นานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเรื่องสัตว์ป่าครั้งใหญ่ที่สุดของโลกได้ลงมติให้กำกับดูแลการซื้อขายชิ้นส่วนสัตว์ป่าที่คร่าชีวิตฉลามนับล้านตัวในแต่ละปีเพื่อนำไปปรุงเป็นซุปครีบฉลาม
สมาชิก186 ชาติที่เข้าร่วมการประชุมตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ หรือไซเตส (International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora หรือ Cites) ได้ลงมติที่เหล่านักอนุรักษ์ทางทะเลต่างสรรเสริญคือการกำกับดูแลการซื้อขายเชิงพาณิชย์ของชิ้นส่วนฉลามวงศ์ครีบดำ 54 ชนิด อาทิ ฉลามเสือ ฉลามหัวบาตร และฉลามสีน้ำเงินซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่มักถูกล่าเพื่อจำหน่าย อีกทั้งยังมีข้อกำหนดว่าประเทศเหล่านี้ต้องดูแลในแง่ความถูกต้องตามกฎหมายและความยั่งยืนก่อนอนุมัติให้ส่งออกได้
ข้อเสนอดังกล่าวริเริ่มโดยปานามา ประเทศเจ้าภาพ และได้รับการสนับสนุนโดยอีกกว่า 40 ประเทศ อาทิ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรซึ่งจะอนุรักษ์ฉลามที่คิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของชนิดพันธุ์ที่มักถูกล่าเอาครีบไปขาย ฉลามวงศ์ครีบดำส่วนใหญ่มักถูกคุกคามจนใกล้สูญพันธุ์โดยอยู่ในบัญชีแดงของสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติหรือไอยูซีเอ็น
“ในที่สุดธุรกิจซื้อขายครีบฉลามที่ไม่มีความยั่งยืนก็ได้รับการกำกับดูแล” Luke Warwick ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ฉลามและกระเบนจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) กล่าว
“ฉลามที่ได้รับการคุ้มครองคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจครีบฉลามมูลค่ากว่าครึ่งพันล้านดอลลาร์ในแต่ละปี” Warwick ระบุ กฎเกณฑ์คุ้มครองใหม่นี้จะเปิดทางให้ฉลามมีโอกาสฟื้นฟูจำนวนประชากรและ “จะเปลี่ยนแปลงวิธีการอนุรักษ์และจัดการสัตว์นักล่าในมหาสมุทรไปตลอดกาล” เขากล่าวเสริม
การศึกษาระบุว่า 37 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์ฉลามและกระเบนกำลังเผชิญการสูญพันธุ์ ประชากรฉลามท้องน้ำลดลงกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ภายในระยะเวลาเพียง 50 ปี นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรฉลามลดลงคือการจับปลาเกินขนาดและการค้าระหว่างประเทศที่ไร้การควบคุมซึ่งเป็นผลมาจากการดูแลจัดการที่บกพร่องทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าข้อเสนอดังกล่าวจะไร้เสียงคัดค้าน ญี่ปุ่นขอเรียกร้องให้มีการแก้ไขโดยตัดรายชื่อฉลาม 35 ชนิดพันธุ์ที่ไม่เข้าข่ายใกล้สูงพันธุ์ออก ขณะที่เปรูขอให้ถอดชื่อฉลามสีน้ำเงิน อย่างไรก็ตามข้อเสนอดังกล่าวไม่ได้รับเสียงสนับสนุน และหลังจากการถกเถียงต่อเนื่องกว่าสองชั่วโมง ข้อเสนอชุดแรกก็ได้รับการอนุมัติโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มติของไซเตสจะเป็นผลผูกพันต่อประเทศสมาชิกทั้งหมดโดยจะมีเวลาหนึ่งปีในการปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องกับมติดังกล่าว
“ฉลามวงศ์ครีบดำคือฉลามที่มีการล่าเพื่อซื้อขายมากที่สุด แต่กลับได้รับการคุ้มครองน้อยที่สุด” Diego Jiménez ผู้อำนวยการด้านนโยบายอนุรักษ์จากองค์กรไม่แสวงหากำไร SeaLegacy กล่าว ปัจจุบันฉลามในวงศ์ครีบดำ 70 เปอร์เซ็นต์เข้าข่ายเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
การระบุรายชื่อในระดับวงศ์จะช่วยหน่วยงานศุลกากรให้ทำงานง่ายขึ้น เนื่องจากการขนส่งครีบฉลามทุกครั้งจะต้องมีใบอนุญาตหรือใบรับรองตามข้อกำหนดของไซเตส นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และปรับสัดส่วนของตลาดครีบฉลามจากเดิมที่อยู่ภายใต้กำกับดูแลของไซเตสเพียง 25 เปอร์เซ็นต์เป็น 75 เปอร์เซ็นต์
อย่างไรก็ตาม มติดังกล่าวก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าการกระทำเช่นนี้ของไซเตสอาจได้ผลตรงกันข้าม โดยเป็นการเพิ่มราคาครีบและเนื้อฉลามในตลาดมืด รวมทั้งเร่งการล่าฉลามอย่างผิดกฎหมาย
ในปี 2021 ครีบฉลามที่นำเข้าจากเอกวาดอร์ไปที่เปรู ซึ่งเป็นประเทศที่ส่งออกครีบฉลามมากที่สุดในทวีปอเมริกา มีจำนวนเพิ่มขึ้นถึงสองเท่าตัวเมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 อ้างอิงจากการวิจัยโดย Oceana Peru ครีบฉลามแห้งจำนวน 300 ตันที่มาจากเอกวาดอร์ กว่า 160 ตันเป็นครีบของฉลามที่อยู่ในบัญชีไซเตส เช่น ฉลามหางยาวที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ฉลามกลุ่มนี้กลายเป็นเป้าในการล่าเพราะครีบที่ยาวกว่าสายพันธุ์อื่น
“การซื้อขายปริมาณมหาศาลเช่นนี้เกิดขึ้นได้ทั้งที่ชนิดพันธุ์ดังกล่าวได้รับการกำกับดูแลการซื้อขายระหว่างประเทศตามข้อตกลงไซเตส” Alicia Kuroiwa ผู้อำนวยการฝ่ายถิ่นอาศัยและสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่ Oceana Peru กล่าว ตัวอย่างนี้เช่นเดียวกับปริมาณการส่งออกครีบฉลามที่ผิดปกติจากเปรูไปยังฮ่องกงทำให้คณะกรรมการไซเตสเตรียม “สืบสวนเพิ่มเติมเพื่อให้คำแนะนำต่อทั้งสองประเทศ”
การละเมิดหลักเกณฑ์ไซเตสอาจทำให้ถูกลงโทษโดย “ห้ามซื้อขายชนิดพันธุ์ที่อยู่ในรายชื่อของไซเตสทั้งหมดเป็นการชั่วคราว” ซึ่งถือเป็นหายนะของเปรู เธอกล่าวเสริม
ถอดความและเรียบเรียงจาก Shark fin trade regulated at last in landmark decision
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก