ไฟป่าจะรุนแรงขึ้น 50 เท่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ กระทบสุขภาพคน และชีวิตสัตว์

ไฟป่าจะรุนแรงขึ้น 50 เท่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ กระทบสุขภาพคน และชีวิตสัตว์

UNEP ประเมินว่า ความรุนแรงของไฟป่าจะเพิ่มขึ้น 50 เท่า ภายในสิ้นศตวรรษนี้ กระทบสุขภาพคนและชีวิตสัตว์ป่า แนะแต่ละประเทศเร่งตั้งงบรับมือ รวมถึงแก้ไข ‘วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้ไฟป่ารุนแรงขึ้นในปัจจุบัน

.
เหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้วในปัจจุบัน ที่ทำให้หลายภูมิภาคทั่วโลกมีอุณหภูมิสูง และก่อให้เกิดความแห้งแล้งเพิ่มมากขึ้น กำลังเร่งเร้าให้ ‘ไฟป่า’ มีความรุนแรงยิ่งขึ้น

โดยข้อมูลจากงานวิจัยใหม่ของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) เผยให้เห็นว่า นับจากนี้ไฟป่าจะเผาไหม้ได้นานขึ้นและร้อนขึ้น ในขณะเดียวกัน สถานที่ที่ไม่เคยเกิดไฟป่ามาก่อน ก็อาจเกิดไฟป่าขึ้นได้เช่นกัน

ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้สภาพอากาศสุดขั้วในออสเตรเลีย เพิ่มความรุนแรงให้กับไฟป่าในปี 2019-2020 มากขึ้นกว่า 30%

นอกจากนี้ ยังพบว่าป่าที่สูงบนเทือกเขาร็อกกี้กำลังลุกไหม้มากกว่าครั้งไหนๆ ในช่วง 2,000 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ไฟป่าในสหรัฐอเมริกาฝั่งตะวันตกได้แสดงพฤติกรรมไฟที่รุนแรงและปล่อยควันฟุ้งกระจายไปไกลเกือบทั่วประเทศ

ตามการวิเคราะห์ของ UNEP คาดการณ์ว่า ภายในปี 2030 ไฟป่าจะเพิ่มขึ้น 14% และเพิ่มมากกว่า 30% ภายในปี 2050 และจะสูงกว่า 50% เมื่อสิ้นศตวรรษหรือภายในปี 2100

ตามรายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนทำให้เกิดไฟป่ารุนแรงขึ้นเพราะความแห้งแล้งที่เพิ่มขึ้น อุณหภูมิที่สูงขึ้น ความชื้นต่ำ การเกิดฟ้าผ่าบ่อยครั้ง และกระแสลมที่พัดแรง ช่วยเป็นเชื้อไฟให้ไฟมีความรุนแรงมากขึ้น

ในขณะเดียวกัน ไฟป่าก็ย้อนกลับมาทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงขึ้น กลายเป็นวงจร

สถานะของไฟป่าที่คาดว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นนี้ ทาง UNEP ได้เสนอให้ประเทศต่างๆ เพิ่มค่าใช้จ่ายในการป้องกันไฟป่า รวมทั้งการติดตามความเสียหาย

โดยทาง UNEP ได้แสดงความกังวลเป็นพิเศษกับประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำ เพราะผลกระทบจากไฟป่าจะส่งผลเสียต่อทั้งการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและสุขภาพของประชาชน

อาทิเช่น ผู้คนต้องทนทุกข์ทรมานจากควันที่พวกเขาสูดดมระหว่างเกิดเพลิงไหม้ ทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจและหลอดเลือดหัวใจ และจะเกิดมลพิษขึ้นในแม่น้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกด้านของชีวิตประชาชน

ต้นทุนในการดูแลพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากไฟไหม้เป็นภาระที่ไม่ยั่งยืนสำหรับประเทศที่มีรายได้ต่ำ

ผลการศึกษาล่าสุดพบว่า การได้รับควันไฟป่าส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 รายต่อปี ใน 43 ประเทศ

ขณะที่ผลการศึกษาอีกชิ้นหนึ่ง พบว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละอองจากควันไฟป่าในปี 2020 ส่งผลให้มีผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มขึ้นและมีผู้เสียชีวิตในแคลิฟอร์เนีย โอเรกอน และวอชิงตัน

รายงานของ UNEP ยังระบุด้วยว่าไฟป่าเป็นภัยคุกคามต่อสัตว์ป่าและพืชพรรณอย่างใหญ่หลวง หลายชนิดอาจหายไปจากพื้นโลก

ตัวอย่างเชิงประจักษ์ เช่น เหตุการณ์ไฟป่าในออสเตรเลีย มีส่วนสำคัญในการทำให้ถิ่นที่อยู่อาศัยของโคอาล่าถูกทำลาย และเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ล่าสุดพวกมันถูกประกาศให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์ในบางรัฐ

หรือจากเหตุการณ์ไฟไหม้พื้นที่ชุ่มน้ำแพนทานอล ที่ทำให้มีพื้นที่ได้รับความเสียหายไป 4.5 ล้านเฮกตาร์ ก็คาดว่ามีสัตว์ป่าตายไปในกองเพลิงมาถึง 17 ล้านตัว

ผู้เชี่ยวชาญยืนยันว่าประเทศต่างๆ จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับไฟป่าให้ดีขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่แก้ไขไม่ได้

แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้ไฟป่ามีความรุนแรงยิ่งขึ้น ผ่านความพยายามในการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

และหากเกิดไฟป่าในวงกว้าง ประเทศต่างๆ ก็จำเป็นต้องเตรียมพร้อมสำหรับการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบอย่างรวดเร็ว

 

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน