ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่ามีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุด และเป็นบ้านของเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ โฮจิมินฮ์ และกัวลาลัมเปอร์ ในขณะเดียวกัน ภูมิภาคนี้ก็ยังเป็นแหล่งระบบนิเวศสำคัญในระดับโลก
ภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างประกอบด้วยประเทศเวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทย และพม่า คือหัวใจของระบบนิเวศ ตามรายงานของ WWF ในภูมิภาคนี้เองที่มีการพบสัตว์มีกระดูกสันหลังและพืชที่มีท่อน้ำเลี้ยงชนิดพันธุ์ใหม่ถึง 2,200 ชนิดตั้งแต่ พ.ศ. 2540
ในช่วงราว 5 ทศวรรษก่อน ภูมิภาคดังกล่าวเป็นภูมิภาคที่มีป่าหนาแน่นที่สุดบนพื้นผิวโลก ปัจจุบันต้นไม้ราว 1 ใน 3 ถูกตัดโค่นลง และอีก 1 ใน 3 คาดว่าจะหายไปภายในอีก 10 ปีข้างหน้า การเปลี่ยนพื้นที่เป็นเมือง และการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรไม่ว่าจะเป็นการปลูกปาล์มน้ำมัน หรือยางพารา ทำให้ป่าหายไปพร้อมกันหลายชนิดพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในนั้น
ภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขงตอนล่างยังเป็นบ้านของป่าชายเลนขนาดใหญ่ เทียบเท่าได้กับภูมิภาคอเมริกากลาง และทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับชายฝั่งทั้งตะวันออกและตะวันตกของทวีปแอฟริกา
ภัยคุกคามต่อป่าชายเลนแห่งลุ่มน้ำโขง
ป่าชายเลนจะเติบโตได้ในน้ำกร่อยหรือน้ำเกลือ ประเทศเวียดนาม ไทย และพม่าซึ่งมีชายฝั่งยาวร่วม 8,400 กิโลเมตรก็เต็มไปด้วยป่าลักษณะนี้ ส่วนประเทศกัมพูชาซึ่งมีชายฝั่งยาว 443 กิโลเมตรก็พบป่าชายเลนเช่นเดียวกัน โดยป่าชายเลนหลายแห่งอยู่ในสภาพเสื่อมโทรมซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจนชินตา
Bennor Boer หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมประจำ UNESCO สำนักงานกรุงเทพฯ อธิบายว่าพื้นที่ป่าชายเลนนั้นลดลงทั่วโลกไม่ว่าประเทศใด ยกเว้นเอริเทรีย อาบูดาบี และออสเตรเลีย “สาเหตุหลักที่พื้นที่ป่าชายเลนลดลงจาก 320,000 ตารางกิโลเมตร เหลือราว 150,000 ตารางกิโลเมตร เนื่องจากการเปลี่ยนวิธีใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น การพัฒนาทางการเกษตร การทำฟาร์มกุ้ง รวมถึงโครงการพัฒนาใกล้ชายฝั่งต่างๆ” เขาให้สัมภาษณ์ โดยการลดลงดังกล่าวเกิดขึ้นในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา
จากข้อมูลของ UNESCO ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ประเทศพม่ามีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดคือ 5,030 ตารางกิโลเมตร ตามด้วยประเทศไทยที่มี 2,484 ตารางกิโลเมตร เวียดนามที่มี 1,057 ตารางกิโลเมตร และกัมพูชา 728 ตารางกิโลเมตร การตัดไม้ชายเลนเพื่อใช้เป็นฟืนนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงประเทศพม่า
พื้นที่ป่าชายเลนซึ่งติดต่อกันขนาดใหญ่ที่สุดอยู่ทางตอนใต้ของเวียดนาม โดยมีพื้นที่ถึง 750 ตารางกิโลเมตร ในพื้นที่สงวนชีวภูมิ Can Gio (Can Gio Biosphere Reserve) ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินฮ์ รองลงมาคือพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลยระนอง มีพื้นที่รวม 300 ตารางกิโลเมตร ไม่ไกลจากนั้นก็เป็นป่าชายเลนผืนใหญ่ในประเทศพม่า
“การตัดไม้ในพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อนำไปใช้เป็นฟืนหรือถ่านยังคงเป็นปัญหาในภูมิภาคนี้” Bennor Boer ระบุ “ประเทศไทยเคยเผชิญกับการสูญเสียพื้นที่ป่าจำนวนมากเนื่องจากสาเหตุนี้เมื่อราวหลายทศวรรษก่อน กระทั่งมีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ที่ห้ามการนำไม้ไปใช้ทำฟืนอย่างเด็ดขาด” พื้นที่ป่าชายเลนระนองนั้นมีการฟื้นตัวที่ค่อนข้างดี แต่การกวดขันทางกฎหมายทำให้การผลิตถ่านไม้ขยับออกไปยังประเทศพม่า บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ซึ่งยังไม่มีการคุ้มครองที่เข้มข้นและกวดขัน แม้ว่าพื้นที่ดังกล่าวจะอยู่ในเขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า Meinmahla Kyun
“ปัญหาเรื่องการตัดไม้เพื่อทำฟืนอย่างผิดกฎหม่ายในพม่ามีเพิ่มขึ้นอย่างมากหลังจากประเทศไทยประกาศห้ามการทำฟืนในพื้นที่ป่าชายเลน จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่ทั้งสองประเทศจะจับมือเพื่อทำงานร่วมกันในการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้” Bennor Boer ให้สัมภาษณ์
เมื่อปีที่ผ่านมาก รายงานของสำนักข่าว Myanmar Times ระบุว่าพบการผลิตถ่านไม้ผิดกฎหมายในพื้นที่ข้างต้น พร้อมทั้งเส้นทางการลำเลียงผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังเมืองใหญ่ในพม่า และส่งออกอย่างผิดกฎหมายไปยังประเทศไทย โดยไม่ทราบถึงมูลค่าและปริมาณของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
ป่าชายเลนสำคัญอย่างไร?
การทำลายป่าชายเลนนั้นส่งผลกระทบสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนและระบบนิเวศที่อยู่โดยรอบ “ป่าไม้มักถูกละเลยความสำคัญ หรือประเมินคุณค่าต่ำกว่าความเป็นจริงจากชุมชนโดยรอบ” Frances Seymour นักวิจัยอาวุโสจาก World Resources Institute ให้สัมภาษณ์ “โดยเฉพาะป่าชายเลน ซึ่งทำหน้าที่หลากหลายและมีความสำคัญอย่างยิ่งในระดับชุมชนและระดับโลก” เขาเคยเขียนหนังสืออธิบายความสำคัญของป่าชายเลนว่าเป็นระบบนิเวศที่สำคัญที่สุด 1 ใน 3 อันดับแรกซึ่งเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับธรรมชาติ ป่าชายเลนช่วยสนับสนุนความเป็นอยู่ของชุมชนทั้งการประมง เชื้อเพลิง เป็นสถานอนุบาลของสัตว์น้ำทำให้การประมงชายฝั่งยังคงอยู่ได้ และยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
ความสำคัญของป่าชายเลนที่หลายคนมักลืมนึกถึง คือ ป่าชายเลนช่วยป้องกันน้ำท่วมจากพายุชายฝั่งซึ่งคาดว่าจะทวีความรุนแรงและความถี่ในระยะเวลาอันใกล้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Frances Seymour ยังระบุเพิ่มเติมว่าป่าชายเลยยังช่วยลดผลกระทบจากสึนามิ เนื่องจากช่วยปกป้องชายฝั่ง และลดความแรงของคลืนได้อีกด้วย แม้ว่าการเกิดสึนามิจะมีโอกาสค่อนข้างน้อยในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียก็พบว่าป่าชายเลนช่วยลดผลกระทบจากสึนามิเมื่อ พ.ศ. 2547 ได้ค่อนข้างมาก
ป่าแห่งนี้ยังมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายป่าพรุที่กักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากไว้ใต้ดิน มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีแก๊สออกซิเจน ทำให้อินทรียสารไม่ย่อยสลายอย่างสมบูรณ์ใต้น้ำ เราจึงมีคาร์บอนที่กักเก็บไว้ในต้นไม้ และยังเก็บอยู่ใต้โคลนเลนอีกด้วย
ป่าชายเลนจะยิ่งทวีความสำคัญในช่วงเวลาที่โลกเริ่มเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น เช่นในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง เมืองใหญ่ของเวียดนามก็เผชิญกับพายุไต้ฝุ่นและการที่ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น ส่วนในประเทศไทยและพม่าก็เพิ่มเผชิญกับน้ำท่วมครั้งร้ายแรงจากฝนตกระลอกใหญ่เมื่อไม่นานมานี้
แล้วเราจะรักษาป่าชายเลนได้อย่างไร
ป่าชายเลนหลายแห่งยังคงถูกคุกคามจากการตัดไม้เพื่อนำไปทำเป็นเชื้อเพลิง ผู้ผลิตถ่านไม้ต่างย้ายฐานการผลิตจากประเทศที่ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มหดหายไปยังประเทศที่ยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ภายใต้การสนับสนุนจากนายทุนต่างประเทศ “ป่าชายเลนมีความเสื่อมโทรมลงอย่างมากในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา” Charlotte Nivollet, ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Group for the Environment, Renewable Energy and Solidarity (GERES) ให้สัมภาษณ์ ปัจจุบัน การตัดไม้ทำลายป่าชายเลนในกัมพูชาอาจไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม แม้ว่าจะมีปัญหาในการบังคับใช้ “ที่กัมพูชามีกฎหมายควบคุมเรื่องนี้ทั้งหมด แต่การบังคับใช้ และการปฏิบัติตามกฎหมายแทบเป็นไปไม่ได้เลย” Charlotte กล่าวเสริม เธอและเพื่อนร่วมทีมต่างหวังว่าจะสร้างห่วงโซ่คุณค่าถ่านไม้ที่ยั่งยืนโดยสอดคล้องกับข้อกฎหมาย
วิสัยทัศน์ของ Charlotte คือมองเห็นชุมชนอยู่ร่วมกับป่าได้ โดยผลิตไม้อย่างยั่งยืนและสามารถนำผลผลิตดังกล่าวไปจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่การตรวจสอบและกำกับดูแลกระบวนการดังกล่าวก็ต้องใช้เงินทุนจำนวนมหาศาล เพราะการเป็นผู้ผลิตอย่างถูกกฎหมายจำเป็นต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ค่าใบอนุญาต และอีกสารพัดค่าใช้จ่ายทำให้ผู้ผลิตส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินไปบนเส้นทางที่ผิดกฎหมาย
อีกทางเลือกหนึ่งคือการสร้างป่าชายเลนเทียม ซึ่งทีมงานของ Bennor Boer ได้ประสบความสำเร็จแล้วในประเทศกาตาร์ ซึ่งเป็นการสร้างป่าเทียมในกล่องใส่ทรายโดยใช้น้ำทะเลหล่อเลี้ยงไว้ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มโครงการนำร่องในประเทศพม่า ฟิลิปปินส์ และออสเตรเลีย โดยในอนาคตเราจะขยายโครงการดังกล่าวให้กว้างขึ้น เพื่อให้ชุมชนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าชายเลนเทียมได้อย่างถูกกฎหมาย และลดปัญหาการทำลายป่าชายเลนจริงๆ อย่างไรก็ดี เส้นทางของการพัฒนาทางเลือกนี้ก็ยังอีกยาวไกล และจำเป็นต้องใช้เงินทุน การคำนวณต้นทุน และความเป็นไปได้ที่จะขยายโครงการ
อนาคตของป่าชายเลนแห่งลุ่มน้ำโขง
เราอาจมีความหวังกับโครงการใหม่ๆ และเส้นทางในการปรับปรุงกฎหมายให้เอื้อกับการอนุรักษ์ป่าชายเลน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าป่าชายเลนก็อาจต้องเผชิญความท้าทายใหม่ๆ ในอนาคตอันใกล้ “ทุกประเทศในภูมิภาคนี้ต่างต้องการอัตราการเติบโตอย่างน้อยเป็นเลขสองหลัก พวกเขาใส่ใจกับเศรษฐกิจ และอาจพิจารณาลงทุนแปลงสภาพที่ดินเพื่อเพิ่มผลิตภาพ” Thibault Ledexq ผู้ประสานงานป่าไม้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ณ โครงการลุ่มน้ำโขงของ WWF กรุงพนมเปญ ให้สัมภาษณ์ “โครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจการเกษตรจะเป็นตัวเร่งสำคัญให้เกิดการตัดไม้ทำลายป่า ส่วนความต้องการไม้ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี” เขากล่าวเสริม
แต่เราก็ยังคงมีความหวัง อย่างน้อยก็ในแง่การปกป้องป่าชายเลน เพราะในเวียดนาม มีการอนุรักษ์พื้นที่สงวนชีวภูมิ Can Gio โดยป้องกันไม่ให้เมืองขยายไปใกล้พื้นที่ดังกล่าว แม้ว่าจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวไม่ไกลจากพื้นที่ป่า แต่ป่าสีเขียวนี้ก็ให้ภาพที่ตัดกับเมืองอย่างชัดเจนจากภาพถ่ายดาวเทียม
“หลายปีที่ผ่านมา เวียดนามเริ่มมีโครงการจำนวนมากเพื่อฟื้นฟูป่าชายเลนโดยมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันชายฝั่ง รวมถึงสร้างความตระหนักให้กับประชาชนโดยรอบ” Pham Trong Thinh ผู้อำนวยการสถาบัน Sothern Sub-Forest Inventory and Planning ในกรุงโฮจิมินห์ระบุ “ปัญหาเรื่องการตัดไม้ในป่าชายเลนและในพื้นที่ชุ่มน้ำไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่ในเวียดนาม ณ ขณะนี้”
ป่าชายเลนของเวียดนามได้รับการอนุรักษ์ไว้จากการที่รัฐบาลประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าเข้ากับครัวเรือนร้อยละ 99 ทั่วประเทศ นั่นหมายความว่ามีประชาชนจำนวนน้อยมากที่จำเป็นต้องใช้ถ่านไม้ในชีวิตประจำวัน ส่วนประเทศอย่างพม่าและกัมพูชายังจำเป็นต้องพึ่งพาทรัพยากรเหล่านี้แทนไฟฟ้าค่อนข้างมาก
ปัจจุบัน รัฐบาลพม่าเองก็มีการพิจารณาว่าจะประกาศพื้นที่อนุรักษ์ป่าชายเลนเพิ่มเติม “ชาวพม่าก็ต้องตัดสินใจด้วยตัวเองว่า จะอนุรักษ์ป่าชายเลนผืนใหญ่ผืนนี้เอาไว้หรือไม่” Bennor Boer กล่าวสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก Current threats and future hopes for the greater Mekong’s mangroves โดย Michael Tatarski
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์