียวกับชุมชนท้องถิ่นแถบอาร์กติกที่ต้องพึงพิงพื้นน้ำแข็งสำหรับออกล่าสัตว์ก็อาจสูญเสียเส้นทางเข้าถึงอาหารเพราะการละลายของน้ำแข็ง
“ความอุดมสมบูรณ์ที่เปลี่ยนไป และการแยกกระจายของทรัพยากรเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อวัฒนธรรมอาหารและวิถีชีวิต” William Cheung กล่าว ในภูมิภาคอาร์กติกชุมชนจำนวนมากดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยการพึ่งพาแผ่นน้ำแข็งเหนือน้ำทะเล แต่เพราะปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลายหายไปอย่างต่อเนื่องในอัตราที่เร็วขึ้นจนแทบจะไม่พบแผ่นน้ำแข็งในช่วงฤดูร้อนแล้ว
นักวิจัยได้คาดการณ์ว่า การหายไปและการย้ายถิ่นของปลาทูน่าบางชนิดจากเขตร้อน และกุ้งก้ามกรามที่ชอบน้ำเย็นจะย้ายไปอยู่ทางขั้วโลกเมื่อน้ำทะเลอุ่นขึ้น
ปัญหาการประมงที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
ประชากรปลาในหลายภูมิภาคได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการทำประมงเกินขนาด รวมถึงการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) อธิบายว่า ประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนปลาในมหาสมุทรกำลังอยู่ในระดับที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งมากเป็น 3 เท่านับจากกลางปี 1970
การจับปลาในเชิงพาณิชย์ที่เกินขนาดด้วยเรือขนาดใหญ่และวิธีการที่รุกรานอย่างรุนแรง เช่น การใช้อวนลาก ได้ทำให้เกิดการล่มสลายของสายพันธุ์ปลาค็อดมาแล้วในช่วงต้นศตวรรษที่ 1990 และเมื่อเร็วๆ นี้ ประชากรปลาเฮอริ่งก็เผชิญสถานะไม่ต่างกันกับปลาค็อคในอดีต
นักวิจัยบางคนให้ความเห็นว่า การลดลงของปริมาณปลาอาจสูงกว่าที่ FAO ประมาณการไว้มาก เพราะหน่วยงานราชการหรือองค์กรที่กำกับดูแลการทำประมงได้ประเมินตัวเลขการจับปลาไม่ตรงกับความเป็นจริง
ตามรายงานของ IPCC ระบุว่า การที่มหาสมุทรร้อนขึ้นในศตวรรษที่ 20 และหลังจากนั้นต่อไปจะทำให้ศักยภาพสูงสุดในการจับปลาลดลง ซึ่งมีผลพวงมาจากการจับปลาบางชนิดมากเกินไป
การประมงที่เกินขนาดเกิดขึ้นเมื่อเรือหาปลาเชิงพาณิชย์ขยายขนาดใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เพื่อจับปลาที่มีมูลค่าสูงในตลาดโลกสนองความต้องการอาหารทะเลที่เพิ่มมากขึ้นจากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
“การประมงเกินขนาดไม่ได้มีสาเหตุมาจากความหิวโหย” David Helvarg ผู้อำนวยการกลุ่มอนุรักษ์สัตว์น้ำ Blue Frontier อธิบาย “มันเป็นของซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารหรูในโลกที่พัฒนาแล้ว”
ปี 2559 เป็นปีที่มีการบริโภคปลามากที่สุดในประวัติศาสตร์ อยู่ที่ประมาณคนละ 45 ปอนด์ต่อปี โดยส่วนใหญ่เป็นปลาที่มาจากฟาร์มเพาะเลี้ยงและการเลี้ยงปลาในน่านน้ำที่มีอยู่ ซึ่งในปี 2559 เราเพาะเลี้ยงปลาเพื่อบริโภคได้มากกว่าปริมาณที่จับได้จากประมงพาณิชย์และประมงแบบดั้งเดิม
“เราบริโภคปลามากขึ้น แต่มีน้อยมากที่เป็นปลาจากมหาสมุทร เพราะสต็อคปลาในเชิงพาณิชย์ได้หมดลงแล้ว” David Helvarg กล่าว
“การเปลี่ยนไปสู่การเพาะเลี้ยงอาจทำให้ปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น แต่คุณค่าทางโภชนาการในอาหารที่หลากหลายจะหายไปจากโลกของเรา” David Helvarg กล่าวเสริม
ทางรอดคือรักษาระบบนิเวศและจัดระบบการทำประมง
การทำประมงในมหาสมุทรบางแห่งยังคงรักษาปริมาณปลาเอาไว้ได้ ปลาบางสายพันธุ์ถูกควบคุมปริมาณการจับอย่างจำกัดเพื่อความยั่งยืน แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีอุปสรรคใดใดขัดขวางเลย
“แต่ภูมิปัญญาการจับปลาอย่างยั่งยืนนั้นก็ไม่อาจสามารถทำได้เช่นในอดีต” Doug Rader กล่าว และอธิบายต่อว่า “ประชากรปลากำลังเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน และมันก็เคลื่อนที่เร็วกว่าที่ใครๆ ได้คาดการณ์ไว้”
Lisa Levin กล่าวว่า “วิธีบรรเทาผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทร คือการปกป้องแหล่งเก็บกักคาร์บอนตามธรรมชาติ และควรเพิ่มประสิทธิภาพการฟื้นฟูพื้นที่ป่าชายเลน พรุน้ำเค็ม แนวหญ้าทะเล รวมถึงเรายังสามารถลดการปล่อยมลพิษให้มหาสมทรได้ด้วยการหยุดสร้างมลพิษทางเรือลงทะเล เหล่านี้ล้วนมีส่วนในการร่วมแก้ไขปัญหา”
การจัดการประมงที่เข้มข้นขึ้นและตรวจสอบการจับปลาที่ผิดกฎหมายอย่างรัดกุมจะช่วยปกป้องสายพันธุ์ปลาได้เช่นเดียวกับการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญอันดับต้นๆ ของเรื่องนี้ คือ ต้องลดปริมาณการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลลงให้ได้
“ถ้าเราสามารถลดการปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิล เราก็สามารถลดความตรึงเครียดของสถานการณ์ที่เราคาดการณ์ลงได้อย่างมาก” William Cheung กล่าว