นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าโลกได้ผ่านเหตุการณ์ “การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่” มาแล้ว 5 ครั้ง โดยแต่ละครั้งเกิดการสูญเสียมากกว่า 75% ของจำนวนสิ่งมีชีวิตโดยประมาณ
.
แต่สำหรับเรื่องราวของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 นั้นแตกต่างออกไป
เนื่องจากเหตุการณ์คราวนี้ถูกชี้ว่าเป็นการสูญพันธุ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกที่มี ‘มนุษย์’ เป็นต้นเหตุโดยตรง – ตามรายงานล่าสุดที่ตีพิมพ์ใน Biological Reviews จัดทำโดยนักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาย และพิพิธภัณฑ์ National d’Histoire Naturelle ในปารีส ประเทศฝรั่งเศส
ในความเป็นจริง การอภิปรายเกี่ยวกับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 เกิดขึ้นมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่บางคนยังคงสงสัยหรือปฏิเสธข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ เนื่องจากยังมีผู้เห็นแย้งว่าประมาณการอัตราการสูญพันธุ์นั้นเกินจริง
ขณะที่บางคนกลับบอกว่าไม่เป็นไร เพราะมันสายเกินไปแล้ว เราอยู่ท่ามกลางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้ว และเพราะมนุษย์คือส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ดังนั้น การสูญพันธุ์ที่เกิดจากมนุษย์จึงเป็นส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการบนโลก
โรเบิร์ต โควี หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวในการแถลงข่าวว่า
.
อัตราการสูญพันธุ์ของสายพันธุ์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและจำนวนสัตว์และพืชจำนวนมากที่ลดลงได้รับการบันทึกไว้เป็นอย่างดี แต่บางคนก็ปฏิเสธว่าปรากฏการณ์เหล่านี้นำไปสู่การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่
.
“การปฏิเสธนี้มีพื้นฐานมาจากการประเมินวิกฤตที่เอนเอียงอย่างสูง ซึ่งมุ่งเน้นไปที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก แต่ละเลยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งแน่นอนว่ามันคือสิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่ในความหลากหลายทางชีวภาพ”
“การรวมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นกุญแจสำคัญในการยืนยันว่าเรากำลังอยู่ในยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หกในประวัติศาสตร์ของโลก” โควีกล่าว
นักวิจัยมุ่งเน้นไปที่หอยเพราะมันเป็นกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่รู้จักกันดี และมีความเป็นไปได้ว่าเราสามารถทำความรู้จักหอยมากกว่าสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ
เนื่องจากเรายังสามารถพบหลักฐานของการสูญพันธุ์ของพวกมันได้จากเปลือกของหอยที่เหลือทิ้งไว้
ขณะที่สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังชนิดอื่นๆ อีกจำนวนมากไม่มีซากให้เห็น ตัวอย่างเช่น ในฮาวาย ผีเสื้อกลางคืนและผีเสื้อส่วนใหญ่สูญพันธุ์ไปก่อนที่จะถูกรวบรวมและอธิบายชนิดพันธุ์ไว้อย่างเป็นระบบ
หมายความว่า เราจะไม่มีวันรู้แน่ชัดว่าชนิดพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วมีจำนวนมากมายมหาศาลแค่ไหน
จากการดูการสูญพันธุ์ของหอยทากและทากในครั้งแรก นักวิจัยได้คาดการณ์ข้อมูลดังกล่าวและสรุปได้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1500 เป็นต้นมา มีประมาณ 7.5-13% หรือระหว่าง 150,000-260,000 สายพันธุ์ จาก 2 ล้านสายพันธุ์ที่รู้จักได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
นักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่หนนี้จะชัดเจนมากขึ้นภายในหนึ่งหรือสองสามศตวรรษข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อชะลอหรือหยุดอัตราการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในปัจจุบัน
ความพยายามในการอนุรักษ์มีความสำคัญ แม้ว่ามันมักวนเวียนหรือเน้นไปที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนก โดยนักวิจัยแนะนำว่าอาจเป็นประโยชน์มากกว่าที่จะมุ่งเน้นความพยายามในการขจัดภัยคุกคามที่เฉพาะเจาะจง
ตัวอย่างเช่น การห้ามล่าสัตว์ได้ช่วยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในทะเล
การกำจัดสายพันธุ์ที่รุกรานได้ช่วยสัตว์ประจำถิ่นและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบนเกาะ
และการห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืช อาทิ DDT ก็เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์เหยี่ยวเพเรกรินให้ม่กลับมาโบยบินอยู่บนท้องฟ้าในอเมริกาเหนืออีกครั้ง
การกระทำเหล่านี้จะช่วยให้กระบวนการการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่เกิดช้าลง – แม้ว่ายังไม่มีสิ่งใดเพียงพอก็ตาม
ในรายงานยังระบุไว้ด้วยว่า “นักชีววิทยาด้านการอนุรักษ์และหน่วยงานอนุรักษ์โดยเฉพาะกำลังทำในสิ่งที่ทำได้ โดยเน้นไปที่นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ถูกคุกคามเป็นหลัก ซึ่งบางสายพันธุ์อาจรอดจากการสูญพันธุ์ที่จะเกิดขึ้น”
“แต่เราก็ยังต้องมองโลกในแง่ร้ายเกี่ยวกับชะตากรรมของความหลากหลายทางชีวภาพส่วนใหญ่ของโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะหายไปโดยที่เราไม่รู้ว่ามีอยู่จริง”
นักวิจัย เรียกร้องให้เผยแพร่ข้อความว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่ทำให้โลกนี้น่าสนใจและสวยงาม และความจริงที่ว่าการสูญพันธุ์กำลังเกิดขึ้นในอัตราที่มากขึ้นเพราะมนุษย์”
และได้เรียกร้องให้นักอนุกรมวิธานจัดทำบัญชีรายชื่อพันธุ์ ก่อนที่มันจะสายเกินไป
โดยเฉพาะสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งฐานข้อมูลค่อนข้างต่ำ และมีอย่างน้อย 6 ล้านสปีชีส์ยังคงไม่มีเอกสาร
อ้างอิง
-
The Sixth Mass Extinction: fact, fiction or speculation?
-
Earth on trajectory to Sixth Mass Extinction say biologists
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน