เวียดนามเป็นประเทศที่เสพติดถ่านหิน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เวียดนามเติบโตเฉลี่ยปีละราว 6 เปอร์เซ็นต์ นับว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่เติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไรก็ดี การเติบโตนั้นมีถ่านหินซึ่งสร้างมลภาวะต่อโลกเป็นเชื้อเพลิง
เดือนเมษายนที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในเวียดนามเริ่มเป็นที่จับตามอง หลังจากที่ Nguy Thi Khanh นักกิจกรรมชาวเวียดนามที่เคลื่อนไหวรณรงค์ให้เวียดนามหยุดพึ่งพิงถ่านหิน และมองหาทางเลือกที่สะอาดกว่า ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize สำหรับนักรณรงค์ระดับรากหญ้า โดยเธอเป็นชาวเวียดนามคนแรกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว
ประเทศที่สร้างจากถ่านหิน
ด้วยจำนวนประชากรที่ใกล้เคียงกับประเทศเยอรมัน เวียดนามกำลังเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจตัวเองไปตามแผนของรัฐบาลกลางที่ต้องการสร้างรายได้จากการผลิตสินค้าและบริการจากอุตสาหกรรมไฮเทค สินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของเวียดนามคืออุปกรณ์รับและส่งสัญญาณ แผงวงจร และคอมพิวเตอร์ และเพื่อทำให้ฝันกลายเป็นจริง ความต้องการไฟฟ้าย่อมต้องเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว โดยมีอัตราดารเติบโตถึงร้อยละ 12 ต่อปี แสดงให้เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นเกิดจากการใช้พลังงานอย่างเข้มข้น
รัฐบาลเวียดนามได้ทำการแก้ไขแผนพัฒนาพลังงาน โดยคาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ เวียดนามมีอัตราการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหัวเพิ่มขึ้น 5 เท่าตั้งแต่ พ.ศ. 2533 ถึง 2556 ในขณะเดียวกัน สภาวะโลกร้อนก็เป็นภัยคุกคามสำคัญของเวียดนาม เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นนั้น จะทำให้พื้นที่ปากแม่น้ำโขงจมลงอยู่ใต้ทะเลไปกว่าครึ่งและสูญเสียผลผลิตข้าวไปราวร้อยละ 40 พื้นที่ดังกล่าวเปรียบเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำ แหล่งผลิตอาหารสำคัญของเวียดนาม
ประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย จีน และอินเดีย เปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งใหม่ส่วนใหญ่ในโลกถูกสร้างขึ้นในประเทศดังกล่าว ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติของเวียดนาม พลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินจะเพิ่มขึ้น 5 เท่าภายในปี พ.ศ. 2573 และทำให้ปริมาณการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นอย่างมาก เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอย่างยิ่ง เนื่องจากประเทศเวียดนามคือหนึ่งในประเทศที่ลงนามในข้อตกลงปารีส และตั้งเป้าว่าจะลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ร้อยละ 8 ภายในพ.ศ. 2573 โดยคาดว่าจะลดได้ถึงร้อยละ 25 หากได้รับการสนับสนุนด้านพลังงานหมุนเวียนจากนานาชาติ
การศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินในเวียดนามเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากกว่าที่ใดในภูมิภาคเอเชีย โดยคุณภาพอากาศในเมืองของเวียดนามนั่นย่ำแย่ในระดับเดียวกับปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อปีที่ผ่านมา ฮานอยมีวันฟ้าใสอากาศดีเพียง 38 วันจากตลอดทั้งปี ส่วนที่เหลือต้องเผชิญกับการปนเปื้อนราว 4 เท่าของระดับมลภาวะที่รับได้ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก
จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากชาวเวียดนามจะลุกขึ้นมาต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดยักษ์ Long An Power Center ไม่ไกลจากเมืองโฮจิมินฮ์ การเรียกร้องดังกล่าวมีกระแสรุนแรงมากจนแม้แต่สื่อซึ่งถูกเซ็นเซอร์โดยรัฐบาลเวียดนามยังต้องรายงาน
ต้องปรับทัศนคติ
Nguy Thi Khanh นักกิจกรรมชาวเวียดนามวัย 42 ปีเป็นผู้ร่วมก่อตั้งศูนย์นวัตกรรมและการพัฒนาสีเขียว (Green Innovation and Development Centre: GreenID) องค์กรภาคเอกชนที่มุ่งนำเสนอความเป็นไปได้ของพลังงานหมุนเวียนในเวียดนาม การที่เธอได้รับรางวัลดังกล่าวย่อมสร้างแรงดึงดูดเงินสนับสนุนเพื่อภารกิจในการลดสัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในเวียดนาม
ตั้งแต่วัยเด็ก เธอเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยตรง เนื่องจากบ้านเกิดของเธอนั้นคือที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ปล่อยมลภาวะและนำไปสู่อัตราการเป็นมะเร็งที่สูงอย่างผิดปกติ เธอคือหนึ่งในผู้ผลักดันในการแก้ไขปัญหาหลังจากเกิดวิกฤตการณ์เกี่ยวกับถ่านหิน และยังนำเสนอข้อความจริงผ่านโทรทัศน์ รางวัลที่เธอได้รับกล่าวยกย่องเธอว่า “Nguy Thi Khanh ใช้ข้อถกเถียงที่เป็นวิทยาศาสตร์เพื่อแสดงให้เห็นว่าถ่านหินนั้นเป็นแหล่งพลังงานราคาแพงและมีความเสี่ยงมากเพียงใด”
รายงานจากองค์กร GreenID ระบุว่าเวียดนามควรปรับแผนพัฒนาพลังงานในปัจจุบัน โดยเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และลดสัดส่วนของถ่านหินจากร้อยละ 52 ให้เหลือร้อยละ 43 โดยเวียดนามในปัจจุบันนับว่าเป็นผู้นำด้านพลังงานน้ำ มีสัดส่วนไฟฟ้าจากพลังงานน้ำคิดเป็นร้อยละ 45 แต่เธอและผู้เชี่ยวชาญหลายคนต่างก็เห็นตรงกันว่าพลังงานน้ำได้ถึงทางตัน เนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่มีต้นทุนความหลากหลายทางชีวภาพจำนวนมหาศาล
ปัจจุบัน งานของเธอคือผลักดันเพื่อให้รัฐบาลปรับปรุงแผนพัฒนาพลังงานฉบับ พ.ศ. 2563 ที่ยังไม่ประกาศใช้ เธอใช้การวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อประเมินว่าหากรัฐบาลยังเดินหน้าในเส้นทางเดิม เวียดนามจะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ภายใน พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ GreenID ยังแสดงการคำนวณให้เห็นว่าการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนนั้นคุ้มค่ากว่าถ่านหินมาก หากนำต้นทุนทางสุขภาพมาใช้ในการคำนวณ
“อนาคตด้านพลังงานเวียดนามกำลังมาถึงทางแยกที่สำคัญอย่างยิ่ง” Nguy Thi Khanh ให้สัมภาษณ์ในงานรับรางวัล Goldman Environmental Prize
การตัดสินใจหลังจากนี้ว่าจะลงทุนในโครงการไหนจะส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศของเวียดนามและของโลกในทศวรรษหน้า การเคลื่อนไหวของเราคือต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศ และบริษัทหยุดลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับถ่านหินในเวียดนาม และช่วยสนับสนุนให้เรามุ่งหน้าไปยังเส้นทางคาร์บอนต่ำ