งานวิจัยชี้ คนรวยคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

งานวิจัยชี้ คนรวยคือสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดปัญหาโลกร้อน

งานวิจัยจาก University of Leeds ได้ทำการเก็บข้อมูลจาก 86 ประเทศ ได้พบว่าสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้น มาจากกลุ่มคนที่ร่ำรวยมีฐานะ

งานวิจัยได้จับผู้คนทั้งหมดจาก 86 ประเทศ มาเรียงลำดับตามความรวย โดยการรวมข้อมูลจากสหภาพยุโรป และธนาคารโลกเพื่อคำนวณว่าแต่ละกลุ่มคนมีรายได้ที่แตกต่างกันนั้น มีพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินแตกต่างกันอย่างไร 

จึงได้พบว่า 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นใช้พลังงานโดยรวม ๆ แล้วมากกว่า 10% ของผู้คนที่จนที่สุดถึง 20 เท่า นักวิจัยยังได้พบอีกว่ายิ่งคนรวยขึ้นเท่าไรก็ยิ่งใช้พลังงานมากขึ้นเท่านั้น และมันก็เป็นแบบนี้ในทุก ๆ ประเทศ ที่ได้ทำการเก็บข้อมูล

นักวิจัยเตือนว่าหากเราไม่มีการกำหนดนโยบายเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งเหล่านี้ ปริมาณการใช้พลังงานในครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากปี ค.ศ.2011 ภายในปี ค.ศ.2050 ถึงแม้ว่าประสิทธิภาพเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ จะพัฒนาขึ้นไปด้วยก็ตาม

ความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

กิจกรรมที่แสดงให้เห็นความแตกต่างที่สุดนั้นก็คือการคมนาคม 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นใช้พลังงานไปกับการคมนาคม มากกว่า 10% ของผู้คนที่จนที่สุดถึง 187 เท่า ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเพราะผู้ที่มีรายได้น้อยไม่น่าที่จะใช้การเดินทางแบบส่วนตัวสักเท่าไร ต่างจากผู้ที่มีรายได้สูง

งานวิจัยได้พบว่า 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นใช้พลังงานไปมากกว่าครึ่ง ของพลังงานที่ใช้ในการคมนาคม ในประเทศอังกฤษ บรรดามหาเศรษฐีนั้นเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยมาก ในขณะที่ 57% ของประชากรในประเทศนั้นไม่เคยนั่งเครื่องบินเลย

การวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Nature Energy แสดงให้เห็นว่าพลังงานที่ใช้สำหรับการปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่นนั้นมีการใช้ในระดับที่ไม่แตกต่างกันมากระหว่างคนรวย และคนจน แต่อย่างไรก็ตาม 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นใช้ประมาณหนึ่งในสามของพลังงานที่ใช้ปรุงอาหาร และให้ความอบอุ่นทั้งหมด ซึ่งน่าจะเป็นสาเหตุมาจากที่อยู่อาศัยของ 10% ของผู้คนที่รวยที่สุดนั้นมีขนาดใหญ่มาก

แล้วจะแก้อย่างไรล่ะ

ศ.ดร. Julia Steinberger หัวหน้าโครงการวิจัยจาก University of Leeds ได้ตั้งคำถามไว้ว่า “เราจะสามารถเปลี่ยนการใช้พลังงานที่มีการกระจายไม่เท่ากันในแต่ละกลุ่มคนได้อย่างไร โดยที่ผลลัพธ์จะต้องทำให้ผู้คนในทุกระดับได้มีคุณภาพมีชีวิตที่ดี และขณะที่เราก็จะต้องยับยั้งการเปลี่ยนแปลงในเชิงลบของสภาพอากาศ และระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กันด้วย”

ผู้เขียนได้กล่าวว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหานี้ได้โดยการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะให้ดี และทำการเก็บภาษีที่สูงขึ้นสำหรับยานพาหนะส่วนตัว หรืออีกทางเลือกหนึ่งคือหันไปพัฒนารถที่ใช้พลังงานจากไฟฟ้า

แต่อย่างไรก็ตามในการที่จะแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างยั่งยืนนั้น คือการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ และปล่อยมลพิษให้น้อยลง ดังนั้นวิธีการจัดการที่ดีที่สุดคือการลดการเดินทางโดยยานพาหนะลง โดยเฉพาะการเดินทางโดยการใช้พาหนะส่วนตัว

พวกคนรวย

งานวิจัยได้ตรวจสอบปริมาณการใช้พลังงานของแต่ละประเทศแล้วจึงนำมาเปรียบเทียบกัน ทำให้เห็นว่า 20% ของผู้คนในอังกฤษ 40% ของผู้คนในเยอรมัน และ 100% ของผู้คนในประเทศลักเซมเบิร์ก นั้นอยู่ใน 5% แรกของผู้ที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก

ในทางตรงกันข้ามมีคนจีนเพียง 2% และคนอินเดียแค่ 0.02% เท่านั้น ที่อยู่ใน 5% แรกของผู้ที่ใช้พลังงานมากที่สุดในโลก แม้แต่ 5% ของผู้คนที่จนที่สุดในอังกฤษ ยังใช้พลังงานโดยเฉลี่ยต่อคนมากกว่าคนอินเดีย 1 พันล้านคนที่จนที่สุด ถึง 5 เท่า

งานวิจัยนี้น่าจะไม่ได้แสดงให้เห็นถึงแค่วิธีที่เราจะควบคุมปัญหาโลกร้อนในอนาคตจากจุดไหนดี แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในด้านพลังงานของประชากรโลกด้วย 

นักสิทธิมนุษยชนในอเมริกายังได้กล่าวว่าการแก้ปัญหาโลกร้อนนั้นเป็นเหมือนการเปลี่ยนจากทุนนิยมไปเป็นระบบสังคมนิยม

แล้วเราจะได้ใช้ชีวิตแบบปกติกันมั้ย?

ศ.ดร. Kevin Anderson จาก the Tyndall Centre ในแมนเชสเตอร์ได้อ่านงานวิจัยแล้วบอกกับสำนักข่าวบีบีซีว่า “งานวิจัยนี้บอกคนอย่างพวกเราในสิ่งที่พวกเราไม่ค่อยอยากได้ยินสักเท่าไร”

เขายังได้กล่าวอีกว่า “ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกนั้น ถูกกำหนดทิศทางโดยคนรวยที่ใช้พลังงานเยอะที่มีทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ หรือแม้แต่นักข่าว และนักวิจัยเองด้วย แต่อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีแรงจูงใจให้คนเหล่านี้ลดการใช้พลังงาน เช่น การเก็บภาษีด้านพลังงานที่แพงขึ้น คนเหล่านี้ก็จะไม่ลดการใช้พลังงานลงหรอก เช่นเดียวกันกับการใช้รถยนต์ส่วนตัว และขนาดของบ้านที่คนเหล่านี้สร้าง พวกเขาเชื่อว่าสิ่งที่พวกเขากำลังทำอยู่นั้นเป็นเรื่องปกติ ถึงแม้ว่าตัวเลขในงานวิจัยจะไม่เห็นด้วยก็ตาม”

งานวิจัยยังบอกอีกว่าการใช้พลังงานในด้านการคมนาคมอาจเพิ่มขึ้นอีก 31% จากตอนนี้ ภายในปี ค.ศ.2050 ถ้าการคมนามของเรายังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล การเพิ่มขึ้นนี้จะเป็นหายนะสำหรับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นี่แสดงให้เห็นว่าควรมีมาตรการที่แตกต่างกันสำหรับการจัดการกับผู้ใช้พลังงานในประเภท และปริมาณที่แตกต่างกัน จะต้องเสียภาษีต่างกัน เช่น การนั่งเครื่องบิน และการใช้ยานพาหนะที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่ จะต้องเสียภาษีมากขึ้น ในขณะที่พลังงานจากบ้านสามารถลดลงได้ด้วยการทำที่อยู่อาศัยให้มีขนาดที่พอเหมาะกับจำนวนคนที่อยู่อาศัย โดยการคำนวณพื้นที่ที่คนหนึ่งคนต้องการในการใช้อยู่อาศัย (คิดเป็นหน่วยพื้นที่ต่อคน)

ทางผู้เขียน (ที่ประเทศอังกฤษ) ได้ทราบมาว่าล่าสุดทางรัฐบาลได้ปฏิเสธที่จะขึ้นภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว และยิ่งไปกว่านั้นยังได้อนุมัติงบในการตัดถนนสายใหม่กว่า 4,000 ไมล์ รวมไปถึงนโยบายการสนับสนุนให้ติดฉนวนไว้ที่ผนังบ้านเพื่อรักษาอุณหภูมิในบ้านก็ไม่ได้รับการกล่าวถึงเลย

ทางกลุ่มวิจัยได้เข้าไปสอบถามกับกระทวงการคลัง (ของอังกฤษ) ถึงนโยบายการใช้งบประมาณเหล่านี้ แต่พวกเขาปฏิเสธที่จะให้ข้อมูลดังกล่าว

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Climate change: The rich are to blame, international study finds
ถอดความและเรียบเรียงโดย วณัฐพงศ์ ศิริวิภานันท์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายวิชาการ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร