ในช่วงระยะเวลาเพียง 50 ปี หนึ่งในสามของพืชและสัตว์ทุกชนิดที่อาศัยอยู่บนโลกของเราอาจสูญพันธุ์ เพราะปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์
ข้อสรุปอันสุดแสนน่ากลัวนี้มาจากงานวิจัยชิ้นใหม่เกี่ยวกับผลกระทบจากการกระทำของมนุษยชาติที่มีต่อระบบนิเวศทั่วโลก โดยเจาะลึกในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลอย่างไรกับการสูญพันธุ์ครั้งล่าสุด ซึ่งวิเคราะห์จากอัตราการเคลื่อนย้ายของสิ่งมีชีวิต และพยากรณ์จากสภาพภูมิอากาศที่อาจรุนแรงขึ้นในอนาคต
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแอริโซนา ได้ศึกษาจากข้อมูลสิ่งมีชีวิต 538 สปีชีส์ ในสถานที่ต่างๆ 581 ไซต์ทั่วโลก โดยมุ่งเน้นไปยังสปีชีส์ที่มีการศึกษาและเก็บรายละเอียดข้อมูลในพื้นที่เดิมซ้ำกันเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี
จากการวิเคราะห์รายละเอียด พวกเขาพบว่า 44% ของ 538 สปีชีส์ได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากถิ่นที่อยู่อาศัยหนึ่ง หรืออาจมากกว่านั้น
ทีมวิจัยได้วิเคราะห์จากตัวแปรการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศถึง 19 แบบในถิ่นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในแต่ละแห่งเพื่อกำหนดตัวแปรสำคัญที่มีผลต่อการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตในระดับท้องถิ่นนั้นๆ รวมทั้งยังศึกษาด้วยว่ามีประชากรที่สามารถทนต่อการเปลี่ยนแปลง และสามารถเอาตัวรอดจากการสูญพันธุ์ได้หรือไม่
นอกจากนี้ งานวิจัยยังได้ประเมินถึงความสามารถของสิ่งมีชีวิตในการเคลื่อนย้ายประชากรว่าสามารถหลบหลีกสภาพอุณหภูมิในพื้นที่ที่สูงขึ้นได้มากน้อยเพียงไร
เมื่อรวบรวมข้อมูลตามที่กล่าวทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ก็ทำให้ทราบถึงอัตราการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์หลายร้อยชนิดได้โดยละเอียด
จากการศึกษา ตัวแปรที่สำคัญมากที่สุดต่อการอธิบายว่าประชากรสิ่งมีชีวิตจะพบจุดจบการสูญพันธุ์หรือไม่ มาจากอุณหภูมิสูงสุดประจำปี และอุณภูมิสูงสุดในช่วงฤดูร้อน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยอธิบายเพิ่มเติมว่า แม้อุณหภูมิเฉลี่ยรายปีถูกนำมาใช้อ้างอิงในงานวิจัยหลายชิ้นเพื่อให้เห็นภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับการสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตแล้วกลับพบความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งหมายความว่า การใช้ข้อมูลเฉลี่ยอุณหภูมิแบบรายปีเพื่อพยากรณ์การสูญพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตจะให้รายละเอียดที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และเป็นการมองโลกในแง่ดีเกินไป
สำหรับประเด็นเรื่องการกระจายพันธุ์หรือการย้ายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์เพื่อหลบเลี่ยงอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นไปอยู่ในที่ที่มีอุณหภูมิที่เหมาะสมกว่า ในงานวิจัยพบว่า หากวัดจากอัตราการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ในข้อมูลที่ผ่านๆ มา สายพันธุ์จำนวนมากไม่สามารถหลบหลีกได้ไวพอสำหรับการเอาตัวรอด
แต่ในทางกลับกัน นักวิจัยยังพบด้วยว่า มีสิ่งมีชีวิตอีกหลายสายพันธุ์ที่อาจสามารถปรับตัวให้ทนต่อการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในระดับสูงสุดได้
โดยสรุปแล้ว หากอุณหภูมิสูงสุดเพิ่มมากขึ้นอีก 0.5 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตประมาณ 50% จะสูญพันธุ์ไปจากท้องถิ่นที่อาศัย และหากอุณภูมิเพิ่มมากเกินกว่า 2.9 องศาเซลเซียส สิ่งมีชีวิตราว 95% จะต้องพบกับจุดจบ
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์นี้จะเกิดขึ้นภายใต้ปัจจัยการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิในอนาคต
“ในแง่หนึ่ง มันคือ ‘การเลือกเส้นทางการผจญภัยของตัวเอง’” ศาสตราจารย์จอห์น วีนส์ จากมหาวิทยาลัยแอริโซนา กล่าว “ถ้าเรายึดมั่นในข้อตกลงปารีสเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เราอาจสูญเสียน้อยกว่าสองในสิบสายพันธุ์พืชและสัตว์บนโลกในปี ค.ศ. 2070”
“แต่ถ้ามนุษย์ทำให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น เราอาจสูญเสียพืชและสัตว์ไปมากกว่าหนึ่งในสามหรือครึ่งหนึ่งตามผลลัพธ์งานวิจัย”
อนึ่งในรายงานคาดการณ์ว่าการสูญพันธุ์ของพืชและสัตว์มีโอกาสเกิดขึ้นมากในพื้นที่เขตร้อน โดยอัตรามีมากกว่าพื้นที่เขตหนาวหรืออบอุ่นถึงสองถึงสี่เท่า
และนี่คือปัญหาใหญ่ เพราะพืชและสัตว์ล้วนแต่อาศัยอยู่ในพื้นที่เขตร้อนเป็นส่วนใหญ่นั่นเอง
สามารถอ่านงานวิจัย Recent responses to climate change reveal the drivers of species extinction and survival ฉบับเต็ม ได้ที่ www.pnas.org