การให้อาหารสัตว์ป่าคือการ ‘ฆ่าสัตว์ป่า’

การให้อาหารสัตว์ป่าคือการ ‘ฆ่าสัตว์ป่า’

ที่สตีมโบทสปริงส์ โคโลราโด สหรัฐอเมริกา สภาพอากาศกำลังเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ แต่หิมะยังคงตกหนัก และอุณหภูมิยังคงเย็นจัด สัตว์ป่าต้องอพยพไปอยู่ในที่ในพื้นที่อากาศอบอุ่นกว่าใกล้ๆ เมืองสตีมโบทสปริงส์ ซึ่งนั่นทำให้สัตว์ป่ามีโอกาสพบกับมนุษย์ได้บ่อยขึ้น

ชาวบ้านจะเห็นฝูงกวางส่งเสียงร้อง จึงมีบางคนเอาอาหารไปให้ด้วยความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ และกังวลว่าพวกสัตว์ป่าอาจจะอดอาหารตาย ไม่สามารถดิ้นรนเอาชีวิตรอดผ่านฤดูหนาวอันแสนลำบากไปได้

แต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับพบว่ามีสัตว์ป่าป่วยและตายหลังจากกินอาหารที่ได้รับจากมนุษย์ และตอนนี้กำลังรณรงค์ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งกับสัตว์ป่า ควรปล่อยให้พวกมันดำรงชีวิตอยู่ด้วยตัวของพวกมันเอง

การให้อาหารกับสัตว์ป่านั้นไม่เพียงแต่เป็นการรบกวนสัตว์ป่า แต่ยังเป็นการทำร้ายสุขภาพของพวกมัน รวมถึงยังเป็นการดึงดูดสัตว์ดุร้ายให้เข้ามาในเขตเมืองมากยิ่งขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้เกิดสถานการณ์อันตรายระหว่างสัตว์ป่ากับมนุษย์เพิ่มมากขึ้น

Colorado Parks and Wildlife ได้ประชาสัมพันธ์ข่าวสารนี้ถึงประชาชน โดยอธิบายถึงเหตุผลว่า เมื่อไม่นานมานี้ได้พบกวางตัวหนึ่งตายอยู่ที่หุบเขาซานหลุยส์ เมื่อตรวจสอบสาเหตุการตายแล้วพบว่าในกระเพาะอาหารเต็มไปด้วยข้าวโพดและธัญพืชที่มนุษย์กิน ซึ่งอาหารทั้งสองอย่างกระเพาะอาหารของกวางไม่สามารถย่อยสลายได้

 

กวางตัวที่ถูกพบในหุบเขาซานหลุยส์ มันตายหลังจากที่กินอาหารที่มนุษย์ให้ / PHOTO Colorado Parks and Wildlife

 

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นช่วยตอบคำถามว่า ทำไมการให้อาหารสัตว์ป่าจึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายในโคโลราโด ผู้ฝ่าฝืนจะถูกปรับ แต่นั่นก็ไม่เท่าผลลัพธ์ของการกระทำอันแท้จริงที่ตกอยู่กับสัตว์ป่า

Mike Porras เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูล Colorado Parks and Wildlife  กล่าวว่า สัตว์ป่าพื้นถิ่นสามารถปรับตัวเองให้เข้ากับอุณหภูมิในฤดูหนาวที่อุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์ได้ “สัตว์ป่าเคยเอาตัวรอดผ่านบรมยุคมาได้โดยปราศจากการช่วยเหลือของมนุษย์”

ฝูงสัตว์อย่างกวางหรือกวางเอลก์จะมีรูปแบบการอพยพของพวกมันเองในแต่ละปี เพื่อเดินทางไปยังแหล่งอาหารที่เหลืออยู่ตามฤดูกาล

สัตว์ป่าส่วนใหญ่ยังมีไขมันที่เก็บสะสมไว้จากฤดูร้อนที่อาหารอุดมสมบูรณ์ สัตว์ป่าจะสูญเสียน้ำหนักไปประมาณ 30-40% ของน้ำหนักตัวในช่วงฤดูหนาว

Kris Middledorf ผู้จัดการ Colorado Parks and Wildlife เปรียบเทียบสถานะภาพของสัตว์ป่าในฤดูหนาวว่า คือ “การคัดเลือกโดยธรรมชาติ” ตามทฤษฎีของชาลส์ ดาร์วิน สัตว์ป่าที่แข็งแรงจะอยู่รอดและให้กำเนิดลูกหลานที่แข็งแรงต่อไป

“สัตว์ป่าบางชนิดอาจหาอาหารไม่ได้ พวกมันจะอดแล้วตาย” Middledorf กล่าว “นั่นเป็นเรื่องธรรมชาติและเป็นสิ่งที่เราคาดหวังให้มันเป็น”

เมื่อผู้คนเข้าไปยุ่งกับสัตว์ป่านั่นหมายถึงการขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติ

“การที่มนุษย์เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติจะสร้างผลกระทบที่เลวร้ายยิ่งกว่าการไม่ลงมือทำอะไรเลยเสียอีก”​ Porras ให้ความเห็น

 

PHOTO : greentumble.com

 

นอกเหนือจากข้าวโพดหรือธัญพืช ทีมงานของ Colorado Parks and Wildlife ยังพบว่ามีคนนำอาหารแปรรูปไปให้สัตว์ป่ามากขึ้น เช่นพวกขนมข้าวโพดอบกรอบ

“อาหารประเภทนั้นสามารถทำลายระบบย่อยอาหารของสัตว์ป่าได้ และแน่นอนว่าจุดจบก็คือความตาย” ซึ่งการพบกวางมูสตายที่หุบเขาซานหลุยส์นั้นเป็นสิ่งที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เป็นอย่างดี

Middledorf กล่าวเสริมว่า การให้อาหารสัตว์ป่าจะทำให้สัตว์ป่ามีพฤติกรรมพึงพิงและเข้าหามนุษย์มากยิ่งขึ้น และนี่จะกลายเป็นปัญหาที่ร้ายแรงตามมา เขาชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน มีลูกกวางมูสเข้ามาอยู่ใต้เรือแจวที่สตีมโบทรีสอร์ต ผู้คนที่อยู่อาศัยก็พยายามโยนอาหารเพื่อให้กวางเข้ามาใกล้และจะได้ถ่ายเซลฟี่กับสัตว์ป่า โดยที่ไม่ว่าจริงๆ แล้วกวางมูสเป็นสัตว์ที่มีนิสัยก้าวร้าว

ถ้ากวางมูสพุ่งเข้าทำร้าย หรือมีใครได้รับบาดเจ็บ ผลกระทบมันไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับคนคนนั้น

“ถ้าสัตว์ตัวใดโจมตีคน ก็จะต้องมีการจัดการกับสัตว์ป่าตัวนั้นด้วย” Middledorf กล่าว

ด้วยเหตุการณ์ทั้งหมด Middledorf กล่าวถึงเป้าหมายของงานรณรงค์ครั้งนี้ว่า การให้ความรู้แก่ประชาชนให้มีความเคารพต่อสัตว์ป่าพื้นถิ่นและควรรักษาระยะห่างต่อกันไว้ถือเป็นเรื่องสำคัญ

“สิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือการอยู่ร่วมกันกับสัตว์ป่า ซึ่งนั่นหมายถึงการเรียนรู้ที่จะรักษาระยะห่างของเรา และไม่ควรที่จะให้อาหารพวกมัน”

 


เรียบเรียงจาก Feeding wildlife harms, not helps, Colorado wildlife officials warn เขียนโดย Derek Maiolo
เรียบเรียงโดย เอกวิทย์ เตระดิษฐ์