ภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อลำน้ำโขง

ภัยคุกคามครั้งใหญ่ต่อลำน้ำโขง

ปริมาณน้ำฝนน้อย อุณหภูมิสูง และการกำกับดูแลเขื่อนที่ไม่เข้มงวด เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ลำน้ำโขงลดระดับต่ำสุดครั้งประวัติศาสตร์ส่งผลกระทบต่อหลากชีวิต ภาคการเกษตรของภูมิภาค อุตสาหกรรมประมง และระบบน้ำประปา

เขื่อนประเทศจีนเปรียบเสมือนประตูกั้นที่ควบคุมการไหลของน้ำในแม่น้ำความยาว 4,350 กิโลเมตรแห่งนี้ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากที่ราบสูงทิเบต ไหลลงสู่ประเทศจีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม องค์การแม่น้ำสากล (International Rivers) องค์กรไม่แสวงหากำไรด้านสิ่งแวดล้อมนานาชาติระบุว่าเขื่อนที่ดำเนินการอยู่จำนวน 7 แห่งในประเทศจีน และอีก 20 แห่งที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อระดับน้ำตลอดทศวรรษที่ผ่านมา

ปีที่ผ่านมา แม่โขงเผชิญกับระดับน้ำที่ต่ำที่สุดในรอบประวัติศาสตร์ คร่าชีวิตสัตว์น้ำ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตประชาชนหลายล้านคน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ลดลง ทำให้สมาชิกอาเซียนอย่างลาว ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ต้องรับมือกับปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง

“นี่อาจเป็นจุดที่ต่ำที่สุดที่แม่น้ำเคยเผชิญในรอบร้อยปีที่ผ่านมา และในอนาคตระดับน้ำก็อาจลดต่ำมากกว่านี้” Brian Eyler ผู้อำนวยการโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จาก Stimson Center องค์กรคลังสมองที่สนับสนุนให้เกิดสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ การวิเคราะห์โดยภาพถ่ายดาวเทียมพบว่าปริมาณน้ำในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นพื้นที่ชายแดนพม่า ลาว และไทยบรรจบกันมีระดับต่ำที่สุดในรอบศตวรรษเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมา

 

Source: International Rivers

 

Brian Eyler ผู้เขียนหนังสือวันสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ยิ่งใหญ่ (The Last Days of the Mighty Mekong) ระบุว่ายังมีแผนการก่อสร้างเขื่อนใหม่อีก 500 แห่งตลอดลำน้ำโขงซึ่งยากจะคาดเดาว่าจะสร้างผลกระทบอย่างไร

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การศึกษาโดยศูนย์การศึกษาเชิงยุทธศาสตร์สากล (Center for Strategic and International Studies) ประชากรราว 500,000 คนต้องย้ายถิ่นเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศใน พ.ศ. 2563 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พายุไต้ฝุ่น Phanfone และ Vongfong เข้าถล่มฟิลิปินส์ในปีนี้ ส่วนเมืองหลวงของอินโดนีเซียก็ต้องเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่

คาดว่าระหว่าง พ.ศ. 2551 ถึง 2561 มีประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องย้ายถิ่นฐานเนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศกว่า 54.5 ล้านคน โดยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามต่อความมั่นคงในระยะยาวของภูมิภาค

อย่างไรก็ดี ศูนย์การศึกษาเชิงยุทธศาสตร์สากลระบุว่า “ภัยพิบัติครั้งใหญ่จากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมกำลังก่อตัวในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงคือส่วนผสมระหว่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมถอยของระบบนิเวศจากรูปแบบการไหลที่ผิดปกติของแม่น้ำโขงซึ่งเป็นผลจากเขื่อนต้นน้ำ”

ในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงนั้น อุณหภูมืได้เพิ่มสูงขึ้นราว 0.5 ถึง 1.5 องศาเซลเซียสหากเทียบกับเมื่อห้าทศวรรษที่ผ่านมา และอุณหภูมิดังกล่าวมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต

“ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคต่างต้องเตรียมพร้อมเผชิญกับภัยแล้งที่รุนแรงในอนาคตอันใกล้ ในขณะที่เวียดนามเผชิญกับภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุด ทั้งระดับน้ำที่ต่ำลงอย่างมาก ปริมาณตะกอนซึ่งพัดพาความอุดมสมบูรณ์จากต้นน้ำมาสู่ท้ายน้ำที่ลดลง ผนวกกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามาในผืนดิน กระทบต่อพื้นที่เกษตรบริเวณปากแม่น้ำซึ่งเปรียบเสมือนอู่ข่าวอู่น้ำของเวียดนาม” รายงานระบุ

สื่อรายงานว่า ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อพื้นที่ปากแม่โขงในเวียดนามทำให้เกษตรกรต้องอพยพย้ายถิ่นฐานเนื่องจากน้ำเค็มที่รุกเข้ามาในแผ่นดินและภัยแล้งที่ทำลายพื้นที่เกษตร ใน พ.ศ. 2556 แปลงเกษตรที่เสียหายทำให้ครอบครัวเกษตรกรต้องตกอยู่ในความยากจนและมีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

ArcGIS ระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ที่ดูแลโดยสถาบันวิจัยระบบสิ่งแวดล้อม (Environmental Systems Research Institute) เปิดเผยว่าประชากรประมาณ 1.7 ล้านคนได้อพยพย้ายถิ่นฐานออกจากดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยประชากรราว 14.5 เปอร์เซ็นต์ย้ายถิ่นฐานเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนที่เหลือนั้นมีสาเหตุจากความยากจน

นอกจากนี้ พื้นที่สำหรับการประมงแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีชนิดพันธุ์ปลากว่า 850 ชนิดก็เผชิญกับภัยคุกคามอย่างรุนแรงเช่นเดียวกัน การทำลายระบบนิเวศและนิเวศบริการจะทำให้ชะตากรมของแม่น้ำโขงเลวร้ายลง คุกคามวิถีชีวิตของประชาชนซึ่งอาจเพิ่มสูงถึง 100 ล้านคนภายใน พ.ศ. 2568

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Mekong Under Great Threat
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์