“ตลาดค้าสัตว์ป่า”แหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี

“ตลาดค้าสัตว์ป่า”แหล่งเพาะเชื้อโรคชั้นดี

ในปี พ.ศ.2546 โลกได้เจอกับโรคซาร์ส โคโรน่าไวรัสชนิดหนึ่งที่ได้สร้างความเสียหายต่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ติดเชื้อ และแม้แต่ผู้ที่ได้รับการรักษาแล้วก็ยังต้องรับมือกับโรคข้างเคียงในระยะยาว เช่น โรคปอด และโรคกระดูกพรุน สาเหตุน่าจะมากจากไวรัสที่ถ่ายทอดจากสัตว์สู่คน โดยคาดว่าแหล่งแพร่ระบาดคือตลาดทางตอนใต้ของประเทศจีน ที่มีชื่อเสียงในด้านการค้าสัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ป่า การติดเชื้อนั้นได้แพร่กระจายไป 29 ประเทศ ใน 5 ทวีป มีผู้ติดเชื้อ 8,098 คน และมีผู้เสียชีวิต 774 คน ทำให้ประเทศจีนสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวไป 16,800 ล้านเหรียญสหรัฐ

การค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศเท่านั้น มันยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของมนุษย์ และเศรษฐกิจของประเทศด้วย และแน่นอนว่าปัญหาไม่ได้อยู่แค่ที่ประเทศจีนเท่านั้น

สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือที่เรารู้จักกันในนามประเทศลาวนั้นแหละ ประเทศที่เป็นบ้านของสัตว์ที่มีความหลากหลายทางชีววิทยาอันน่าทึ่ง ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก หลายสายพันธุ์ที่นี่เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นที่ไม่สามารถพบเจอได้ที่เดียวบนโลกใบนี้ เช่น Muntiacus truongsonensis, Hipposideros khaokhouayensis และ Pseudoryx nghetinhensis เช่นเดียวกับในประเทศจีน ในลาวนั้นมีการค้าสัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ป่าอย่างผิดกฎหมายเป็นจำนวนมาก ขอบเขต และผลกระทบของการค้าขายนี้ถูกเปิดเผยโดยงานวิจัยของ Zoe F. Greatorex และ Sarah H. Olson จากองค์กร WCS (Wildlife Conservation Society)

ขั้นตอนแรกคือการลงพื้นที่สำรวจทั้งหมด 93 ตลาด ใน 15 จาก 17 จังหวัดของประเทศลาว จุดประสงค์เพื่อระบุตำแหน่งว่าตลาดไหนหรือพื้นที่ไหนที่มีการค้าสัตว์ป่า และชิ้นส่วนของสัตว์ป่า การสำรวจนี้ใช้เวลาทั้งหมดถึง 3 ปี โดยนักวิจัยชาวลาว 2 คนที่สามารถแทรกซึมเข้าไปกับฝูงชนได้ง่าย 

จากนั้นนักวิจัยจึงได้สำรวจอย่างละเอียดในปี พ.ศ.2555 ที่ตลาด 44 แห่ง ว่ามีสายพันธุ์ไหนบ้าง และจำนวนเท่าไรในแต่ละสายพันธุ์ที่ถูกขายไป มากไปกว่านั้นนักวิจัยยังได้เก็บข้อมูลของราคาที่สัตว์ป่าถูกขาย ข้อมูลว่าผู้ซื้อมาจากไหน (ได้มาจากการดูป้ายทะเบียนรถ) และความสะอาดของคนขายกับร้านขายเนื้อ (เช่น คนแล่เนื้อล้างมือ และอุปกรณ์หรือไม่ก่อนที่จะแล่เนื้อในแต่ละรอบ)

ขั้นสุดท้ายคือการประเมินศักยภาพการแพร่กระจายของเชื้อโรคจากสัตว์ป่าสู่คน โดยนักวิจัยได้เน้นไปที่ตลาด 7 แห่งที่มีปริมาณการค้าสัตว์ป่าที่สูง โดยใช้ข้อมูลที่เก็บในสองขั้นตอนแรกก่อนหน้านี้ในการศึกษา ในแต่ละตลาดของตลาดทั้ง 7 แห่งนี้มีการขายสัตว์ป่ามากกว่า 100 ตัวต่อวัน อย่างน้อย 4 วันต่อสัปดาห์

มีสัตว์เกือบ 7,000 ตัว ที่พร้อมจะทำการขายในตลาดพวกนี้ น้ำหนักรวมกันมากกว่า 2,000 กิโลกรัม จากการสำรวจขั้นแรกทั้งหมด 93 ตลาด นักวิจัยได้ทำการบันทึกว่ามีสัตว์สำหรับขายกว่า 33,752 ตัว และมีเกือบ 7,000 ตัวที่เป็นสายพันธุ์มีความเสี่ยงกับการสูญพันธุ์ เช่น เต่า กวาง ลิงลม และอื่น ๆ ปริมาณการค้าสัตว์ป่าในระดับนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่นี่ที่เดียว แต่ยังมีในที่อื่น ๆ อีกที่มีความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่า เช่น พม่า จีน และอิเควทอเรียลกินี

แค่เฉพาะสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็ปาเข้าไปถึง 12 วงศ์ในทางชีววิทยาแล้ว ตั้งแต่สัตว์จำพวกหนูจนถึงพวกวานร สายพันธุ์ข้างต้นได้ถูกบันทึกว่ามีความสามารถที่จะแพร่กระจายเชื้อโรคอย่างน้อย 36 โรค เช่น อีโบลา ไข้เลือดออกลาสซา โรคมาร์บูร์ก โรคฝีดาษลิง ไข้เลือดออก ไข้เหลือง โรคไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ และอื่น ๆ (เนื่องจากความสามารถในการแพร่เชื้อนั้นไม่ชัดเจน สำหรับเนื้อจำพวกรมควัน เนื้อแห้ง แช่แข็ง และหมักดอง จึงไม่ถูกคิดรวมเข้าไปในการวิจัยครั้งนี้ นักวิจัยได้สนใจเฉพาะสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ กับที่เพิ่งโดนเชือดไป)

ถึงแม้ว่าการรักษาสุขอนามัยให้เหมาะสมจะช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อโรคลงได้มาก แต่นักวิจัยก็ได้เจอกับความไม่ใส่ใจต่อการรักษาสุขอนามัยของพ่อค้าแม่ค้าในตลาด “ในการเก็บข้อมูลผู้ขายเนื้อ 11 ราย ในตลาด 7 แห่งที่มีปริมาณการค้าสัตว์ป่าที่สูง รายละครึ่งชั่วโมง มีอยู่แค่รายเดียวที่ล้างมือ” ยิ่งไปกว่านั้นตลาด 7 แห่งมีแค่ 4 แห่งที่มีน้ำใช้ และมี 5 จาก 6 ตลาดที่ขายเนื้อปศุสัตว์ด้วย มีการจัดพื้นที่แบ่งแยกสำหรับเนื้อสัตว์ป่ากับเนื้อปศุสัตว์ และนี่แค่จำพวกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ยังไม่รวมถึงพวกปลา นก และอื่น ๆ  อีกมาก มันมีโอกาสอย่างมากที่จะมีสิ่งแปลกปลอมปนเปื้อนลงไปในเนื้อสัตว์เหล่านั้น

ในการที่จะหาว่าผู้บริโภคเนื้อสัตว์ป่านั้นเป็นใคร นักวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบราคาของเนื้อสัตว์ป่ากับเนื้อหมูที่เลี้ยงในฟาร์ม โดยปกติแล้วเนื้อสัตว์ป่าจะมีราคาสูงกว่าปศุสัตว์ ในปี พ.ศ.2555 ที่ได้ทำการเก็บข้อมูล เนื้อหมู 1 กก. ราคาประมาณ 34,000 กีบ (ประมาณ 4 เหรียญสหรัฐ) แต่ราคาของเนื้อเม่นหางพวง 1 กก. นั้นสามารถขายได้ราคาสูงกว่าเนื้อหมูถึง 4 เท่า สิ่งนี้ได้ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคนั้นกินเนื้อสัตว์ป่าเพื่อความหรูหราสิ้นเปลืองมากกว่าเพื่อโภชนาการหรือการยังชีพ ผู้คนในลาวนั้นมีรายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อวันประมาณ 4 เหรียญสหรัฐ เทียบง่าย ๆ ราคาเนื้อหมู 1 กก. เท่ากับรายได้ 1 วัน ราคาเนื้อเม่น 1 กก. เท่ากับรายได้ 4 วัน จึงทำให้เกิดแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสูงในการขายเนื้อสัตว์ป่ามากกว่าปศุสัตว์

ผลกระทบจากการค้าสัตว์ป่าในลาวนั้นกว้างขวางมาก งานวิจัยนี้ไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงเรื่องศักยภาพในการแพร่กระจายของเชื้อโรคในพื้นที่ที่สูงมาก และถึงการทำลายล้างที่หนักหน่วงที่ตลาดการค้าสัตว์ป่าได้ทำต่อระบบนิเวศของชาวลาว แต่ยังรวมไปถึงความมั่นคง และความปลอดภัยในด้านโภชนาการของชาวลาวอีกด้วย

นักวิจัยได้สรุปว่าหากว่ามีความจำเป็นจริง ๆ ในการที่จะต้องล่า และบริโภคสัตว์ป่า ก็ต้องทำภายใต้การกำกับดูแลที่เหมาะสม และถูกต้องทำตามกฎหมายสัตว์ป่า และกฎหมายสัตว์น้ำของลาว เพราะเป็นประเด็นที่มีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพของประชาชน และความหลากหลายทางชีวภาพ นักวิจัยยังได้กล่าวอีกว่าการค้าสัตว์ป่าในลาวนี้เป็นโอกาสที่ดีสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข นักอนุรักษ์ ผู้บังคับใช้กฎหมาย และกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ป่า ที่จะร่วมมือกันจัดการกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศที่ผลักดันเกิดการค้าขายสัตว์ป่า

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Wildlife markets are hotbeds of disease
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร