คณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) ต้องการให้ประเทศสมาชิกและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเร่งรัดมาตรการเพื่อให้มีการจัดการแม่น้ำโขงที่ดีขึ้นโดยเน้นถึงการปกป้องพื้นที่ชุ่มน้ำและแหล่งที่อยู่อาศัยใน ลุ่มน้ำโขง ที่ยังคงหลงเหลืออยู่
An Pich Hatda ผู้อำนวยการกองเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงกล่าวในรายงานสถานการณ์ลุ่มน้ำประจำ พ.ศ. 2561 (State of the Basin Report 2018) ซึ่งเผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ว่า การจัดการลุ่มน้ำโขงยังเผชิญกับความท้าทายหลายประการ เราชี้ให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรต่อการไหลของกระแสน้ำในลำน้ำโขงสายหลัก ปริมาณตะกอนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากถูกกักไว้ต้นน้ำ และการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างต่อเนื่องพร้อมกับแหล่งที่อยู่อาศัยในแม่น้ำซึ่งกำลังเสื่อมสภาพ นี่คือความท้าทายหลักที่ประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างกำลังเผชิญ
An Pich Hatda กล่าวเพิ่มเติมว่าความท้าทายอื่นๆ รวมถึงแรงกดดันจากการประมงซึ่งหมายถึงการเก็บเกี่ยวทรัพยากรที่มีชีวิตซึ่งเกิดตามธรรมชาติทั้งในสภาพแวดล้อมทางทะเลและแหล่งน้ำจืด รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลอย่างจำกัดถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับแหล่งน้ำในปัจจุบันรวมถึงการใช้น้ำ
“เราต้องจัดการกับปัญหาเหล่านั้นเดี๋ยวนี้เพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดต่อสิ่งแวดล้อม และคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำและที่อยู่อาศัยในแม่น้ำก่อนที่มันจะหายไป ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงประโยชน์จากการไหลของแม่น้ำในช่วงฤดูร้อนที่มากขึ้นเพื่อความมั่นคง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับที่เหมาะสมของลุ่มน้ำโขง” เขาเน้นย้ำ
จากรายงานความยาวกว่า 226 หน้า มีการระบุว่าความร่วมมือระหว่างประเทศโดยรอบแม่น้ำโขงมีเพิ่มมากขึ้นเพื่อจัดการกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะภายใต้กรอบคิดของคณะกรรมการแม่น้ำโขงซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากประเทศสมาชิกในการทำงานวิจัยสำคัญ การแจ้งสมาชิก แบ่งปันข้อมูล และโครงการร่วมระหว่างประเทศมีจำนวนมากขึ้น
“ในขณะที่แม่น้ำโขงเผชิญความท้าทายที่มากขึ้น สภาพเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีภาวะเป็นบวกโดยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง การลดความยากจน รวมถึงการเพิ่มผลิตภาพ” รายงานระบุ
การก่อสร้างและการปฏิบัติการของเขื่อนพลังงานไฟฟ้าแม่น้ำโขงตอนบนทำให้มีน้ำในแม่โขงมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง ลดปริมาณน้ำในช่วงฤดูฝน แต่ก็ลดปริมาณตะกอนเช่นกัน ข้อค้นพบดังกล่าวนำมาซึ่งโอกาสและความเสี่ยง รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า ความพยายามในปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นของประเทศจีนและพม่าในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมรวมถึงการยกเลิกแผนการก่อสร้างเขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลักเอาไว้ด้วย
รายงานฉบับนี้แนะนำให้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องในการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศจีนและประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีการจัดการลุ่มน้ำโขงอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนต่อผลประโยชน์ที่สร้างจากแม่น้ำสายนี้
“ประเทศสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขง ประกอบด้วยกัมพูชา ไทย ลาว และเวียดนาม รวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ สำหรับการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาลุ่มน้ำในอนาคต ก็ควรมีเอกสารที่ระบุประเด็นปัญหาของการพัฒนาและจัดการแหล่งน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้องของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งประเทศสมาชิกเห็นต้องตรงกันว่าจะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา” รายงานระบุ
Kong Chanthy ตัวแทนของชุมชนชาวประมงในจังหวัด Stung Treng กล่าวว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สภาพแวดล้อมของแม่น้ำเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำที่ลดลงกว่าแต่ก่อน การเปลี่ยนลักษณะการไหลของแม่น้ำ การลดลงของตะกอนและปริมาณทรัพยากรปลา เขากล่าวโทษการก่อสร้างเขื่อนทางตอนเหนือของแม่น้ำโขง เช่น เขื่อนในประเทศจีน ลาว และไทย รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“ผมเห็นด้วยกับข้อค้นพบในรายงานของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขง และผลต้องการขอร้องให้รัฐบาลทุกประเทศกลุ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยเฉพาะรัฐบาลกัมพูชา ในการเสริมความเข้มแข็งเพื่อจัดการกับความท้าทายเหล่านั้น และแก้ไขปัญหาการทำประมงอย่างผิดกฎหมาย” เขากล่าว “ก่อนที่จะก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำบนแม่น้ำสายหลักและสายรอง ช่วยกรุณาประเมินผลกระทบอย่างรอบด้าน และล้มเลิกโครงการซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง”
ถอดความและเรียบเรียงจาก MRC takes note of challenges facing Mekong basin โดย Pech Sotheary
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์