นักวิทยาศาสตร์ค้บพบ “ค่าง” สายพันธุ์ใหม่ในป่าของประเทศพม่า แต่น่าเศร้าที่พวกมันกำลังเผชิญสถานะเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ค่างสายพันธุ์ที่เพิ่งค้นพบนี้ ถูกตั้งชื่อว่า “โปปา” ซึ่งนำมาจากชื่อภูเขาไฟในประเทศ และเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของค่างกลุ่มสุดท้ายในสายพันธุ์นี้ ที่เหลืออยู่ราว 200 ถึง 260 ตัวเท่านั้น
พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติลอนดอน หนึ่งในทีมศึกษาและค้นพบ ได้แถลงข่าวรายงานเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พร้อมระบุว่า เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ประชากรของค่างโปปาเหลืออยู่น้อย จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบรรจุพวกมันเข้าไว้ในบัญชี IUCN Redlist ประเภท “ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง”
การศึกษาสายพันธุ์ค่างในป่าของประเทศพม่านั้น นักวิทยาศาสตร์ได้ตั้งสมมติฐานไว้นานแล้วว่าอาจมีสายพันธุ์ค่างมากว่าที่เรารู้จักอาศัยอยู่ไพรป่า แต่การพิสูจน์ข้อเท็จจริงในอดีตไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม ต่อการค้นพบครั้งใหม่ นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ตัวอย่างทางประวัติศาสตร์ที่ถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จากหลายประเทศ ซึ่งรวบรวมโดยนักสำรวจที่เดินทางไปพม่าในอดีต ซึ่งมีตัวอย่างค่างอยู่มากมายหลายสายพันธุ์
นักวิจัยได้สกัดดีเอ็นเอ (จากมูล) และตรวจวัดลักษณะทางกายภาพ เช่น ความยาวของหางและหู สีขน รูปร่างกะโหลก นำมาเปรียบเทียบกับประชากรค่างที่อยู่ตามธรรมชาติ จนได้ผลออกมาว่ายังมีค่างสายพันธุ์ที่ไม่ถูกระบุไว้มาก่อน นอกจากนี้ จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางประวัติศาสตร์และบันทึกการเดินทางของนักสำรวจ ทำให้ทราบด้วยว่าค่างโปปานั้นน่าจะเคยกระจายตัวอยู่ตามพื้นที่ป่าตอนกลางของประเทศ ทว่าปัจจุบันกลับพบเพียงกลุ่มประชาชนเพียง 4 กลุ่ม โดยฝูงประชากรที่ใหญ่กว่ากลุ่มอื่นอาศัยอยู่บนภูเขาไฟโปปามีจำนวนราว 100 ตัว
ภูเขาไฟโปปา ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางจิตวิญญาณของประชาชน ซึ่งเชื่อว่าเป็นที่สิงสถิตของบรรดาเทวะ และยังตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติชื่อเดียวกับภูเขา อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์กังวลว่าการอาศัยอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ยังไม่ใช่เกราะป้องกันที่การันตีความปลอดภัยให้กับค่างได้ทั้งฝูง เนื่องจากยังมีการล่าสัตว์ การตัดไม้ไปใช้ในอุตสาหกรรมไม้และฟืนอยู่ในพื้นที่
ในการศึกษายังพบภัยคุกคามอื่น ๆ เช่น การบุกรุกพื้นที่เพื่อทำเกษตร ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศที่ได้รับความรบกวนจากการลอบเลี้ยงปศุสัตว์ นักวิทยาศาสตร์เสนอว่า ผลของการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการผลักดันให้หน่วยงานระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) และอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศในสิ่งมีชีวิตใกล้สูญพันธุ์ (CITES) เร่งเพิ่มค่างโปปาไว้ในบัญชีรายชื่อสัตว์ที่ถูกคุกคาม
ในรายงานยังเสนอต่อไปอีกว่า การปรับปรุงข้อบังคับทางกฎหมายในพื้นที่คุ้มครองถือเป็นเรื่องสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพของประชากรสัตว์ป่า เพราะพื้นที่ป่ามีความเสื่อมโทรมในระดับรุนแรง จำเป็นต้องทำการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ เพื่อให้ป่ายังสามารถเป็นที่อยู่อาศัยแก่สัตว์ป่าได้
อ้างอิง CNN, Scientists discover new endangered primate species, with only 260 left