หญ้าทะเล คือระบบนิเวศที่สำคัญลำดับต้นๆ ของโลก
ความสำคัญของพืชดอกใบเลี้ยงเดี่ยวเพียงชนิดเดียวที่เติบโตได้ในทะเลเช่นนี้ เป็นทั้งแหล่งอาหารให้กับสัตว์ทะเล และช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ดีและเร็วกว่าป่าบนบก
อาจไม่สวยเหมือนปะการัง แต่ประโยชน์มากมายไม่แพ้กัน
และเรื่องราวของหญ้าทะเลก็ยิ่งน่าทึ่งขึ้นไปอีก เมื่อระบบนิเวศหญ้าทะเลที่สำคัญของโลก อย่างบริเวณชาร์คเบย์ ทางตะวันตกของออสเตรเลีย ถูกระบุให้เป็นพืชที่เติบโตและกินอาณาเขตใหญ่ที่สุดในโลก
คิดเป็นพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 20,000 สนาม ต่อๆ กัน
มีขนาดประมาณ 200 ตารางกิโลเมตร พอๆ กับอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
โดยพื้นฐานแล้ว ญ้าทะเลดูไม่น่าจะเป็นพืชที่มีขนาดใหญ่ได้ เพราะยังไงก็ดูเหมือนว่ามันงอกพุ่มใหม่ออกมาจากพื้นดินมากกว่า
แบบเดียวเหมือนต้นไม้ที่เกิดใหม่จากผลและเมล็ดที่ร่วงหล่นลงจากต้นกลายเป็นต้นใหม่
แต่ในข้อเท็จจริงพบว่าพืชที่ใหญ่ที่สุด หรือหญ้าทะเลกลุ่มพันธุกรรม Poseidon’s ribbon weed ได้ขยายอาณาเขตด้วยการโคลนตัวเองซ้ำๆ ต่อเนื่องกันออกไป
และโคลนทั้งหมดต่างมีมีจุดกำเนิดเดียวกัน งอกออกมาจากลำต้นใต้ดินที่เชื่อมต่อกัน (เป็นการขยายพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ) ฉะนั้นนักวิจัยจึงมองว่าพวกมันเป็นต้นเดียวกัน
และเมื่อสำรวจอัตราการเติบโต พบว่า หญ้าทะเลตรงส่วนนี้น่าจะมีอายุราวๆ 4,500 ปีแล้ว
แต่ที่น่าสนใจมากไปกว่านั้น ด้วยความที่หญ้าทะเลมีขยายอาณาเขตจนเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้แต่ละส่วนของพื้นที่เจอสภาพอากาศที่แตกต่างกัน เหล่านักวิจัยจึงตื่นเต้นที่จะหาคำตอบในประเด็นนี้ต่อไป
ในปีที่ผ่านมา สหประชาชาติชี้ว่า “แหล่งมรดกโลกทางทะเลของออสเตรเลียเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก”
แหล่งมรดกโลกทางทะเลของออสเตรเลีย 6 แห่งสามารถเก็บกักก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 40% จากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 5 พันล้านตัน ที่ถูกกักเก็บโดยแหล่งมรดกโลกทางทะเลทั้งหมด ที่มีอยู่ด้วยกัน 50 แห่ง
สำหรับแหล่งมรดกโลกทางทะเลของประเทศออสเตรเลียที่มีชื่อเสียงทั้งความงามและความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ชาร์คเบย์ หรือชายฝั่งนิงกาลู เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญ
แต่ขณะเดียวกัน ระบบนิเวศเหล่านี้อาจพังลงในอนาคต เนื่องจากสภาพที่เสื่อมโทรมลง จากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและอุณหภูมิของทะเลค่อยๆ สูงขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าความเสียหายที่กำลังกัดกินระบบนิเวศเหล่านี้อาจทำให้แหล่งเก็บกักมานานนับพันปีกลายเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เสียเอง
ตัวอย่างนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในปี 2011 เมื่อทุ่งหญ้าทะเลที่ชาร์คเบย์ได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 9 ล้านตัน เพราะถูกคลื่นความร้อนในมหาสมุทรทำลายพื้นที่ไปกว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร
องค์การยูเนสโกให้คำแนะนำว่า เราต้องเร่งอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่มรดกโลกทางทะเลไว้โดยไว เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาที่เกิดในชาร์คเบย์วนกลับมาซ้ำรอยอีกครั้ง
รวมถึงเพื่อปกป้องมนุษยชาติจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หญ้าทะเล และนิเวศวิทยา
หญ้าทะเลเป็นพืชดอกที่เจริญเติบโตอยู่ในทะเล โดยนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า ดั้งเดิมของหญ้าทะเล มีกำเนิดมาจากสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวที่เรียกว่า ไดอะตอม ที่อาศัยอยู่ในทะเล ต่อมาวิวัฒนาการเป็นพืชบก ซึ่งมีพัฒนาถึงขั้นสูงสุดเป็นพืชมีดอก ต่หญ้าทะเลเป็นกลุ่มพืชมีดอกกลุ่มเดียวเท่านั้นที่พัฒนากลับลงไปสู่ทะเล
หญ้าทะเล แพร่กระจายพันธุ์อย่างกว้างขวางในเขตน้ำตื้นชายฝั่งทะเลทั่วโลกในเขตร้อนและเขตอบอุ่น สามารถสืบพันธุ์ได้ 2 วิธีคือ การสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ และแบบอาศัยเพศ โดยการสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศนั้น หญ้าทะเลจะแตกกิ่งก้านหรือยอดใหม่จากเหง้าหรือไรโซม ส่วนการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศหญ้าทะเลจะผลิตดอกและมีการถ่ายละอองเกสร โดยใช้น้ำและคลื่นลมเป็นตัวพัดพา จากนั้น เมื่อมีการปฏิสนธิ ดอกตัวเมียจะพัฒนาเป็นผล ซึ่งภายในมีเมล็ดที่ใช้ในการแพร่ขยายพันธุ์ต่อไปได้
หญ้าทะเลมีลักษณะโครงสร้างภายนอกคล้ายคลึงกับหญ้าที่เจริญอยู่บนบกซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนคือ
ราก (root) เป็นส่วนที่ใช้ในการดูดซึมสารอาหารและแร่ธาตุจากในดินทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นดินทำให้หญ้าทะเลมีความมั่นคง
เหง้า (rhizome) เป็นส่วนของลำต้นที่เจริญคืบคลานไปใต้พื้นผิวดิน
ใบ (leafblade) เป็นส่วนที่ใช้ในการสังเคราะห์ด้วยแสงเพื่อสร้างอาหารมีรูปร่างแตกต่างกันตามแต่ชนิดของหญ้าทะเลมีทั้งชนิดที่ใบมีลักษณะเป็นแผ่นแบนและชนิดที่เป็นท่อกลมใบของหญ้าทะเลถูกนำมาใช้เป็นลักษณะสำคัญในการจำแนกชนิดของหญ้าทะเล
อ้างอิง
- World’s Largest Plant Is a Seagrass Meadow Bigger Than Brooklyn
- UNESCO reveals largest carbon stores found in Australian World Heritage Sites
Photo : Rachel Austin/UWA
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน