ถึงคอลัมน์ EarthTalk พายุหิมะและน้ำแข็งทั่วสหรัฐอเมริกาไม่ได้หมายความว่าโลกไม่ได้ร้อนขึ้นหรอกหรอ ตั้งแต่เกิดมาฉันไม่เคยเห็นหน้าหนาวที่หนาวแบบนี้มาก่อน! – มาร์ก แฟรงคลิน
หากมองโดยผิวเผิน ก็คงต้องยอมรับว่าหน้าหนาวในสหรัฐรอบนี้โหดร้ายจริงๆ และชาวอเมริกันหลายล้านคนอาจกำลังต้องทนทรมาณกับอากาศหนาวอย่างผิดวิสัย แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าโลกไม่ได้ร้อนขึ้นหลังจากที่เราปล่อยสารพัดแก๊สเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ
องค์การนาซ่า (National Aeronautics and Space Administration: NASA) ระบุว่าปีที่ร้อนที่สุด 10 ปีในประวัติศาสตร์โลกเกิดขึ้ยภายหลัง พ.ศ. 2540 องค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือโนอา (National Oceanic and Atmospheric Administration : NOAA) รายงานว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์รอบ 1,000 ปี และความร้อนดังกล่าวเกิดขึ้นช่วงปลายศตวรรษที่ 19
“คุณบอกอะไรไม่ได้มากนักเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศในภาครวม หากไปยึดติดกับบางวันที่หนาวสุดขั้ว ฤดูกาล หรือปีแต่ละปี” Eoin O’Carroll ระบุในความซึ่งเผยแพร่ใน Christian Science Monitor “เราต้องศึกษาจากแนวโน้มในระยะยาว” Dr. Gavin Schmidt นักภูมิอากาศศาสตร์จากองค์การนาซ่าแสดงความเห็นในทิศทางเดียวกัน
นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า เราต้องแยกให้ได้ระหว่างสภาพลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศ องค์กรโนอานิยามความหมายภูมิอากาศว่าคือค่าเฉลี่ยของสภาพอากาศอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้น เหตุการณ์ผิดปกติ เช่น หน้าหนาวที่โหดร้ายในสหรัฐอเมริกาปีนี้ ไม่ได้หมายความว่าวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อถือ
ในทางกลับกัน เราควรตั้งคำถามว่าสภาะโลกร้อนเป็นสาเหตุให้เกิดสภาพภูมิอากาศดังกล่าวหรือไม่ โดยเฉพาะหน้าหนาวที่รุนแรงขึ้น เช่น ที่เราระบุในคอลัมน์ EarthTalk เมื่อไม่นานมานี้ว่า ปี พ.ศ. 2549 เป็นปีแรกที่ทะเลสาบ Erie ไม่กลายเป็นน้ำแข็งครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ดังกล่าวอาจนำไปสู่ปริมาณหิมะที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากน้ำที่ระเหยจากทะเลสาบจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำในอากาศ
นอกจากนี้ เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็นพายุหิมะ เฮอร์ริเคน หรือภัยแล้ง ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ระบุว่าสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละปีอาจไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าโลกกำลังร้อนขึ้นหรือเย็นลง
แม้แต่บางคนที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังมองว่าความแปรปรวนในฤดูหนาวไม่ได้เป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับสภาวะโลกร้อน เช่น Jimmy Hogan ที่ระบุว่า “หากเราใช้ตัวอย่างครั้งคราวมีเป็นหลักฐานปฏิเสธสภาวะโลกร้อน เราก็ต้องเผชิญกับหลักฐานในลักษณะเดียวกันจากผู้คนที่เชื่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” โดยระบุถึงนักสิ่งแวดล้อมบางกลุ่มที่ยกเอาพายุเฮอร์ริเคนว่าเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่าสภาวะโลกร้อนเป็นความจริง
สิ่งที่เราควรจะต้องจำไว้เสมอคือการเปิดเครื่องปรับอุณหภูมิไม่ว่าจะในหน้าร้อนหรือหน้าหนาว เป็นส่วนหนึ่งคือทำให้เกิดสภาวะโลกร้อนจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล จนกว่าเราจะเปลี่ยนแปลงไปยังแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สภาวะโลกร้อนจึงยังเป็นปัญหา ไม่ว่าอากาศข้างนอกจะร้อนหรือเย็นจนผิดปกติก็ตาม
ถอดความและเรียบเรียงจาก Why Global Warming Can Mean Harsher Winter Weather
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพเปิดเรื่อง นิวยอร์ก (AP Photo/Mary Altaffer)