ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายเร็วขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียงสองทศวรรษ

ธารน้ำแข็งทั่วโลกละลายเร็วขึ้น 2 เท่าในเวลาเพียงสองทศวรรษ

การศึกษาแม่น้ำน้ำแข็งทั่วโลกพบว่าอัตราเร็วการละลายของธารน้ำแข็งเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น และเป็นปัญหาที่เร่งด่วนกว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งในกรีนแลนด์และแอนตาร์กติก

.
นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วิกฤติโลกร้อนคือสาเหตุเบื้องหลังการสูญเสียธารน้ำแข็งที่รวดเร็วขึ้นบริเวณพื้นที่สูงและพื้นที่ใกล้ซีกโลกเหนือและใต้ ส่งผลต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลกและก่อให้เกิดวัฎจักรที่ผิดปกติจากกระแสน้ำที่ละลายจากธารน้ำแข็งซึ่งไม่ต่างจาก ‘อาคารเก็บน้ำตามธรรมชาติ’ กระทบต่อประชากรหลายล้านคนผู้อาศัยอยู่ปลายน้ำ

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature พบว่า ระหว่าง พ.ศ. 2543 ถึง 2562 ธารน้ำแข็งสูญเสียน้ำแข็ง 267 กิกะตันต่อปีเทียบเท่ากับ 21 เปอร์เซ็นต์ของระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คณะวิจัยเขียนเปรียบเทียบว่าระดับน้ำที่หายไปนั้น ทำให้ท่วมเกาะอังกฤษทั้งเกาะด้วยความสูงถึง 2 เมตร

ตัวเลขการละลายของธารน้ำแข็งส่งผลให้น้ำทะเลสูงขึ้นมากกว่าการละลายของแผ่นน้ำแข็งกรีนแลนด์และแอนตาร์กติก เป็นรองเพียงสาเหตุอันดับหนึ่งที่ทำให้น้ำทะเลสูงขึ้นคือการขยายตัวของโมเลกุลน้ำเนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น

คณะวิจัยพบว่า การสูญเสียมวลของธารน้ำแข็งทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากราว 30 เซนติเมตรต่อปีใน พ.ศ. 2543 เป็นราว 60 เซนติเมตรต่อปีใน พ.ศ. 2562 เทียบเท่ากับการเพิ่มขึ้น 62 กิกะตันต่อปีในหนึ่งทศวรรษ การศึกษาชิ้นดังกล่าวใช้ข้อมูลจากดาวเทียมขององค์การนาซ่า และวิธีทางสถิติเพื่อสร้างระบบพิกัดภูมิศาสตร์สามมิติย้อนหลังไป 20 ปี ครอบคลุมธารน้ำแข็ง 99.9 เปอร์เซ็นต์ทั่วโลก ผลลัพธ์ที่ได้จึงแม่นยำและครบถ้วนที่สุดในการวิเคราะห์ธารน้ำแข็ง 217,175 แห่ง

ที่ผ่านมา การประมาณการอัตราสูญเสียน้ำแข็งจากธารน้ำแข็งนั้นยังมีข้อผิดพลาดอยู่มาก เนื่องจากนักวิจัยต้องเทียบข้อมูลโดยเก็บตัวอย่างจากธารน้ำแข็งภาคสนามไม่กี่ร้อยแห่ง ประกอบการภาพถ่ายดาวเทียมที่ไม่ครบถ้วนทำให้ได้ผลลัพธ์ที่ค่อนข้างหยาบ กระทั่งงานวิจัยชิ้นล่าสุดซึ่งใช้ข้อมูลที่แม่นยำมากขึ้นผนวกกับวิธีทางสถิติสมัยใหม่จึงได้ผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือกว่า

โดยเฉลี่ยแล้ว ธารน้ำแข็งจะสูญเสียมวลน้ำราว 4 เปอร์เซ็นต์ตลอด 20 ปี แต่ตัวเลขดังกล่าวแตกต่างกันไปตามแต่ละภูมิภาค ธารน้ำแข็งในอะแลสกาคิดเป็นสัดส่วนถึง 25 เปอร์เซ็นต์ของการสูญเสียมวลของธารน้ำแข็งทั้งหมด ขณะที่ธารน้ำแข็งโดยรอบกรีนแลนด์คิดเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ ส่วนธารน้ำแข็งบนยอดเขาหิมาลัย และเทือกเขาสูงต่างๆ ในเอเชียคิดเป็นราว 8 เปอร์เซ็นต์
.

เทือกเขาหิมาลัย l Photo kenichi okajima จาก Pixabay

.
แม้ว่าธารน้ำแข็งขนาดเล็กซึ่งอยู่ในพื้นที่ต่ำอาจไม่ได้ส่งผลมากนักต่อระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น แต่ธารน้ำแข็งเหล่านี้คือกลุ่มที่เปราะบางที่สุด เช่น ธารน้ำแข็งในนิวซีแลนด์ที่ละลายเร็วขึ้นถึง 7 เท่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา

Romain Hugonnet ผู้นำทีมวิจัยจาก University of Toulouse ระบุว่าข้อมูลดังกล่าวเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนที่เร่งด่วน “การสูญเสียมวลธารน้ำแข็งที่เร็วขึ้น 2 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 20 ปีบอกกับเราว่าถึงเวลาเปลี่ยนวิถีชีวิตและเราต้องดำเนินการเดี๋ยวนี้” เขากล่าว “มันอาจเป็นเรื่องยากที่จะทำให้สาธารณชนเข้าใจว่าทำไมธารน้ำแข็งจึงสำคัญ เนื่องจากมันเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่ความจริงแล้วเรื่องนี้กระทบอย่างมากต่อวัฎจักรน้ำ อาทิ อุทกศาสตร์ในระดับภูมิภาค เพราะการเปลี่ยนแปลงที่เร็วเกินไปอาจส่งผลให้ระบบนิเวศปลายน้ำพังทลาย”

สิ่งที่เขากังวลที่สุดคือธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูงในแถบเอเชีย ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำแยงซี แม่น้ำโขง แม่น้ำสาละวิน และแม่น้ำพรหมบุตรซึ่งประชากรปลายน้ำจำนวนมหาศาลต้องพึ่งพาอาศัย งานวิจัยชิ้นนี้เสนอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายออกแบบนโยบายเตรียมพร้อมกับปรับตัวของประชากรปลายน้ำซึ่งอาจเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำหรือความไม่มั่นคงทางอาหารภายในอีก 30 ปีข้างหน้า เช่นเดียวกับประชากรที่อาศัยอยู่ชายฝั่งกว่า 200 ล้านคนก็เผชิญกับภัยคุกคามจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นภายในสิ้นศตวรรษนี้

“จีนและอินเดียกำลังใช้น้ำใต้ดินปริมาณมหาศาลจนใกล้หมด และต้องพึ่งพาน้ำจากแม่น้ำในช่วงฤดูแล้งซึ่งส่วนใหญ่มาจากธารน้ำแข็ง วิถีนี้ยังคงอยู่ได้อีกไม่กี่ทศวรรษเพราะธารน้ำแข็งยังคงมีให้ละลายและทำให้แม่น้ำยังคงมีน้ำไหลซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ประชากรขาดแคลนน้ำ แต่เมื่อธารน้ำแข็งหายไปทุกอย่างจะเริ่มดิ่งลงเหว เราจึงต้องเตรียมพร้อมล่วงหน้าสำหรับวิกฤติน้ำและอาหารซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง”

Samuel Nussbaumer ผู้เชี่ยวชาญด้านธารน้ำแข็งจาก University of Zurich แสดงความเห็นว่างานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับงานเฝ้าระวังเรื่องธารน้ำแข็งที่เขาทำงานมาต่อเนื่องหลายทศวรรษ “งานวิจัยชิ้นนี้จะสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะนี่คือครั้งแรกที่ศึกษาธารน้ำแข็งทั่วโลกอย่างครบถ้วน ผลประโยชน์จากข้อมูลชิ้นนี้นับว่ามหาศาล” เขาระบุ “การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในหน้าประวัติศาสตร์ นับเป็นปรากฎการณ์ที่น่าสนใจในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับผมนี่คือเรื่องน่าเศร้า อย่างไรก็ดี ธารน้ำแข็งเป็นระบบนิเวศที่มีพลวัตสูง หากอุณหภูมิลดต่ำลงมันก็สามารถงอกเพิ่มขึ้นมาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือการทำลายล้างของมนุษย์นั้นกว้างและไกลไปถึงพื้นที่ที่แม้แต่มนุษย์ยังไม่เคยสัมผัส”
.


ถอดความและเรียบเรียงจาก Speed at which world’s glaciers are melting has doubled in 20 years

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก