สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยแก๊สมีเทน 30 เปอร์เซ็นต์

สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยแก๊สมีเทน 30 เปอร์เซ็นต์

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกาและสภาพยุโรปมีการประกาศให้คำมั่นร่วมกันเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกลง 1 ใน 3 ภายในทศวรรษหน้า ท่ามกลางเสียงชื่นชมของผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิอากาศที่มองว่านี่คือก้าวสำคัญในการทำตามข้อตกลงปารีส

.
คำมั่นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ อันโตนิโอ กูเตอร์เรส (António Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติประกาศเตือนว่า “มีความเสี่ยงสูงที่จะล้มเหลว” ในงานแถลงข่าวเรื่องการประชุม COP26 ซึ่งจะจัดขึ้นที่กลาสโกลว์เดือนพฤศจิกายนนี้

มีเทนคือแก๊สเรือนกระจกที่อันตรายโดยมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาระดับการปล่อยแก๊สมีเทนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การผลิตและขุดเจาะแก๊สธรรมชาติ การผลิตเนื้อสัตว์ และเกษตรกรรมอีกหลายรูปแบบคือต้นตอสำคัญของแก๊สดังกล่าว

คำมั่นของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปที่ตั้งเป้าลดการปล่อยแก๊สมีเทนให้ได้ 30 เปอร์เซ็นต์โดยอิงจากเกณฑ์ฐานในปี พ.ศ. 2563 และจะทำให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2573 หากทุกประเทศจับมือทำเช่นนี้จะช่วยลดอุณภูมิได้ราว 0.2 องศาเซลเซียสภายในอีกสองทศวรรษข้างหน้าเมื่อเทียบกับเส้นการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด ปัจจุบันโลกร้อนขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

บอริส จอห์นสัน ระบุว่าสหราชอาณาจักรจะเป็นประเทศแรกที่เข้าร่วมกัลป์คำมั่นที่ริเริ่มโดยสหรัฐและสหภาพยุโรปหลังจากที่มีการเปิดให้ลงนามที่ COP26 เขาแถลงต่อการพบปะของผู้นำเขตเศรษฐกิจสำคัญในโลกเมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาว่า “ตลอด 30 ปีที่ผ่านมา สหราชอาณาจักรลดการปล่อยแก๊สมีเทนไปได้ราว 60 เปอร์เซ็นต์ เราสามารถใช้มีเทนเชิงพาณิชย์ได้หลากหลาย ทั้งการผลิตเป็นเส้นใย หรือสารต่อต้านการกลายเป็นน้ำแข็ง ดังนั้นทั่วโลกสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เป็นอันตรายนี้ได้โดยใช้เวลาไม่นานหากคิดจะทำ”

คำมั่นดังกล่าวนับเป็นชัยชนะก่อนการประชุม COP26 ซึ่งดูเหมือนจะด้อยค่าความสำคัญลงไปมากโดยมีรายงานล่าสุดสองฉบับระบุว่าโลกเดินหน้าต่ำกว่าเป้าหมายไปไกล

องค์การสหประชาชาติรายงานเมื่อกลางเดือนกันยายนพบว่า คำมั่นในปัจจุบันเพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของหลายประเทศทั่วโลกจะส่งผลให้มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 16 เปอร์เซ็นต์ในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับระดับการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเมื่อ พ.ศ. 2553 ขณะที่นักวิทยาศาสตร์เตือนว่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจะต้องลดลง 45 เปอร์เซ็นต์ภายในช่วงเวลานี้หากต้องการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือโออีซีดี ยังเผยแพร่รายงานระบุถึงการระดมเงินทุนเพื่อรับมือโลกร้อนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่ไหลบ่าจากประเทศร่ำรวยสู่ประเทศกำลังพัฒนา ช่วยให้ประเทศปลายทางสามารถลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกและหาทางลดผลกระทบจากวิกฤติภูมิอากาศ ตัวเลขดังกล่าวต่ำกว่าเป้า 100 พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีไปถึง 20 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

อันโตนิโอ กูเตอร์เรสกล่าวอีกว่า “โลกกำลังอยู่บนเส้นทางสู่หายนะที่อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 2.7 องศาเซลเซียส มีความเสี่ยงอย่างยิ่งที่เราจะล้มเหลวใน COP26 ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่าทุกคนจะต้องตระหนักความรับผิดชอบของตัวเอง เราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการระดมเงินทุน การปรับตัว และการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก… นี่คือคำถามสำคัญว่าด้วยความเชื่อใจ”

เขาเสริมว่าความล้มเหลวที่จะก้าวออกมาเพื่อให้คำมั่นในการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่มากขึ้นจะเป็นการ “ผิดคำสัญญาที่ให้ไว้เมื่อหกปีก่อนว่าจะทำตามเป้าหมายในการลด 1.5 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส การที่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายนี้ได้หมายถึงการสูญเสียชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมหาศาล”

อันโตนิโอ กูเตอร์เรสและบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรจะเรียกประชุมด่วนของผู้นำกว่า 30 คนทั่วโลกที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นิวยอร์ก โดยมีเป้าหมายเพื่อทลายข้อจำกัดในการจัดหาเงินทุนเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสร้างกรอบพื้นฐานที่จะผลักดันในการประชุม COP26 สหราชอาณาจักรตั้งเป้าการเป็นเจ้าภาพจัดประชุม COP26 เพื่อ “รักษา” ความหวังที่จะจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเป้าหมายในข้อตกลงปารีสเมื่อปี พ.ศ. 2558 

พอล เบลดโซ (Paul Bledsoe) จาก Progressive Policy Institute กรุงวอชิงตันดีซีระบุว่าการลดการปล่อยแก๊สมีเทนถือเป็นส่วนสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว “สหภาพยุโรปและโจ ไบเดน ควรได้รับคำชื่นชมจากการขับเคลื่อนครั้งนี้ เพราะนี่คือก้าวสำคัญที่เป็นรูปธรรมสู่ความสำเร็จในการประชุม COP26”

จากรายงานโดยสหประชาชาติในเดือนพฤษภาคม การลดการปล่อยแก๊สมีเทนคือวิธีที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วที่สุดในการลดอัตราการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและทำให้เรายังอยู่ในเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change) องค์การระดับโลกเรื่องวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศยังประกาศในเดือนสิงหาคมให้มีการ “ลดการปล่อยแก๊สมีเทนอย่างรวดเร็วและยั่งยืน”

ปีที่ผ่านมาพบระดับการปล่อยแก๊สมีเทนเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์จากรายงานของสหประชาชาติ โดยแหล่งสำคัญคืออุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล การปศุสัตว์ และขยะเน่าเสีย แต่สหประชาชาติยังพบว่าเราสามารถลดมีเทนได้ครึ่งหนึ่งภายในปี พ.ศ. 2573 โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันและใช้ต้นทุนในระดับที่สมเหตุสมผล การกระทำบางอย่างในสัดส่วนที่พอเหมาะอาจทำกำไรได้ด้วยซ้ำ เช่นการเก็บแก๊สมีเทนที่รั่วไหลจากแหล่งขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล

เดอร์วู้ด เซลกี (Durwood Zaelke) ประธาน Institute for Governance and Sustainable Development กล่าวว่า “ประธานาธิบดีไบเดนและจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้เปลี่ยนแปลงการเมืองเรื่องวิกฤติภูมิอากาศโดยใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนโดยปรับความสนใจจากปี พ.ศ 2593 มายังปี พ.ศ. 2573 รวมทั้งระบุว่าทศวรรษนี้เราต้องทำอะไรบ้าง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวทั้งสองจึงผลักดันประเด็นเรื่องการลดการปล่อยแก๊สมีเทน และยกระดับให้เป็นวาระระดับโลก” 

เขาระบุว่า “การลดการปล่อยแก๊สมีเทนคือวิธีที่เร็วที่สุดในการชะลอภาวะโลกร้อนในสองทศวรรษข้างหน้า มีเปิดโอกาสให้เราสามารถมองเห็นเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส การลดมีเทนยังเป็นความหวังสุดท้ายที่จะทำให้โลกนี้ปลอดภัย กุญแจสำคัญคือการใช้คำมั่นทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยมีเทนคือจุดเริ่มต้นในการลดแก๊สเรือนกระจกที่อันตรายที่สุดโดยใช้เวลาน้อยที่สุด”


ถอดความและเรียบเรียงจาก US and EU pledge 30% cut in methane emissions to limit global heating

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก