ประเทศพัฒนาแล้วต่างแสดงความกังวลต่อมลภาวะจาก “ถ่านหิน” และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ถ่านหินยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้ายังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการลงทุนโดยประเทศจีน
.
ขณะที่ตลาดในหลายประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เอเชียตะวันออก ต่างถอยห่างออกจากถ่านหิน ธนาคาร บริษัทด้านพลังงาน และการก่อสร้างสัญชาติจีนยังคงสนับสนุนทั้งทางการเงินและการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวนมากในประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม กัมพูชา และลาว แม้ว่าจะมีความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ไฟฟ้าที่ผลิตมาเกินความต้องการ และมลภาวะทางอากาศ
ถ่านหินคือเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกปรกที่สุดที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า มันปล่อยแก๊สเรือนกระจกมากที่สุด รวมถึงผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ น้ำ และผืนดินจากการทำเหมือง เผาถ่านหิน และขยะจากกระบวนการผลิต
“ประเทศจีนคือนักลงทุนหลักของถ่านหินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากคุณพิจารณาพอร์ตการลงทุนถ่านหินของจีนในต่างประเทศ อินโดนีเซียและเวียดนามคืออันดับสองและสาม” Isabella Suarez นักวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด (Center for Research on Energy and Clean Air) ประเทศฟิลิปปินส์กล่าว
ปัจจุบัน ถ่านหินถูกใช้เพื่อผลิตไฟฟ้า 56 เปอร์เซ็นต์ในอินโดนีเซีย 34.3 เปอร์เซ็นต์ในเวียดนาม และ 29.3 เปอร์เซ็นต์ในกัมพูชา
นับวันจีนจะยิ่งมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการลงทุนถ่านหินในต่างประเทศ สถาบันทางการเงินของจีน เช่น China Construction Bank, Bank of China, ICBC, และ the Agricultural Bank of China ต่างติดอยู่ใน 11 อันดับแรกของผู้ปล่อยสินเชื่อโรงไฟฟ้าถ่านหิน และ 10 อันดับแรกของผู้ปล่อยสินเชื่อเหมือนถ่านหิน อ้างอิงจากรายงานการธนาคารท่ามกลางวิกฤติภูมิอากาศ (Banking on Climate Chaos) ที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยเครือข่ายองค์กรเอกชนหลายแห่ง
รายงานฉบับดังกล่าวพบว่าธนาคารสัญชาติจีนหลายแห่งให้สินเชื่อโครงการเกี่ยวกับถ่านหินรวมทั้งสิ้น 244.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ พ.ศ. 2559 ซึ่งมากกว่าธนาคารขนาดใหญ่ของอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลี และแคนาดารวมกัน
.
.
โครงการถ่านหินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เงินทุนจากจีนประกอบด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน Banten Suralaya กำลังการผลิต 625 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้า Bangko Tengah SumSel 8 กำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ในประเทศอินโดนีเซีย โรงไฟฟ้าถ่านหิน Vĩnh Tân-3 กำลังการผลิต 1,980 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม และโรงไฟฟ้าถ่านหิน Botum Sakor กำลังการผลิต 668 เมกะวัตต์ในประเทศฟิลิปปินส์
ชุมชนท้องถิ่นหลายแห่งต่างแสดงท่าทีต่อต้านโครงการเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง เพราะความกังวลจากผลกระทบด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะโรงไฟฟ้า Sumsel 8 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าหน้าเหมืองถ่านหิน “หากเดินเครื่องเมื่อไหร่ ชุมชนจะได้รับผลกระทบสองต่อ ต่อแรกคือมลภาวะน้ำและอากาศจากโรงไฟฟ้า และต่อที่สองจากเหมืองถ่านหิน เนื่องจากเหมืองถ่านหินอยู่ในบริเวณเดียวกัน” Pius Ginting กรรมการบริหาร Aksi Ecologi Dan Energi Rakyat หรือ AEER องค์กรภาคเอกชนท้องถิ่นในอินโดนีเซียแสดงความเห็น
AEER ส่งจดหมายแสดงถึงความกังวลเมื่อต้นปีที่ผ่านมาแก่ผู้ให้เงินทุนหลักคือ Export-Import Bank of China และผู้รับเหมาก่อสร้างหลักของโครงการ China Huadian Corporation รวมถึงสถานทูตจีนแห่งจาการ์ตา แต่ก็ไม่ได้รับจดหมายตอบกลับ
นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม Pius Ginting ยังเกรงว่าการสนับสนุนเงินทุนเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซียอาจทำให้โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเกิดได้ยากขึ้น “นี่ควรจะเป็นโอกาสให้พลังงานหมุนเวียนเป็นรูปเป็นร่าง แต่โอกาสดังกล่าวกลับถูกฝังกลบโดยการลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของจีน” เขาสรุป
ข้อกังวลอีกประการหนึ่งคือมลภาวะทางอากาศ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงกรุงจาการ์ตาและฮานอยต่างถูกจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีมลภาวะมากที่สุดในโลกโดยมีถ่านหินเป็นสาเหตุหนึ่ง รายงานฉบับหนึ่งพบว่ามลภาวะจากถ่านหินซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับเมืองหลวงอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน เช่นเดียวกับรายงานวิเคราะห์ที่ประเทศเวียดนามซึ่งสรุปว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน 24 แห่งที่กำลังจะสร้างและได้รับเงินทุนจากจีนอีกส่งผลให้มีประชากรเสียชีวิตก่อนวัยอันควรถึง 70,000 ราย โดยปัจจัยสำคัญคือมาตรฐานการควบคุมมลภาวะที่ต่ำเตี้ยเรี่ยดิน
“โรงไฟฟ้าถ่านหินที่สร้างในต่างประเทศมักจะปล่อยมลภาวะมากกว่าและมีประสิทธิภาพต่ำกว่าโรงไฟฟ้าที่สร้างในจีน” Isabella Suarez กล่าว
.
นอกจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว การกู้ยืมเงินก้อนใหญ่อาจกลายเป็นภาระทางการคลังในระยะยาว เนื่องจากทำให้รัฐบาลต้องจ่ายเงินใช้หนี้เป็นเวลานานเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่มีความจำเป็นต้องสร้าง ปกติแล้วโรงไฟฟ้าถ่านหินมีอายุยาวนานถึง 50 ปี ประเทศอย่างอินโดนีเซีย เวียดนาม และกัมพูชา อาจต้องจ่ายเงินซื้อพลังงานสกปรกจากจีนยาวนานหลายทศวรรษ
“สำหรับจีน นี่เป็นเรื่องปอกกล้วยเข้าปาก ธนาคารเงินให้เงินลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าโดยใช้แรงงานจีน และบริษัทรับเหมาสัญชาติจีน โดยที่ประเทศปลายทางต้องจ่ายหนี้คืนให้” Ghee Peh นักวิเคราะห์ประจำสถาบันเศรษฐศาสตร์พลังงานและการวิเคราะห์ทางการเงิน (Institute for Energy Economics and Financial Analysis) หรือ IEEFA แสดงความเห็น โดยรายงานของ IEEFA ระบุว่าโครงการถ่านหินที่จีนให้สินเชื่อนั้น ส่วนใหญ่จะใช้แรงงานชาวจีน บริษัทผู้รับเหมาจีน และเทคโนโลยีของจีน นำไปสู่คำถามว่าเศรษฐกิของประเทศปลายทางได้ประโยชน์มากน้อยขนาดไหนจากโครงการดังกล่าว
เมื่อปีที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นผู้ให้เงินทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอันดับสองและสามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างประกาศว่าจะค่อยๆ ลดการลงทุนในถ่านหิน นอกจากนี้ ต้นปีที่ผ่านมา ธนาคาร CIMB ของมาเลเซียยังประกาศว่าจะค่อยๆ ถอนการลงทุนจากถ่านหินทั้งหมดภายใน 20 ปี นับเป็นธนาคารแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ดำเนินการในลักษณะดังกล่าว
มีความพยายามที่จะรวมแนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเข้ากับโครงการแถบและทาง (Belt and Road Initiative) ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 70 ประเทศทั่วโลกของรัฐบาลจีนตั้งแต่ พ.ศ. 2557 แต่จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีสัญญาณใดๆ ว่าจีนจะหยุดส่งออกหรือสนับสนุนโครงการถ่านหินในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่อย่างใด
ถอดความและเรียบเรียงจาก Fueled by China, Coal Still Firing in SE Asia Despite Environmental Concerns
ภาพเปิดเรื่อง โรงไฟฟ้าถ่านหิน Banten Suralaya l Reuters
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก