เมื่อสัตว์ป่าถูกพรากชีวิตไปจากพงไพร เราอาจคาดเดาได้ว่าสาเหตุนั้นคงมาจากการบุกรุกพื้นที่ป่าของมนุษย์ ที่เข้าไปแย่งแหล่งหาอยู่หากินของพวกมัน ผ่านการพัฒนาที่ไม่ได้วางแผนไว้อย่างเป็นระเบียบให้ดีเสียก่อน รวมไปถึงการล่าเพื่อการใช้ประโยชน์จากสัตว์
หากแต่ตอนนี้ อุบัติเหตุบนท้องถนนถือปัจจัยเสี่ยงอีกเรื่องหนึ่ง ที่มีส่วนต่อการคุกคามฆ่าชีวิตสัตว์ป่าในประเทศมาเลเซีย
นี่คือเรื่องจริงของ “สมเสร็จมลายู” หลายชีวิต ที่กำลังเผชิญชะตากรรมในฐานะเหยื่อบนเส้นทางสายมรณะ
ซัลมาน ซาบาน ผู้อำนวยการกรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติของรัฐยะโฮร์ อธิบายอย่างเป็นกังวลว่า ในอนาคต 5 – 10 ปี ข้างหน้า อุบัติเหตุบนท้องถนนจะกลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรสมเสร็จลดน้อยลง
เขาบอกว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม – 25 กุมภาพันธ์ บันทึกการตายของสมเสร็จโดยอุบัติเหตุบนท้องถนนในรัฐยะโฮร์ มีถึง 6 ตัว
และนับตั้งแต่ ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา จนถึงสิ้นปลายปี 2019 มีสมเสร็จตายเพราะอุบัติเหตุถึง 14 ตัว
อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ได้เป็นเพียงเหตุผลเดียวที่สร้างอันตรายกับสมเสร็จ – ซัลมาน กล่าวว่า ความตายของสมเสร็จอีกมากเกิดขึ้นเพราะกับดักของกลุ่มลักลอบล่าสัตว์ และจากกลุ่มเกษตรกรที่พยายามป้องกันพืชผลที่เพาะปลูกจากสัตว์ป่า
แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลเชิงสถิติที่ชัดเจนในรายละเอียดต่อจำนวนการตายของสมเสร็จจากกับดัก แต่ซัลมานยืนยันว่า “บ่วงลวด” สามารถทำให้สมเสร็จได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการรัดเข้าที่คอของพวกมัน
เขาบอกว่ามีหลายครั้งที่สมเสร็จได้รับการช่วยเหลือจากบ่วงกับดักก่อนที่พวกมันจะตาย แต่สุดท้ายสมเสร็จก็จบชีวิตลงภายในเวลาไม่นาน เพราะอาการอักเสบของบาดแผล
“สมเสร็จตายเพราะอาการบาดแผลติดเชื้อ และเกิดภาวะ Capture myopathy (โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันจากการที่กล้ามเนื้อบางจุดเกิดความเสียหาย) รวมถึงการเกิดภาวะHypovolemic shock หรืออาจมาจากสาเหตุอื่นๆ”
Hypovolemic shock เป็นภาวะที่คุกคามชีวิตสัตว์ จากการที่ร่างกายสูญเสียเลือดหรือของเหลวมากกว่า 20% (หนึ่งในห้า) ทำให้หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ในปริมาณที่เพียงพอ จึงนำไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลว
นอกจากปัจจัยคุกคามที่ว่ามา ส่วนที่ทำให้สมเสร็จมีอัตราเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ยังรวมถึงอัตราการสืบพันธุ์ที่ต่ำ
โดยปกติแล้วเพศหญิงจะใช้เวลาประมาณ 13 เดือน และจะไม่มีลูกอีกเป็นเวลา 2 ปี ก่อนจะตั้งท้องครั้งถัดไป ซึ่งหมายถึงว่า กว่าทารกสมเสร็จตัวต่อไปจะลืมตาดูโลกก็ต้องใช้เวลาอีกราว 3 ปี 6 เดือน
“ด้วยเหตุนี้สมเสร็จเพศเมียจึงสามารถให้กำเนิดลูกน้อยได้เพียง 5 – 6 ตัว ในตลอดช่วงชีวิตเท่านั้น” – อายุขัยเฉลี่ยของสมเสร็จคือ 30 ปี
ปัจจุบัน คาดว่ามีสมเสร็จมลายูเหลืออยู่อาณาเขตป่าของรัฐยะโฮร์ประมาณ 295 ตัว
ตัวเลขดังกล่าวมาจากการศึกษาความหนาแน่นของจำนวนประชาการในพื้นที่ป่าของรัฐยะโฮร์ โดยพบจำนวนประชากรหนาแน่นที่สุดในอุทยานแห่งชาติเอ็นเดารอมปิน
ซัลมาน กังวลว่า ในอีก 10 – 15 ปี ข้างหน้า สมเสร็จอาจมีชะตากรรมเช่นเดียวกับแรดสุมมาตรา ซึ่งได้สูญพันธุ์จากผืนป่าในมาเลเซียไปเรียบร้อยแล้ว
“ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องสร้างมีมาตรการเข้าจัดการทันที เช่น การติดตั้งป้ายประชาสัมพันธ์ตลอดถนนหนทางที่เป็นจุดเสี่ยงและถือเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยสำคัญของสมเสร็จ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุที่จะเกิดกับพวกมัน” ซัลมาน กล่าว
จนถึงตอนนี้มีการติดตั้งป้ายระวังสมเสร็จจำนวน 41 แห่งตามถนนสายต่าง ๆ ที่สมเสร็จใช้ข้าม
“กรมสัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติของรัฐยะโฮร์กำลังเร่งสร้างมาตราการเพื่อลดอัตราการตายของสมเสร็จจากอุบัติเหตุและกับดักล่าสัตว์” ซัลมาน กล่าว
นอกจากนี้ กรมสัตว์ป่าฯ ยังจัดทำโครงการเสริมสร้างที่อยู่อาศัย เช่น การทำโป่งเทียมเพื่อสร้างแหล่งอาหารและเพิ่มแร่ธาตุที่จำเป็นสำเร็จสมเสร็จไว้ในพื้นที่ที่ได้รับการบันทึกว่ามีจำนวนประชากรอาศัยอยู่หนาแน่นสูง เช่นในป่าสงวนปันติ และป่าสงวนเซดิลี ในเขตโกตาติงกิของรัฐยะโฮร์
ซัลมาน ยังอธิบายอีกว่า การสร้างจิตสำนึกสาธารณะแก่ประชาชน เช่น การจัดนิทรรศการ การออกไปพบปะพูดคุยเพื่อให้ความรู้เรื่องความสำคัญของสัตว์ป่าและการปกป้องสัตว์ป่าแก่ประชาชน ก็ถือเป็นงานสำคัญไม่น้อยไปกว่ามาตราการด้านอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญของงานอนุรักษ์สมเสร็จ คือ ข้อจำกัดทางการเงิน ที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความยากลำบาก
รวมไปถึงปัจจัยที่มาจากการขาดความรับผิดชอบของผู้คนที่ลักลอบทำเกษตรแบบผิดกฎหมาย ซึ่งได้ขยับเข้ามาใกล้ที่อยู่อาศัยของสมเสร็จมากขึ้นทุกขณะ
“สมเสร็จเป็นสัตว์กินพืช พวกมันจะกินหน่อและใบจากพืชที่หลากหลายมากถึง 115 ชนิด และพวกมันยังต้องการเกลือแร่เป็นอาหารเสริม แต่หากการหาอาหารในป่ามีปัญหา สมเสร็จก็จะออกไปหาอาหารในฟาร์มเกษตร สวนผลไม้ ตามหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียง ซึ่งจะทำให้พวกมันเสี่ยงต่อการถูกทำร้ายมาก ๆ”
- ทำความรู้จัก สมเสร็จ และเรื่องราวที่เกี่ยวข้องได้ที่นี่
- อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ได้ที่ The 6th Extinction