นักวิจัยเตือน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึง

นักวิจัยเตือน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึง

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์เตือนว่า หากเกษตรกรชาวอินเดียที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำนำวิธีการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพสูงกว่ามาใช้โดยลดการคายน้ำจากพื้นที่เกษตร เกษตรกรในแอฟริกาตะวันออกอาจเจอกับฝนตกที่น้อยลง ทำให้ภัยแล้งรุนแรงขึ้นภายใน 5 ปี

งานวิจัยซึ่งเผยแพร่ในวารสาร Nature Sustainability นักวิจัยจากสหรัฐอเมริกา สวีเดน และออสเตรเลียระบุว่าความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบถึงการผลิตอาหารและการดำรงชีวิต

พวกเขาเรียกร้องให้มีการดำเนินการในระดับโลกเพื่อคำนวณและทำความเข้าใจความเสี่ยงดังกล่าว เพื่อนำไปสู่แนวคิดใหม่ว่าจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างไร

ตัวอย่างเช่น การระเหยของน้ำและการไหลของความชื้นจากพื้นที่ชลประทานเพื่อการเพาะปลูกในอินเดีย เป็นต้นทางของการเกิดฝนตกในแอฟริกาตะวันออกราวร้อยละ 40 อ้างอิงจากงานวิจัยฉบับดังกล่าว

“หากชุมชนในอินเดียเริ่มนำวิธีปฏิบัติทางการเกษตรที่ยั่งยืนมาใช้มากขึ้น (ลดการใช้น้ำจากชลประทานและน้ำใต้ดิน) อาจทำให้เกษตรกรและผู้เลี้ยงสัตว์ในทวีปแอฟริกาต้องทนทุกข์” ซึ่งในรายงานระบุว่าเป็น “ความย้อนแย้งที่ละเอียดอ่อน (a delicate dilemma)”

“หากปริมาณฝนตกลดลงในเดือนที่สำคัญของทวีปแอฟริกาตะวันออก ย่อมส่งผลให้เกิดการอพยพและกระทบต่อการดำรงชีพ” นาธาเนียล แมทธิวส์ (Nathaniel Matthews) หนึ่งในคณะวิจัยและผู้อำนวยการโครงการ Global Resilience Partnership ในกรุงสต็อกโฮล์ม ประเทศสวีเดน ระบุ “คุณอาจพบเห็นแปลงเกษตรล่ม และอาจนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพทางการเมือง ประเด็นเหล่านี้คือผลกระทบที่ยากจะคาดถึง” เขาให้สัมภาษณ์กับ Thomson Reuters Foundation ทางโทรศัพท์

“นี่อาจเป็นไปได้ว่าจะเกิดในอีก 5 ปีข้างหน้า เราเริ่มเห็นภาวะภัยแล้งรุนแรงในอินเดียตอนนี้” เขากล่าวเสริม

ความเชื่อมโยงที่คาดไม่ถึงเหล่านี้มีการรับรู้และความเข้าใจน้อยมาก แต่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนำมาคิดคำนึงหากโลกต้องการเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบรุนแรงในอนาคต แพททริค คียส์ (Patrick Keys) ผู้นำคณะวิจัยให้สัมภาษณ์เพิ่มเติม “การใช้ทรัพยากรของมนุษยชาติจากดาวเคราะห์ใบนี้ทำให้เราจำเป็นต้องเปลี่ยกระบวนคิดใหม่ในเรื่องความเสี่ยงทางสิ่งแวดล้อม” แพททริค คียส์ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Colorado State ให้สัมภาษณ์

“การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมอย่างรวดเร็วจะกระทบเราทุกคน และจากความเร็วของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนที่จะทำความเข้าใจเพื่อให้เราสามารถตอบสนองอย่างถูกต้องและไตร่ตรองให้รอบด้าน” เขากล่าวเสริม

 

ความเสี่ยงตั้งแต่เอเชียถึงแอฟริกา

ความเสี่ยงอีกประการหนึ่งซึ่งคณะวิจัยกล่าวถึงคือการเพิ่มขึ้นของการเลี้ยงสัตว์น้ำ จากการกระตุ้นของภาครัฐและนักวิจัยหลายกลุ่มว่าเป็นหนทางแก้ปัญหาการประมงเกินขนาดในมหาสมุทรของโลกและเป็นแหล่งโปรตีนจากสัตว์ที่สำคัญ

งานวิจัยข้างต้นระบุว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการเลี้ยงสัตว์น้ำอาจเป็นภัยคุกคามต่ออนาคต เพราะการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำเป็นสาเหตุหนึ่งของการถางทำลายป่าชายเลน ก่อให้กเดิมลภาวะ กระจายโรคภัย และลดความแข็งแกร่งของชนิดพันธุ์ในธรรมชาติ

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และบางส่วนของฟิลิปปินส์ มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ภัยคุกคามต่ออุตสาหกรรมดังกล่าวอาจส่งให้ประชาชนหลายชีวิตต้องตกงานและสูญเสียรายได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า นาธาเนียล แมทธิวส์ระบุ

ในขณะเดียวกัน ซาเฮล (Sahel) ภูมิภาคแล้งจัดทางตะวันตกของแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมก่อนเข้าสู่ทะเลทรายสะฮารา เผชิญกับความเสี่ยงในระยะยาวเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิซึ่งอาจทำให้สัตว์และพืชไม่สามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวได้อีกต่อไป

พื้นที่ทะเลทรายอาจขยายตัวไปด้านล่าง อุณหภูมิที่สูงขึ้นทั้งตอนกลางวันและกลางคืนย่อมทำให้ผลิตผลอย่างข้าวฟ่างย่ำแย่ลง “สังคมในอนาคตมีทางเลือกคือนำเข้าชนิดพันธุ์ที่ทนความร้อน พัฒนาชนิดพันธุ์ใหม่ หรือเปลี่ยนประเภทพืชพรรณเพาะปลูก แม้กระทั่งการทิ้งพื้นที่เกษตรนั่นไปเลย” งานวิจัยเน้นย้ำ

ปัจจุบัน ซาเฮลคือภูมิภาคที่ยากจนที่ลดและเสี่ยงจะถูกโจมตีโดยกองกำลังทหารซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่มอัลกออิดะฮ์ และกลุ่มรัฐอิสลาม เช่นเดียวกับความรุนแรงในชุมชนซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลง

แพททริค คียส์ กล่าวว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะไม่นำไปสู่สถานการณ์ที่ย่ำแย่โดยอัตโนมัติ แต่ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะ “เน้นย้ำและแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของความเชื่อมโยงที่คาดไม่ถึงซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงสู่บางอย่างซึ่งแม้แต่เราก็ไม่มั่นใจว่ามันจะเป็นไปได้”

 

ถอดความและเรียบเรียงจาก Researchers warn of ‘unexpected implications’ as climate risks converge
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์