ปัญหาขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งกลายเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากประเทศไทยประกาศล็อคดาวน์ซึ่งทำให้บริการส่งอาหารถึงบ้านกลายเป็นที่ต้องการอีกครั้ง นับเป็นการก้าวถอยหลังในแง่ความพยายามของทั้งประเทศที่จะลดปัญหาขยะพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
การปนเปื้อนของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อมของไทยส่งผลต่อทั้งพะยูน เต่าทะเล ไปจนถึงเหล่าแมวน้ำที่กลับมาเยือนชายหาดที่ครั้งหนึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว
ส่วนในพื้นที่เมือง บรรจุภัณฑ์อาหาร ช้อนส้อม และถุงพลาสติกก็เป็นตัวการขัดขวางเส้นทางระบายน้ำ หลุดรอดไปยังคลองและแม่น้ำ เนื่องจากเหล่าคนเมืองต้องอยู่บ้านและใช้บริการเดลิเวอรีเพราะมาตรการล็อคดาวน์
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ประธานสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยระบุว่า ปริมาณขยะในเขตเมืองเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าระหว่างเดือนมกราคมถึงมีนาคมหากเทียบกับเมื่อปีที่ผ่านมา เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ปริมาณขยะก็เพิ่มสูงขึ้นถึง 62 เปอร์เซ็นต์ในเดือนเมษายน เขากล่าวว่า “สถานการณ์ในปัจจุบันถือว่าน่ากังวลอย่างยิ่ง”
ในโครงข่ายคลองของกรุงเทพฯ เหล่าเทศกิจต้องหยิบขวด ถุง และบรรจุภัณฑ์พลาสติกออกจากน้ำครำ “มลภาวะพลาสติกอาจคร่าชีวิตคนไทยมากกว่าโคโรนาไวรัส” ระริน สถิตธนาสาร นักสิ่งแวดล้อมวัย 12 ปีแสดงความเห็น
แนวทางถอนพิษพลาสติก
ข้อมูลจากองค์กรไม่แสวงหากำไร Ocean Conservancy ระบุว่าประเทศไทย รวมถึงเพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ จีน และเวียดนาม คือต้นทางของขยะพลาสติกกว่าครึ่งหนึ่งในมหาสมุทรของโลก แต่ในปีที่ผ่านมา กลุ่มประเทศเหล่านี้ต่างให้ค่ำมั่นสัญญาหรือออกกฎระเบียนใหม่ที่ห้ามไม่ให้มีการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือสิ่งของใช้แล้วทิ้งอื่นๆ
ประเทศไทยประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในซุปเปอร์มาร์เก็ตและห้างสรรพสินค้าเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านั้น คนไทยหนึ่งคนใช้ถุงพลาสติกราว 8 ใบต่อวันหรือคิดเป็น 12 เท่าตัวของประชาชนในสหภาพยุโรป
ขณะที่ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 ได้แบบไม่เจ็บหนัก โดยพบผู้ติดเชื้อราวสามพันคน และมีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า 60 คน แต่ความหวาดกลัวการติดเชื้อโควิด-19 ทำให้การใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งกลับมาระบาดอีกครั้ง ความปกติใหม่มาพร้อมกับการใช้พลาสติกที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นช้อนส้อมในถุงพลาสติกที่ผ่านการฆ่าเชื้อ รวมถึงเครื่องปรุงต่างๆ ที่ใส่มาในถุงซิปล็อค
“พลาสติก (ที่เพิ่มขึ้น) ส่วนใหญ่จะจบชีวิตลงในแม่น้ำหรือมหาสมุทร” ธารา บัวคำศรี จากกรีนพีซ ประเทศไทย แสดงความเห็นพร้อมทั้งระบุว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้เน้นย้ำอย่างโหดร้ายถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบจัดการขยะที่ดีกว่าเดิม ซึ่งข้อมูลล่าสุดระบุว่าประเทศไทยรีไซเคิลพลาสติกเพียง 19 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมดราวสองล้านตันในปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยตั้งเป้าหมายรีไซเคิลพลาสติกที่ใช้ในชีวิตประจำวันทั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ภายใน พ.ศ. 2570
ส่วนประเทศขนาดใหญ่อีก 4 แห่งของภูมิภาคอาเซียนยังไม่มีการประกาศตัวเลขขยะพลาสติกใช้แล้วทิ้งในช่วงเวลาของการระบาด แต่ในบางเมืองใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นก็มีการรายงานว่าขยะพลาสติกเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นจะมีอัตราการรีไซเคิลที่สูงกว่ามาก
ด้วยความกังวลว่าประชาชนไทยจะเสพติดการใช้พลาสติก ภาคประชาสังคมจึงรณรงค์ให้มีการหยุดใช้พลาสติกอีกครั้ง เช่น ในภาคเหนือของประเทศไทย นักวิชาการอย่างอาจารย์เวชสวรรค์ หล้ากาศจากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ นำทีมสร้างถนนโดยการใช้พลาสติกผสมกับทรายซึ่งวัสดุดังกล่าวนอกจากจะน้ำหนักเบาทำให้ง่ายต่อการขนส่งแล้ว ยังมีอายุการใช้งานยาวนานถึง 400 ปีก่อนที่จะย่อยสลาย
เขาได้รับแรงบันดาลใจหลังกลับจากเดินทางท่องเที่ยวชายหาดกับลูกชายสองคน แล้วพบว่าในทะเลมีแต่ขยะพลาสติก แต่ผลประโยชน์เล็กน้อยเหล่านี้อาจไม่มีทางเทียบได้เลยกับอุตสาหกรรมพลาสติกขนาดยักษ์ในประเทศไทย ซึ่งเขามองว่าต้องใช้การเมืองนำในการเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค รวมถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ
“เนื่องจากอำนาจต่อรองของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี คงเป็นเรื่องยากที่รัฐบาลจะใช้นโยบายขั้นเด็ดขาด ส่วนการเปลี่ยนวิธีคิดของประชาชนนั้นก็อาจใช้เวลาหลายปี” เขากล่าวสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก Food deliveries add to Thai plastic headache
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์