เคลื่อนย้ายสัตว์ป่า – เฮลิคอปเตอร์บินต้อนฝูงอิมพาลานับพันให้เข้าไปอยู่ในคอก เครนยกช้างขึ้นไปหลังรถบรรทุกขนาดใหญ่ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขับรถต้อนสัตว์อีกสารพัดให้เข้าไปอยู่ในกรง ก่อนที่ขบวนรถบรรทุกจะออกเดินทางกว่า 700 กิโลเมตรเพื่อพาสัตว์ป่าเหล่านี้ไปยังบ้านแห่งใหม่
ซิมบับเวเริ่มต้นการ ‘เคลื่อนย้ายสัตว์ป่า’ กว่า 2,500 ชีวิตจากพื้นที่อนุรักษ์ทางตอนใต้ไปยังพื้นที่อนุรักษ์อีกแห่งหนึ่งทางตอนเหนือเพื่อช่วยพวกมันจากภัยแล้ง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ขึ้นแท่นภัยคุกคามสัตว์ป่าอันดับหนึ่งที่น่ากังวลกว่าการถูกล่า
ช้าง 400 เชือก อิมพาลา 2,000 ตัว ยีราฟ 70 ตัว ควายป่า 50 ตัว วิลเดอบีสต์ 50 ตัว ม้าลาย 50 ตัว กวางมูส 50 ตัว สิงโต 10 ตัว ฝูงสุนัขป่า 10 ตัว นี่คือตัวอย่างของเหล่าสัตว์ป่าที่กำลังถูกย้ายจากพื้นที่อนุรักษ์ Save Valley ไปยังพื้นที่อนุรักษ์อีก 3 แห่งทางตอนเหนือ นับเป็นการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าครั้งใหญ่อันดับต้นๆ ของแอฟริกาใต้
ปฏิบัติการดังกล่าวมีชื่อว่า “Project Rewild Zambezi (โครงการฟื้นฟูธรรมชาติลุ่มน้ำซัมเบซี)” ซึ่งเป็นการ ‘เคลื่อนย้ายสัตว์ป่า’ ไปยังพื้นที่ในหุบเขาลุ่มแม่น้ำซัมเบซีเพื่อฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ดังกล่าว
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปีที่ซัมบับเวปฏิบัติการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่าครั้งใหญ่ ย้อนกลับไปเมื่อราวปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลเคยดำเนินการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่ากว่า 5,000 ชีวิตในปฏิบัติการที่ชื่อว่า “Operation Noah” เพื่อช่วยเหลือสัตว์ป่าจากการจมน้ำเพราะการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ยักษ์บนลำน้ำซัมเบซี พื้นที่ท้ายเขื่อนดังกล่าวยังติดอันดับหนึ่งในทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดที่มนุษย์สร้างขึ้นอีกด้วย
แต่การอพยพสัตว์ป่าครั้งปัจจุบันกลับตรงกันข้าม เพราะเหล่าสัตว์ป่ากำลังเผชิญภาวะขาดแคลนน้ำเพราะถิ่นที่อยู่อาศัยดั้งเดิมเผชิญกับภาวะภัยแล้งยาวนาน สำนักงานอุทยานแห่งชาติจึงอนุญาตให้ขนย้ายสัตว์ป่าไปยังพื้นที่แห่งอื่นเพื่อหลีกเลี่ยง “ไม่ให้เกิดหายนะ” Tinashe Farawo โฆษกประจำกรมอุทยานแห่งชาติและการจัดการสัตว์ป่า ซิมบับเว ระบุ
“เราดำเนินการเพื่อลดแรงกดดันต่อทรัพยากร หลายปีที่ผ่านมา เราทุ่มเทกับการต่อสู้กับเหล่านายพรานนักล่าและถือว่าได้รับชัยชนะ แต่ไม่นานเราก็พบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าที่น่ากังวลที่สุด” Farawo กล่าวต่อสื่อมวลชน
“อุทยานแห่งชาติหลายแห่งของเรามีประชากรสัตว์ป่ามากเกินไป และมีแหล่งน้ำและอาหารน้อยเกินไป สัตว์ป่าจึงทำลายถิ่นอาศัยตนเอง พวกมันกลายเป็นภัยคุกคามตัวเองและเริ่มรุกล้ำที่อยู่อาศัยของมนุษย์เพื่อหาอาหารนำไปสู่การปะทะครั้งแล้วครั้งเล่า” เขากล่าว
หนึ่งในทางเลือกคือการคัดเพื่อฆ่าโดยมีเป้าหมายเพื่อลดจำนวนประชากรของสัตว์ป่า แต่เหล่านักอนุรักษ์ต่อต้านการฆ่าที่โหดร้ายป่าเถื่อนเช่นนี้ ซิมบับเวดำเนินการการคัดเพื่อฆ่าครั้งสุดท้ายเมื่อกว่า 35 ปีก่อน
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อสัตว์ป่าไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะที่ซิมบับเว ทั่วทั้งทวีปแอฟริกา อุทยานแห่งชาติหลายแห่งซึ่งเป็นบ้านของสัตว์ป่า เช่น สิงโต ช้าง และควายป่า ต่างก็กำลังเผชิญภัยคุกคามจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าค่าเฉลี่ย โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแห่งใหม่ รัฐบาลและผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องต้องกันว่าภัยแล้งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสัตว์อย่างแรด ยีราฟ กวาง เนื่องจากปริมาณอาหารที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ตัวอย่างเช่น การศึกษาชิ้นล่าสุดในอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ (Kruger National Park) ของแอฟริกาใต้แสดงความเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วกับการสูญเสียพืชพรรณและสัตว์ป่าซึ่งไม่สามารถรับมือกับภาวะขาดแคลนน้ำเป็นระยะเวลานานรวมถึงอุณหภูมิที่สูงขึ้นได้
การเคลื่อนย้ายสัตว์ครั้งใหญ่ครั้งนี้ได้รับทุนสนับสนุนโดย Great Plains Foundation องค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงาน “เพื่ออนุรักษ์และขยายถิ่นอาศัยตามธรรมชาติในแอฟริกาด้วยโครงการเพื่อการอนุรักษ์แบบล้ำสมัย” องค์กรดังกล่าวทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติและการจัดการสัตว์ป่า ผู้เชี่ยวชาญในท้องถิ่น มหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
หนึ่งในบ้านหลังใหม่ของเหล่าสัตว์ป่าคือเขตอนุรักษ์ซาปี (Sapi Reserve) ซึ่งบริหารจัดการโดยเอกชนและอยู่ทางตะวันออกของอุทยานแห่งชาติมานาพูลส์ (Mana Pools National Park) พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติซึ่งอยู่เลียบแม่น้ำซัมเบซี และเป็นเขตแดนระหว่างซิมบับเวและแซมเบีย
ซาปีคือ “ทางออกที่สมบูรณ์แบบ เพราะเขตอนุรักษ์แห่งนี้อยู่ใจกลางชีวมณฑลของซัมเบซี มีพื้นที่กว่า 1.6 ล้านเอเคอร์ แม้ว่ากว่าเจ็ดทศวรรษที่ผ่านมา สัตว์ป่าจะถูกล่าอย่างต่อเนื่องแต่เราก็ได้ซื้อพื้นที่ดังกล่าวกลับคืนมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ และนำประชากรสัตว์ป่ากลับคืนบ้านที่เคยเป็นถิ่นอาศัยอีกครั้ง” Dereck Joubert ผู้บริหาร Great Plains Foundation กล่าว
ถอดความและเรียบเรียงจาก Zimbabwe moves 2,500 wild animals because of climate change
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก