นักอนุรักษ์บางคนมองว่า การตายครั้งใหญ่ของช้างจำนวนมากในบอตสวานาอาจมีสาเหตุตามธรรมชาติ ขณะที่คนอื่นยังแสดงความกังวล
เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 นักอนุรักษ์บินเหนือพื้นที่ Okavango Panhandle ประเทศบอตสวานาเพื่อพบกับความจริงที่น่าหวั่นใจ คือซากช้างจำนวน 169 ซาก ส่วนการบินอีกครั้งในเดือนมิถุนายน นักอนุรักษ์พบซากช้างเพิ่มเติมรวมเป็น 356 ซาก หลายซากแสดงถึงสภาพการเสียชีวิตอย่างกะทันหัน กล่าวคือการล้มไปข้างหน้าโดยทิ้งน้ำหนักที่หน้าอกขณะที่เดินหรือวิ่ง โดยงาช้างยังอยู่ครบถ้วน ซึ่งอาจตีความได้ว่าไม่ใช่ฝีมือของนักล่างาช้าง
แต่ผู้เชี่ยวชาญมีข้อมูลหลงเหลือให้สืบหาสาเหจุน้อยมาก ว่าสาเหตุเกิดจากการลอบทำร้าย เช่น การวางยา หรือสาเหตุตามธรรมชาติอย่างโรคระบาดจากพื้นที่ที่ประชากรช้างกำลังฟื้นตัว
“ประชากรช้างที่กำลังเพิ่มมากขึ้น มีความเป็นไปได้ว่าเราจะเจอกับการเสียชีวิตครั้งใหญ่กว่านี้” Chris Thouless ผู้อำนวยการด้านวิจัย Save the Elephants องค์กรอนุรักษ์ในเคนยา “ความตายไม่ใช่เรื่องสนุก แต่มันก็เป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตหลีกเลี่ยงไม่ได้”
ในขณะที่นักอนุรักษ์คนอื่นๆ แสดงความกังวลมากกว่านั้น
“ในบอตสวานา เกิดวิกฤติครั้งของใหญ่ประชากรช้าง” Mark Hiley ผู้อำนวยการด้านการช่วงเหลือสัตว์ป่า National Park Rescue องค์กรไม่แสวงหากำไรซึ่งต่อต้านการล่าช้างในแอฟริกา “สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้คือการเปิดโอกาสให้ทีมงานอิสระเข้ามาในพื้นที่ เก็บตัวอย่างซาก ดิน และแหล่งน้ำ เพื่อหาสาเหตุให้ได้ว่าการเสียชีวิตของช้างเกิดจากอะไร”
นักวิจัยจาก Elephants Without Borders กลุ่มอนุรักษ์ในบอตสวานา ได้ทำการบินเพื่อถ่ายทำสารคดีของปัญหาดังกล่าว พบเห็นกลุ่มช้างที่ดูหลงทิศทาง เช่นการเดินเป็นวงกลม บางตัวเดินทิ้งขาหลังราวกับว่าขาเป็นอัมพาต จำนวนไม่น้อยเดินราวกับไร้ชีวิตหรืออ่อนระโหย ซึ่งพบในทั้งช้างเพศผู้ เพศเมีย ทั้งแก่ชราและเยาว์วัย ในปริมาณที่ใกล้เคียงกัน
บอตสวานาเป็นบ้านของช้างสวันนาประมาณ 130,000 เชือก หรือราว 1 ใน 3 ของประชากรช้างที่หลงเหลืออยู่ และถึงแม้ว่ามีสัญญาณบ่งบอกการมาของนักล่าทั้งช้างและแรดในพื้นที่ดังกล่าว นักอนุรักษ์ก็ยังมองว่าบอตสวานาคือสถานที่ปลอดภัยของสัตว์เหล่านั้น
จากรายงานฉบับหนึ่ง Elephants Without Borders ประมาณการว่าการเสียชีวิตปริศนามีจุดเริ่มต้นตั้งแต่เดือนมีนาคม จำนวนการเสียชีวิตรวมของช้างในตอนนี้อาจมีมากกว่า 356 เชือก เนื่องจากการบินสำรวจไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด
นักอนุรักษ์บางกลุ่มมองว่ารัฐบาลบอตสวานาไม่ได้มองการเสียตายครั้งใหญ่ครั้งนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนนัก โดยมีการส่งเจ้าหน้าที่มาเก็บตัวอย่างจากซากช้างเพื่อนำไปทดสอบตั้งแต่เดือนพฤษภาคม แต่ปัจจุบันก็ยังไม่มีรายงานการสรุปผล
“เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นมาร่วมเดือนแล้ว ตอนนี้รัฐบาลควรจะให้คำตอบกับทุกคนได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่” Mark Hiley ให้สัมภาษณ์ “เรามีห้องทดลองที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งควรได้ผลลัพธ์ออกมาแล้ว” เขาเสริมอีกว่า ความล่าช้าในการทดสอบตัวอย่างไม่ต่างจากการคร่าชีวิตช้างที่ยังสมบูรณ์แข็งแรงในปัจจุบัน
Dr. Mmadi Reuben หัวหน้าสัตว์แพทย์ประจำกระทรวงสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติ บอตสวานา ระบุว่ารัฐบาลให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการแก้ไขปัญหาการตายอย่างเป็นปริศนาครั้งนี้ และดำเนินการอย่าง “รวดเร็ว เพียงพอ และมีความรับผิดชอบ อย่างเร็วที่สุดตั้งแต่เราได้รับข้อมูล”
เขาระบุว่าการทดสอบเบื้องต้นได้ตัดสาเหตุที่เป็นไปได้ เช่น เชื้อแอนแทรกซ์ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรียตามธรรมชาติในดิน เราและทีมวิจัยของเขากำลังทำงานกับห้องทดลองในซิมบับเว ประเทศแอฟริกาใต้และแคนาดาเพื่อทำการศึกษาต่อไป “มันคงไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายๆ แบบครั้งเดียว เช่น การที่จะพูดว่า ‘เราส่งตัวอย่างไปแล้ว งานของเราเสร็จแล้ว’ แต่เป็นการพูดคุยอย่างต่อเนื่องของผลลัพธ์ที่ได้จากแต่ละห้องทดลอง”
ตอนนี้ เรายังไม่มีหลักฐานที่จะระบุว่าการตายของช้างเหล่านี้เกิดจากฝีมือมนุษย์ เขากล่าวเสริม
มีความเป็นไปได้น้อยมากที่การตายดังกล่าวจะเกิดจากสารพิษอย่างไซยาไนด์ซึ่งมักใช้ในการวางยาช้างโดยเหล่านักล่า เพราะหากใช้ไซยาไนด์ ช้างมักจะตายแบบหมู่ใกล้กับบริเวณที่มีการวางยาพิษ และมีแนวโน้มว่าจะคร่าชีวิตสัตว์ชนิดอื่นๆ ด้วย แต่ในเหตุการณ์นี้ สัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ ดูจะไม่ได้รับผลกระทบ แต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ว่ายาพิษที่ใช้กับช้างอาจเป็นประเภทที่สลายหายไปได้ง่าย
ส่วนเชื่อโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้น้อยเช่นกัน เนื่องจากยังไม่พบการติดเชื้อในกลุ่มชนพื้นถิ่นซึ่งใกล้ชิดกับประชากรช้าง อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าเชื้อดังกล่าวสามารถติดต่อไปยังช้างได้
Dr. Thouless คาดว่าสาเหตุของการเสียชีวิตมาจากโรคระบาดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเป็นไวรัส encephalomyocarditis ซึ่งสามารถแพร่ระบาดจากสัตว์ประเภทหนู ซึ่งการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวจะทำให้เกิดกลุ่มอาการเกี่ยวกับระบบประสาท โดยเคยมีช้าง 60 เชือกเสียชีวิตจากการระบาดของไวรัสดังกล่าวในอุทยานแห่งชาติ Kruger ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อราว 30 ปีก่อน นอกจากนี้ บอตสวานาเพิ่งฟื้นตัวจากภัยแล้งครั้งใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ช้างเกิดความเครียดและเปราะบางต่อการติดเชื้อมากขึ้น
เขายังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ณ จุดนี้การเสียชีวิตของช้างยังไม่เข้าข่ายวิกฤติด้านการอนุรักษ์เนื่องจากจำนวนช้างที่ได้รับผลกระทบยังเป็นสัดส่วนน้อยมากๆ หากเทียบกับประชากรจำนวน 15,000 ถึง 20,000 เชือกที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ “แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ควรกังวล แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็นับว่าเล็กน้อยมากหากเปรียบเทียบกับปริมาณประชากร”
Past examples also show that when conditions are favorable, elephants can quickly rebound. For example, in 1970 and 1971, a drought in Tsavo East National Park in Kenya killed an estimated 5,900 of the park’s 35,000 elephants. By 1973, the population was back to 35,000.
ตัวอย่างในอดีตแสดงให้เห็นว่า หากสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวยประชากรช้างก็สามารถกลับมาเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว เช่น เมื่อ พ.ศ. 2511 ถึง 2512 ภัยแล้งในอุทยานแห่งชาติ Tsavo East ในประเทศเคนย่าเสียชีวิตลงราว 5,900 เชือกจาประชากร 35,000 เชือก แต่ในปี พ.ศ. 2516 ประชากรช้างก็กลับมาเป็น 35,000 เชือกเหมือนกับก่อนเกิดภัยแล้งครั้งใหญ่
“มันมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าไปยุ่มยามกับสิ่งที่เกิดตามธรรมชาติ เราอาจทุ่มงบประมาณและทรัพยากรจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ไขปัญหา แต่อาจไม่ได้ผลลัพธ์อะไรได้ในแง่ของการอนุรักษ์” Dr. Thouless กล่าวสรุป
ถอดความและเรียบเรียงจาก 356 Elephants Died Suddenly. The Cause Is a Mystery.
ถอดความและเรียบเรียงโดย รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์