งานวิจัยชิ้นล่าสุดได้เผยข้อมูลออกมาว่า สิ่งมีชีวิตกว่า 1,200 สายพันธุ์ต้องเผชิญกับภัยคุกคามในถิ่นที่อยู่อาศัยมากกว่า 90% ของพื้นที่ที่พวกมันอาศัยอยู่ และมีโอกาสเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์เพราะขาดมาตรการในด้านงานอนุรักษ์
นักวิทยาศาสตร์จาก Australia’s University of Queensland และ Wildlife Conservation Society ได้สร้างแผนที่ถิ่นที่อยู่อาศัยของ นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ จำนวน 5,457 สายพันธุ์ เพื่อตรวจสอบว่า ส่วนใดของที่อยู่อาศัยของสัตว์สายพันธุ์ใดบ้างที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดจากการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพจากการคุกคามของคน
งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้ได้ตีพิมพ์ใน PLOS Biology ในรูปแบบแผนที่แสดงจุด ‘hotspots’ ของสายพันธุ์ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆ เช่น การเกษตร แสงไฟยามค่ำคืน ถนน รถไฟ การสัญจรทางน้ำ ความหนาแน่นของประชากร และแสดง ‘coolspots’ ซึ่งถือเป็นแหล่งหลบภัยที่ไม่ถูกคุกคาม
ทีมวิจัยได้ทำการสำรวจภัยคุกคามที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ต่างๆ ในถิ่นที่อยู่อาศัย ซึ่งพบว่า การบุกรุกรูปแบบต่างๆ แทบจะครอบคลุมถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด ทำให้สัตว์ต่างๆ ต้องเอาชีวิตรอดอยู่ในพื้นที่ที่จำกัดอย่างมาก
ทีมวิจัยอธิบายว่า ในการศึกษาพบสิ่งมีชีวิต 1,237 สายพันธุ์ หรือ 1 ใน 4 จำนวนสายพันธุ์ที่ทำการสำรวจ มีภัยคุกคามที่สร้างผลกระทบกระจายทั่วถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เหล่านั้นมากถึง 90% ของพื้นที่
แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สถานการณ์ที่เลวร้ายเท่ากับอีก 395 สายพันธุ์ หรือ 7% ที่ได้รับผลกระทบจากภัยคุกคามอย่างน้อยหนึ่งอย่างในถิ่นที่อยู่อาศัยทั้งหมดของพวกมัน
“ผลลัพท์เหล่านี้เป็นเรื่องน่ากลัวมาก และนั่นก็เป็นเพราะภัยคุกคามที่เราบันทึกไว้ในแผนที่มันมีผลเฉพาะเจาะจงลงในแต่ละสายพันธุ์” James Allan นักวิจัยจาก University of Queensland และผู้เขียนรายงาน กล่าว
สัตว์ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉลี่ยแล้วการกระจายตัวลดลง 52% จากการถูกคุกคาม
อย่างไรก็ตามในอีกมุมหนึ่งของงานวิจัย ก็ได้อธิบายว่า 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ที่ศึกษา ปราศจากภัยคุกคามในถิ่นที่อยู่อาศัย แต่นักวิจัยก็ได้ย้ำว่าไม่ควรวางใจและ “ควรตีความแค่ในบริบทภัยคุกคามที่เราได้ศึกษา”
เนื่องจากยังมีภัยคุกคามที่สำคัญอีกสองประเด็นที่ทีมวิจัยยังไม่ได้ลงรายละเอียดในการศึกษาและบรรจุไว้ในแผนที่ คือ โรคที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นภัยคุกคามสิ่งมีชีวิตทุกสายพันธุ์
พฤติกรรมของมนุษย์ได้ส่งผลกระทบต่อสายพันธุ์ทั่วโลกไปถึง 84% ของพื้นผิวโลก
ห้าอันดับแรกของประเทศที่มีภัยคุกคามส่งผลกระทบต่อสัตว์ส่วนใหญ่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเลเซียเป็นประเทศที่สร้างผลกระทบมากที่สุดรองลงมาคือบรูไน และสิงคโปร์
สภาพของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ป่าโกงกางเขตร้อน ป่าดิบชื้นและป่าร้อนชื้นทางตอนใต้ของบราซิล มาเลเซีย และอินโดนีเซีย และป่าดิบแล้งเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนของประเทศอินเดีย พม่า และไทย
ในส่วนประเทศที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่จะพบ ‘coolspots’ ที่เหมาะกับการหลบจากภัยคุกคาม ก็มีอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่นเดียวกับพื้นที่ป่าฝนแอมะซอน บางส่วนในแอนดีส และไลบีเรียในแอฟริกาตะวันตก
James Allan กล่าวว่า ในบางกรณี ‘hotspots’ และ ‘coolspots’ ถูกพบใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่มีความหลากหลายทางสายพันธุ์อยู่สูง
“สิ่งที่เราต้องทำ คือปกป้อง ‘coolspots’ ไม่ให้สิ่งมีชีวิตได้รับผลกระทบ เราต้องหยุดไม่ให้ภัยคุกคามเข้ามาในพื้นที่เหล่านั้น”
“ยังมีที่ว่างให้เราได้มองโลกในแง่ดี ภัยคุกคามทั้งหมดที่เราใส่ลงไปในแผนที่ จะยุติลงได้ด้วยความพยายามในงานอนุรักษ์”