WWF ได้สำรวจข้อมูลผู้คนใน 5 ประเทศถึงแนวโน้มการบริโภคเนื้อสัตว์ป่า พบว่าส่วนใหญ่มีทิศทางเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปสู่การลดและเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ป่า แต่ยังมีบางส่วนที่ตั้งใจกลับไปซื้อชิ้นส่วนสัตว์ป่าอีกครั้งในอนาคต
.
เมื่อ 8 ปีก่อน หลี่ ฮง ได้เริ่มต้นทำฟาร์มงูบนที่ดินในมณฑลหูหนานตอนกลางของประเทศจีน – elaphe carinata หรือที่รู้จักกันในชื่อ King Ratsnake หรือ Taiwan stinksnake จำนวน 7,000 ตัว สร้างรายได้ให้เขาปีละประมาณ 2 ล้านหยวน (220,000 ดอลลาร์) ซึ่งมากกว่ารายได้ตลอด 51 ปีที่เคยได้รับจากการเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องทำงานอย่างหนักในโรงงานตลอดจนไซต์ก่อสร้าง
แต่แล้ว เมื่อการระบาดของโควิด-19 ประทุขึ้นในเมืองหวู่ฮั่นซึ่งอยู่ไม่ห่างจากหูหนานนัก เมื่อเดือนมกราคม 2020 รัฐบาลปักกิ่งได้ออกคำสั่งห้ามไม่ให้มีการค้าขายสัตว์ป่าที่ตามปกติแล้วจะได้รับความนิยมไปทั่วเอเชียในแง่สินค้าเสริมสุขภาพ และหนังก็ยังส่งขายให้กับกลุ่มผลิตสินค้าแฟชั่นอีกทาง รายได้ที่เคยมีของหลี่หายไป ตัวเขาได้รับเงินชดเชยเพียง 144 หยวนต่อกิโลกรัม ของงูที่ถูกทำลายทิ้ง
“วันนี้ ความต้องการของตลาดต่ำมาก และหากเราอยากกลับไปเลี้ยงงูอีก เราต้องไปที่สำนักงานป่าไม้จังหวัดเพื่อทำเรื่องของอนุญาต ซึ่งมันเป็นปัญหาที่ค่อนข้างใหญ่” เขากล่าวกับ TIME “ตอนนี้ทางการอนุญาตให้ใช้เลี้ยงเฉพาะงูที่ใช้เป็นยาเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้ในทางอื่นๆ (เช่น ใช้เป็นอาหาร)”
ไม่ได้มีแต่หลี่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ การระบาดครั้งใหญ่ได้สร้างแรงผลักดันที่นำไปสู่การห้ามขายและการบริโภคสัตว์ป่าทั่วโลก เนื่องจากประชาชนได้ตระหนักถึงสาเหตุแพร่เชื้อของโรคมากขึ้น ก่อนการประชุมสมัชชาอนามัยโลกครั้งล่าสุดในวันอาทิตย์ (สัปดาห์สุดท้ายของเดือนพฤษภาคม) รายงานของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) เปิดเผยว่า เกือบ 30% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วประเทศจีน เมียนมาร์ ไทย เวียดนาม และสหรัฐอเมริกา ล้วนแต่ตัดสินใจว่าจะบริโภคสัตว์ป่าให้น้อยลง หรือเลิกบริโภคไปเลย ด้วยเหตุผลทางวิกฤตสุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก
คาร์เตอร์ โรเบิร์ตส์ ประธานและซีอีโอของ WWF-US กล่าวว่า “โลกประสบความล้มเหลวในปีที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ การป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นในอนาคตทำให้เราต้องหันมาซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่แตกหักกับธรรมชาติ และมันต้องเริ่มต้นด้วยการยุติการค้าและการบริโภคสัตว์ป่าที่นำมาสู่ซึ่งความเสี่ยงสูง รวมถึงหยุดการตัดไม้ทำลายป่า”
.
ทัศนคติต่อสัตว์ป่าที่เปลี่ยนไปท่ามกลางโรคระบาด
ข้อมูลจากงานวิจัยชี้ให้เห็นว่าโควิด-19 มีความเป็นไปได้ถึงสามในสี่ว่าไวรัสนี้เป็นโรคอุบัติใหม่ที่ระบาดจากสัตว์สู่คน และการบริโภคเนื้อสัตว์ป่าได้ถูกนับถือเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการระบาดจากสัตว์มาสู่คน เช่นเดียวการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติที่ผลักดันให้มนุษย์กับสัตว์ป่าขยับเข้ามาอยู่ใกล้กันมากขึ้น ในประเทศจีน ชะมด ลูกหมาป่าที่มีชีวิต และลิ่น มักถูกเลี้ยงในสถานที่คับแคบ และสกปรก จึงทำให้โรคต่างๆ สามารถฟักตัวและแพร่กระจายสู่คนได้ง่าย อีโบลา ซาร์ส ไวรัสนิปาห์ และเมอร์ส เป็นตัวอย่างของโรคที่มนุษย์เผชิญในอดีต และทั้งหมดมีจุดเริ่มต้นมาจากสัตว์
แม้ว่าการบริโภคสัตว์ป่าจะถือเป็นเรื่องปกติในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ แต่ประชากรจำนวนมหาศาลของจีนทำให้ที่นี่กลายเป็นผู้เล่นหลักของประเด็นนี้ การเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าในประเทศจีนเริ่มต้นขึ้นช่วงต้นทศวรรษ 1980 โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามบรรเทาปัญหาความยากจนให้กับประชาชน
อุตสาหกรรมสัตว์ป่าของจีนทำให้เกิดการจ้างงานราว 14 ล้านคน และมีมูลค่าตลาดประมาณ 76 พันล้านดอลลาร์ในปี 2016 โดยในกลุ่มเมนูพิสดารมีมูลค่า 19 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของสถาบันการศึกษาแห่งชาติของสาธารณรัฐประชาชนจีนด้านวิศวกรรม (Chinese Academy of Engineering) ระบุว่า “อุตสาหกรรมสัตว์ป่ามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาค และเพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจของเกษตรกรและคนงานป่าไม้ และเกิดรายได้ภาษีท้องถิ่นเป็นอย่างมาก”
แต่เรื่องราวที่ว่ามานี้กำลังเปลี่ยนไปเมื่อโควิด-19 เริ่มระบาด ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 ไม่นานหลังจากตรวจพบการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกที่ตลาดในหวู่ฮั่น ซึ่งเป็นสถานที่ขึ้นชื่อด้านการค้าขายสัตว์ป่า – รัฐบาลจีนได้ประกาศห้ามไม่ให้มีการบริโภคสัตว์ป่าทั้งประเทศ ทัศนคติของผู้คนก็เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนต่างตระหนักถึงอันตรายจากการกินสัตว์ป่า
ผู้ตอบแบบสำรวจ WWF ในประเทศจีน จำนวน 91% คิดว่าการปิดตลาดสัตว์ป่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันการระบาดใหญ่ในอนาคต ในขณะเดียวกันมีผู้ตอบแทบสำรวจ 28% บอกว่าจะบริโภคให้น้อยลง หรือหยุดบริโภคสัตว์ป่าไปเลย โดย 41% ของผู้ตอบแบบสอบถามในประเทศไทยและ 39% ในเวียดนามมีทิศทางการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่คล้ายกัน
แม้จะมีการรับรู้เพิ่มขึ้น แต่ก็ยังมีคนที่ตัดสินใจกินเนื้อสัตว์ป่าเป็นหลักต่อไป โดย 9% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความตั้งใจที่จะซื้อผลิตภัณฑ์จากสัตว์ป่าในอนาคต ซึ่งมุมองนี้ปรากฎในทุกประเทศที่ WWF ได้สำรวจเช่นกัน ขณะเดียวกัน แม้รัฐบาลจีนได้สั่งห้ามการค้าสัตว์ป่าไปแล้ว แต่ประธานาธิบดี สี จิ้น ผิง ยังคงส่งเสริมด้านการแพทย์แผนจีน ซึ่งวิธีการรักษาจำนวนมากเชื่อมโยงกับการใช้ชิ้นส่วนสัตว์ป่า
หลี่ เจ้าของฟาร์มงูเคยคิดว่าชีวิตของเขามีความมั่นคง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน เขาบอกว่าเงินชดเชยจากสัญญาที่เขาได้รับไม่เพียงพอสำหรับค่าอาหาร และค่าแรง เขาถูกบังคับให้กู้เงินจากธนาคารเพื่อหาทุนมาปลูกสมุนไพรขายให้กับแพทย์แผนจีน เพราะใช้ต้นทุนในการเริ่มต้นต่ำ
“ฉันไม่มีทางเลือก” หลี่ยักไหล่ “แต่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของชาติ”
อ้างอิง COVID-19 Has Slashed Asia’s Appetite for Wild Animals, a New Report Finds
ผู้เขียน
ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม