ผู้ป้องกันหรือผู้ก่อมลพิษ? ผลกระทบของขยะพลาสติกจาก COVID-19

ผู้ป้องกันหรือผู้ก่อมลพิษ? ผลกระทบของขยะพลาสติกจาก COVID-19

ความต้องการใช้พลาสติกนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งหน้ากาก ถุงมือ ถุงพลาสติก และอุปกรณ์ป้องกันเชื้ออื่น ๆ สิ่งที่ชัดเจนคือพลาสติกมีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของเชื้อโรค

  1. พลาสติกมีบทบาทสำคัญในการปกป้องผู้คนโดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขในช่วงการระบาดของ COVID-19
  2. ผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวกับการจัดการขยะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อ
  3. ผู้ผลิตต่าง ๆ กำลังคิดทบทวนแผนการรีไซเคิล และข้อผูกมัดด้านมาตรการความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมเมื่อต้องเผชิญกับปัญหาใหญ่ทางเศรษฐกิจในขณะนี้
  4. การเพิ่มขึ้นของการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ส่งผลกระทบระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อม

ในสถานการณ์ปัจจุบันพลาสติกนั้นสามารถนำไปใช้ได้อย่างหลากหลาย และมีราคาไม่แพง ทำให้ถูกเลือกใช้เป็นวัสดุในการทำอุปกรณ์ส่วนใหญ่สำหรับการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทั้ง อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์สำหรับป้องกันเชื้อส่วนบุคคล บริษัทต่าง ๆ ก็ได้หันมาทำการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้มากขึ้นด้วย เช่น แบรนด์รถหรูอย่าง Ferrari ได้หันมาผลิตชิ้นส่วนพลาสติกสำหรับวาล์วของเครื่องช่วยหายใจ และแบรนด์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง Apple ได้ทำการผลิต face shield จากพลาสติกสำหรับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์กว่า 1 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์

เหมือนว่าจะเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่พลาสติกสามารถช่วยเราในการรับมือกับ COVID-19 ได้ แต่ในทางกลับกัน ในอีกด้านหนึ่งหลังจากที่อุปกรณ์พลาสติกเหล่านี้หมดอายุการใช้งานของมันแล้ว มันก็จะกลายเป็นขยะพลาสติกจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับผู้ที่ปฏิบัติงานในด้านการจัดการกับขยะ วิธีการจัดการทั้งการรวบรวม และทำลายขยะติดเชื้อเหล่านี้ดีพอแล้วหรือยัง? ขยะติดเชื้อสามารถนำกลับไปใช้ประโยชน์ได้เหมือนขยะปกติหรือไม่? เรายังจะสามารถทำตามเป้าหมายเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ใช้ทรัพยากรยั่งยืนได้อยู่หรือเปล่า? และผู้คนจะสามารถดำเนินชีวิตในรูปแบบใหม่นี้ได้หรือไม่?

ผู้ที่ทำงานนอกระบบมีความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านแยกขยะ

ผู้ทำงานคัดแยกขยะเป็นผู้เล่นที่มีบทบาทสำคัญ ในกระบวนการจัดการขยะที่ทำให้บ้านเมืองมีความสะอาด ถูกสุขลักษณะ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น ในอินโดนีเซีย นักเก็บขยะที่เป็นอาชีพอิสระ สามารถรวบรวมขยะพลาสติกได้ถึง 1 ล้านตันต่อปี และ 70% ของปริมาณดังกล่าวถูกนำไปรีไซเคิลอย่างเหมาะสม แต่ในสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ทำให้ผู้ที่ทำอาชีพนี้ต้องรับมือกับความเสี่ยงที่มากขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทั้งความไม่มั่นคงทางการเงิน จากเศรษฐกิจที่ทรุดตัว และความเสี่ยงในด้านสุขอนามัยจากขยะที่พวกเขาต้องคัดแยกที่มีโอกาสจะเจอขยะติดเชื้อปะปนมาด้วยสูงขึ้น

สหภาพคนเก็บขยะแห่งอินโดนีเซียหรือ IPI (Ikatan Pemulung Indonesia) ซึ่งมีสมาชิกในสหภาพเป็นผู้ทำอาชีพคนเก็บขยะอยู่ถึง 3.7 ล้านคน โดย Pris Polly ประธานของสหภาพได้กล่าวว่า “ผู้ที่ทำอาชีพเก็บขยะจำเป็นต้องทำงานเก็บขยะต่อไป เพราะถ้าพวกเราไม่ทำงานก็จะไม่สามารถเลี้ยงปากเลี้ยงท้องได้ งานที่พวกเราทำไม่มีสวัสดิการ เราไม่สามารถ work from home ได้เหมือนอาชีพอื่น ๆ และที่สำคัญพวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้มีเงินออมมากพอไว้ใช้ในยามฉุกเฉินเหมือนคนอื่น ๆ”

Partner เอกชนต่าง ๆ ได้ให้การสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับผู้คัดแยกขยะ เช่น บริษัท Unilever สนับสนุนสบู่สำหรับทำความสะอาด และ PAM Jaya บริษัทผลิตน้ำประปาได้ช่วยจัดหาหน้ากากอนามัย และอุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดมือ

เมื่อมองภาพรวมรัฐบาล และภาคธุรกิจควรจะต้องสร้างระบบการสนับสนุนผู้คัดแยกขยะที่มีความชัดเจน และความละเอียดรอบคอบ ในช่วงการระบาดของ COVID-19 โดยช่วยเหลือในด้านการจัดหาอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล จัดทำระบบให้พวกเขาสามารถเข้าถึงปัจจัย 4 ได้อย่างครบถ้วน และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการเข้าถึงในด้านการดูแลสุขภาพ

บริษัทต่าง ๆ กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจที่ยากลำบากระหว่างผลกำไรกับการลดการใช้พลาสติก

การลดลงของราคาน้ำมันโลกทำให้ต้นทุนในการผลิตพลาสติกใหม่นั้นลดลงตามไปด้วย ซึ่งสวนทางกับต้นทุนของพลาสติกรีไซเคิลที่เพิ่มขึ้นจากขั้นตอน และอุปกรณ์สำหรับการรับมือกับ COVID-19 บริษัทต่าง ๆ กำลังตัดสินใจอย่างหนักว่าการรีไซเคิลยังคงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ บริษัทอาจจะต้องลดการทำตามมาตรการการลดการใช้พลาสติกใหม่ และมาตรการการหันมาใช้วัสดุทดแทนจากพลาสติกรีไซเคิล ซึ่งนั่นอาจทำให้เราเห็นการกลับมาผลิตพลาสติกใหม่ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็จะทำให้มีขยะพลาสติกที่มากขึ้น และไปเพิ่มภาระให้กับระบบการจัดการขยะของโลกที่ยังไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

ในตอนนี้อุตสาหกรรมรีไซเคิลก็ได้รับผลกระทบทางการเงินเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการล็อคดาวน์และมาตรการทางสังคมต่าง ๆ ทำให้ความสามารถในการดำเนินงานหลาย ๆ ด้านถูกจำกัด แต่ก็มีการคาดการณ์บางแบบที่ชี้ให้เห็นถึงการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการรีไซเคิลขยะ หลังจากการปลดล็อคดาวน์ให้กลับมาปฏิบัติงานได้อย่างเต็มที่ และจากข้อมูลนั้นมาตรการล็อคดาวน์ทำให้มีขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นจำนวนมากซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่ออุตสาหกรรมรีไซเคิลขยะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องรอดูสถานการณ์ในอนาคตเพื่อการพัฒนาระบบ และมาตรการอย่างใกล้ชิดด้วย

Photo: REUTERS/Alessandro Garofalo

สาเหตุที่พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปัจจุบันเป็นที่เข้าใจได้ แต่ก็ห้ามลืมคิดถึงผลกระทบในระยะยาวด้วย

รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นหนึ่งในรัฐล่าสุดที่สั่งห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ในขณะที่นิวยอร์กนิวเจอร์ซีย์ และสหราชอาณาจักรได้เลื่อนการสั่งห้ามออกไปใช้จากกำหนดการในปีนี้ มาตรการเลื่อนการสั่งห้ามถูกนำมาใช้โดยมีข้อสันนิษฐานว่าวัสดุพลาสติกมีโอกาสน้อยที่จะเป็นตัวกลางนำพาเชื้อไวรัส แต่งานวิจัยนั้นให้คำตอบตรงกันข้าม การศึกษาเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาพบว่าไวรัสสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน 24 ชั่วโมงบนกระดาษ กระดาษลัง และผ้า แต่สามารถอยู่ได้นานถึง 72 ชั่วโมงบนพลาสติก และพื้นผิวของแข็งที่เรียบเนียนอื่น ๆ 

การยอมรับว่าเราจะต้องใช้ชีวิตอยู่กับความเป็นจริงรูปแบบใหม่ที่ไม่คุ้นเคย ทุกคนบนโลกกำลังประสบกับการเปลี่ยนแปลงที่ยากแต่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและบริโภค เพื่อประโยชน์ด้านความปลอดภัย และความเป็นอยู่ที่ดีของทุกคน

นอกจากคำสั่งปิดทำการชั่วคราวของร้านอาหาร และร้านค้าต่าง ๆ รัฐบาลของแต่ละประเทศยังได้ออกคำสั่งให้ประชาชนกักตัวเองอยู่ในบ้านด้วย จึงทำให้ประชาชนจำนวนมากใช้วิธีการสั่งซื้ออาหาร และของชำผ่านช่องทางออนไลน์ และเปลี่ยนไปใช้เครื่องใช้แบบใช้แล้วทิ้งเพื่อความสะดวก และความปลอดภัยจากโรค

การจัดการกับการเพิ่มขึ้นของขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว จะกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับรัฐบาลของหลาย ๆ ประเทศอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่งที่มีการจัดการขยะอย่างไม่เหมาะสมทำให้ขยะต่าง ๆ สามารถรั่วไหลลงสู่แม่น้ำ และมหาสมุทรได้ ซึ่งอาจจะทำให้เกิดวิกฤตการณ์ทางด้านสาธารณสุขครั้งใหม่ได้

COVID-19 ได้แสดงให้เห็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมลภาวะพลาสติกที่ถูกกองสุมมาหลายสิบปี

ในขณะที่เรากำลังทำความคุ้นชินความเป็นจริงรูปแบบใหม่นี้ ผู้บริโภคทั่วโลกควรจะเริ่มปรับเปลี่ยนความคิดเกี่ยวกับมลพิษพลาสติก มันเป็นวิกฤตทางสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง และเราสามารถหยุดมันได้ในตอนนี้ถ้าเราต้องการจะทำ เพื่อนำไปสู่อนาคตที่สะอาด และยั่งยืนมากขึ้น เช่น

  1. ใช้ผลิตภัณฑ์ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ และเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
  2. สนับสนุนร้านค้าที่เราสามารถนำภาชนะของเราไปซื้อผลิตภัณฑ์ของเค้าได้โดยตรง (refill model) ซึ่งไม่เพียงรองรับธุรกิจขนาดเล็ก แต่ยังลดการใช้พลาสติกได้อย่างมาก
  3. ทำการคัดแยกขยะของตัวเองให้ถูกประเภท และทิ้งอย่างมีความรับผิดชอบ ไม่ทิ้งไว้ในที่สาธารณะ
  4. สนับสนุนให้ภาคธุรกิจทำข้อตกลงในการลดขยะพลาสติก และส่งเสริมให้พวกเขามองเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว
  5. เผยแพร่แนวคิดของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นที่นิยม ซึ่งจะช่วยลดโอกาสที่ขยะจะหลุดออกไปสู่แม่น้ำ มหาสมุทร และธรรมชาติของเรา ผ่านหลักการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล

 

 


ภาพเปิดเรื่อง: REUTERS/Eloy Alonso
ถอดความและเรียบเรียงจาก Protector or polluter? The impact of COVID-19 on the movement to end plastic waste
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร