คาดอีก 80 ปีข้างหน้า ซีกโลกเหนืออาจมีฤดูร้อนนานถึง 6 เดือนต่อปี

คาดอีก 80 ปีข้างหน้า ซีกโลกเหนืออาจมีฤดูร้อนนานถึง 6 เดือนต่อปี

ในอีก 80 ปีข้างหน้า ประเทศแถบซีกโลกเหนืออาจต้องเผชิญกับฤดูร้อนที่ยาวนานเกือบ 6 เดือนต่อปี หากการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ประสบผลสำเร็จ

.
งานวิจัยใหม่ที่เพิ่งตีพิมพ์และเผยแพร่ในวารสาร Geophysical Research Letters ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ฤดูร้อนมีอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น และมีช่วงระยะเวลายาวนานขึ้น ในขณะเดียวกันฤดูกาลอื่นๆ ที่เหลือจะหดสั้นลง

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความผิดปกติจากสิ่งที่คาดการณ์ออกมานี้ อาจมีผลกระทบร้ายแรงหลายประการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ การเกษตร และต่อระบบนิเวศสิ่งแวดล้อม

Yuping Guan นักสมุทรศาสตร์และเป็นผู้เขียนสรุปรายงานอธิบายว่า เขาและเพื่อนร่วมงานได้รวบรวมข้อมูลสภาพอากาศรายวันตั้งแต่ปี 1952 – 2011 เพื่อระบุจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของแต่ละฤดูกาลในพื้นที่ซีกโลกเหนือ ซึ่งทำให้พบว่าในช่วงเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา ช่วงเวลาของฤดูร้อนเพิ่มขึ้น เฉลี่ยจาก 78 เป็น 95 วัน

ขณะเดียวกัน ฤดูหนาวจะสั้นลงโดยเฉลี่ยจาก 76 เป็น 73 วัน ส่วนฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงเองก็หดตัวลงในทำนองเดียวกัน โดยวันเวลาในฤดูใบไม้ผลิจะลดลงจาก 124 วันเป็น 115 วัน และวันฤดูใบไม้ร่วงจะสั้นลงจาก 87 วันเหลือ 82 วัน

จากข้อมูลที่ได้นักวิทยาศาสตร์นำมันมาสร้างแบบจำลองเพื่อคาดการณ์ว่าฤดูกาลจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต จนผลออกมาเป็นข้อมูลชวนน่าวิตกว่า หากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังคงไม่ได้รับการแก้ไขฤดูร้อนในซีกโลกเหนืออาจกินเวลาเกือบหกเดือน ในขณะที่ฤดูหนาวอาจมีวันเหลือน้อยกว่าสองเดือน”

ผลที่ได้จากงานวิจัยชิ้นนี้ได้บอกเราว่า การเปลี่ยนแปลงฤดูกาลของโลกนำไปสู่ความเสี่ยงทางนิเวศสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสุขภาพของมนุษย์ ตัวอย่างเช่นฤดูร้อนที่อากาศอุ่นขึ้นและยาวนานขึ้นหมายถึงการเติบโตของยุงและแมลงที่เป็นพาหะนำโรคสามารถกระจายพันธุ์และขยายขอบเขตวงจรชีวิต ไปจนถึงอาจไปปรากฎตัวในพื้นที่ที่ไม่เคยมีมาก่อนได้

และเนื่องจากฤดูกาลเป็นตัวกำหนดวัฏจักรชีวิตของพืชและสัตว์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้การปรับตัวของสปีชีส์เกิดการผิดเพี้ยน

Scott Sheridan นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเคนต์สเตท ได้กล่าวเสริมข้อมูลของงานวิจัยว่า ฤดูกาลที่เปลี่ยนแปลงไปจะทำให้วัฏจักรธรรมชาติมีความ “ไม่สมบูรณ์แบบ” เช่นอดีต ยกตัวอย่างเช่น ดอกไม้อาจผลิบานก่อนที่ผึ้งจะเดินทางมาผสมเกสรได้ตามช่วงเวลาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ “ความไม่แน่นอนของฤดูกาลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็อาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อผลผลิตทางการเกษตร

ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากกำลังศึกษาเพื่อหาคำตอบให้ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลต่อฤดูกาลอย่างไร เพราะมันเชื่อมโยงต่อเรื่องความมั่นคงทางอาหารอย่างมีนัยยะสำคัญ

Weston Anderson นักวิจัยสภาพภูมิอากาศและสังคม มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แสดงความเห็นเป็นกังวลว่า ภาวะโลกร้อนไม่เพียงส่งผลกระทบต่อสถานที่ที่ใช้เพาะปลูกพืชเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชแต่ละชนิดด้วย

ข้อกังวลหลักประการหนึ่ง คือ อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นจะส่งผลต่อระยะเวลาในการพัฒนาพืชผลอย่างไร นั่นหมายความว่า พืชจะใช้เวลาเติบโตมากน้อยเพียงใด และหลังจากนั้นผลผลิตของพืชจะได้รับผลกระทบมากเพียงใด

ยกตัวอย่าง ภูมิภาคเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งถือเป็นพื้นที่หนึ่งที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะโลกร้อนอย่างมาก หากภูมิภาคนี้เกิดความแห้งแล้งจากฤดูร้อน มันก็อาจไม่เหมาะสำหรับการปลูกข้าวสาลีอีกต่อไป

Scott Sheridan กล่าวว่าผลการศึกษาได้ช่วยอธิบายให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และย้ำเตือนให้เราเข้าใจได้ชัดขึ้นว่า มนุษย์ สัตว์ พืชและสิ่งแวดล้อม มีความเชื่อมโยงกันมากเพียงใด
.


อ้างอิง Summers could last half the year by the end of this century

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม