ในทุกวันนี้ เราคงทราบกันดีกว่า ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกลงในทะเลนั้นสร้างผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตมากมายแค่ไหน
เราพบเห็นสัตว์ทะเลจำนวนมากมายเกยตื้นใต้อย่างไร้สาเหตุ และมาถึงบางอ้อเมื่อผ่าซากชันสูตรแล้วพบพลาสติกในร่างกาย
เรื่องราวเช่นนี้ปรากฎให้เห็นทุกเมื่อเชื่อวัน
และมันก็ค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
แต่มันเพิ่มมากขึ้นแค่ไหน ?
ในงานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา พบว่า มีพลาสติกอยู่ในร่างกายของปลาทะเล 386 ชนิด จากชนิดพันธุ์ที่ทำการศึกษาทั้งหมด 555 ชนิด
และเป็นที่น่าสนใจว่าในเกือบ 400 ชนิดที่พบพลาสติกในร่างกาย เป็นชนิดปลาที่วนเวียนเข้าออกในอุตสาหกรรมพาณิชย์ถึง 210 ชนิด
หรือกล่าวให้ตรงประเด็นไปเลย ก็คือปลาที่มนุษย์เรานำมาใช้เป็นอาหารในชีวิตประจำวันนั่นเอง
อะไรคือต้นตอของรายละเอียดที่ปรากฎ
คงไม่ต้องท้าวความกันมาก ก็น่าจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า ขยะพลาสติกได้ปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรอย่างมหาศาล
ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนเราตื่นตัวถึงปัญหานี้มากที่สุด ก็ยังพบว่าปริมาณพลาสติกในมหาสมุทรยังเพิ่มขึ้นมาอีก 2%
ในบทสรุปสุดท้าย คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะกล่าวว่า พลาสติกที่เราใช้และทิ้งไปนั้น สุดท้ายแล้วอาจจะคืนกลับมาหาเราในรูปแบบของอาหาร – โดยที่เราไม่รู้ตัว
แต่เรื่องนี้ไม่ได้จบที่ปัญหาของมนุษยชาติเพียงอย่างเดียว
แต่ยังหมายถึงความล่มสลายทางสายพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในมหาสมุทรอีกมากมาย
เนื่องจากในจำนวนสายพันธุ์ปลาที่พบพลาสติกในร่างกายนั้น มีหลายชนิดที่ตกอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ อันเป็นเหตุมาจากการถูกล่า หรือถูกจับปลาที่เกินขนาด
ชะตากรรมของหมู่เหล่ามัจฉาในมหาสมุทรจึงต้องเผชิญพบกับภยันตรายสองทาง จากการทำประมงหรือไม่ก็รอวันตายจากปริมาณพลาสติกที่สะสมในร่างกาย
ข้อมูลที่น่าสนใจอีกอย่างสองอย่างของงานวิจัยนี้ ยังบอกด้วยว่า ปริมาณพลาสติกในปลาอาจสัมพันธ์กับความลึกระดับน้ำที่แต่ละชนิดพันธุ์อาศัย
สัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ลึกลงไปอาจมีความเสี่ยงน้อยกว่า – แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เสี่ยงเลย เนื่องจากงานวิจัยก่อนหน้านี้ได้ระบุชัดแล้วว่า แม้แต่ในจุดที่ลึกที่สุดของมหาสมุทรก็ยังพบกับการปนเปื้อนของพลาสติกในระบบนิเวศ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องระบบนิเวศห่วงโซ่อาหารของปลา ที่พบว่าเมื่อปลาใหญ่กินปลาเล็ก ก็จะได้รับพลาสติกที่ปนเปื้อนไป แบบเดียวกับที่มนุษย์เราได้รับพลาสติกจากการกินปลา
เป็นการส่งต่อมลภาวะพลาสติกในท้องทะเลกันไปเป็นทอดๆ
เรื่องราวของงานวิจัยชิ้นนี้ แม้จะให้รายละเอียดปริมาณชนิดพันธุ์ของปลาที่ได้รับผลกระทบในเชิงตัวเลขอย่างน่าสนใจ แต่นักวิจัยกลับกล่าวอย่างเป็นกังวลว่า…
“นี่ยังไม่ใช่งานวิจัยที่ให้รายละเอียดครบถ้วนมากที่สุด”
เนื่องจากยังคงมีมหาสมุทรอีกหลายแห่งที่ยังไม่ได้ทำการสำรวจ ด้วยปัจจัยการเข้าถึง เงินทุน และรายละเอียดอีกจิปาถะ
ปัญหานี้ยังหมายรวมถึงจำนวนชนิดพันธุ์ของปลาอีกมาก ที่ยังไม่ได้ศึกษาข้อมูลอย่างลงลึก
ถึงจะมีงานวิจัยก่อนหน้ามากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ และต่อให้มีการนำข้อมูลทั้งหมดรวมข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน แล้วสังเคราะห์รายละเอียดออกมาก็ตาม – นักวิจัยก็ยังยืนยันว่า ความรู้ที่มีเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังไม่พอจะสรุปได้ว่า… อันตรายจากพลาสติกในทะเลจะสร้างความเสียหายส่งถึงมาสู่มนุษย์และเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตในมหาสมุทรได้รุนแรงที่แค่ไหน
อาจไม่มากเท่าที่เรากังวล หรืออาจมากกว่าที่หวาดกลัวก็เป็นได้ทั้งสองทาง
แต่ดูเหมือนว่าน้ำหนักของเรื่องนี้ จะเทไปอย่างหลังเสียมากกว่า
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน