นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่า น้ำลายของหนอนผีเสื้อกลางคืนสามารถละลายได้แม้กระทั่งพลาสติกที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก จากผลการศึกษาใหม่ที่นำโดย Spanish National Research Council (CSIC)
สารประกอบในน้ำลายสามารถทำลายโพลิเอทิลีน ซึ่งเป็นวัสดุพลาสติกที่เหนียวและทนทาน การค้นพบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้เชื่อกันว่าเป็นการค้นพบครั้งแรกในประเภทนี้ และชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกที่เพิ่มขึ้น
การศึกษาได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันอังคารที่ 4 ตุลาคม นำโดยทีมนักวิจัยจาก CSIC ซึ่งอ้างว่าการค้นพบครั้งใหม่นี้อาจมีนัยสำคัญต่ออนาคตของสิ่งแวดล้อมโลกในการกำจัดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน
การศึกษาที่นำโดย CSIC กล่าวว่าการย่อยสลายของพลาสติกโดยระบบชีวภาพอาจเป็นวิธีแก้ปัญหาในอนาคตสำหรับภัยคุกคามทั่วโลกที่เกิดจากมลพิษพลาสติกหรือการสะสมของขยะพลาสติก ในรายงานฉบับใหม่ ทีมวิจัยรายงานว่าน้ำลายของตัวอ่อน Galleria mellonella สามารถออกซิไดซ์และสลายโพลีเมอไรซ์ได้
การละลายของพลาสติกที่ได้มาจากโพลิโอเลฟินซึ่งมีความทนทานและผลิตมากที่สุดในโลกชิ้นหนึ่งจะมีผลหลังจากสัมผัสน้ำลายของหนอนผีเสื้อกลางคืนในเวลาไม่กี่ชั่วโมงภายใต้อุณหภูมิห้องและในสภาวะทางสรีรวิทยาที่เหมาะสม (ค่า pH เป็นกลาง)
น้ำลายของหนอนสามารถเอาชนะขั้นตอนการอุดตันในการย่อยสลายทางชีวภาพของโพลิเอทิลีน ซึ่งเป็นระยะออกซิเดชันเริ่มต้น ภายในน้ำลาย ทีมงานได้ระบุเอ็นไซม์สองชนิด ซึ่งเป็นของตระกูลฟีนอลออกซิเดส ซึ่งสามารถทำซ้ำได้ในลักษณะเดียวกัน
ผู้เขียนรายงานระบุว่า เอ็นไซม์เหล่านี้เป็นเอนไซม์จากสัตว์ตัวแรกที่มีความสามารถดังกล่าว ซึ่งปูทางไปสู่การแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในการจัดการขยะพลาสติกผ่านการรีไซเคิลทางชีวภาพหรืออัพไซเคิลชีวภาพ
โพลิเอทิลีนคืออะไร?
โพลิเอธิลีนซึ่งเป็นรูปแบบมลพิษพลาสติกที่เลวร้ายที่สุดรูปแบบหนึ่ง สามารถย่อยสลายได้จากสารเคมีที่ค้นพบในน้ำลายของหนอนผีเสื้อกลางคืน วัสดุพลาสติกดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 30 เปอร์เซ็นต์ ของการผลิตพลาสติก ตามที่ Clemente Fernandez Arias ผู้เขียนร่วมการศึกษากล่าว
วัสดุนี้ส่วนใหญ่ใช้สำหรับวัตถุแบบใช้ครั้งเดียว เช่น บรรจุภัณฑ์อาหารและถุงพลาสติก โพลิเอธิลีนเป็นหนึ่งในพลาสติกที่รีไซเคิลและกำจัดได้ยากที่สุดในโลก Arias กล่าวเสริม
การสลายตัวของพลาสติก
ในการวิจัยก่อนหน้านี้ แบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดสามารถย่อยสลายพลาสติกได้ตัวอย่างเช่น แบคทีเรีย Ideonella sakaiensis สามารถย่อย PET ซึ่งเป็นวัสดุพลาสติกที่ใช้ทำขวดน้ำ นอกจากนี้ ยังพบว่าเชื้อรา Aspergillus tubingensis ทำลายวัสดุที่เป็นพลาสติกโพลียูรีเทน ซึ่งผลิตขึ้นเพื่อทำกาว เสื้อผ้า และโฟม ตามรายงานของ Newsweek
ขยะพลาสติกก่อให้เกิดมลพิษทางทะเลมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และมีขยะประมาณ 8 ถึง 10 ล้านเมตริกตันปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรในแต่ละปี การวิจัยแสดงให้เห็นว่าพลาสติกจะมีปริมาณมากกว่าจำนวนปลาทั้งหมดในทะเลภายในปี 2050 ตามรายงานขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO)
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้ผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกมากกว่าในศตวรรษก่อนหน้า ปัจจุบัน มีพลาสติกและไมโครพลาสติกประมาณ 50 ถึง 75 ล้านล้านชิ้นในมหาสมุทร ยูเนสโกกล่าว
เรื่อง : ปีกาญจนา สินวราวิวัฒน์
เรียบเรียงจาก : Wax Worm Saliva Found to Dissolve Even the World’s Most-Polluting Plastic
ภาพเปิดเรื่อง : CSIC Communications Department