การป้องกันไม่ให้ป่าปลูกรุ่นสองที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ถูกตัดโค่นลงนับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับการทำงานอนุรักษ์
.
งานวิจัยชิ้นล่าสุดจากทีมวิจัยจาก Columbia University, University of São Paulo และ the Federal University of ABC ในประเทศบราซิลระบุว่าป่าในประเทศบราซิลที่ได้รับการฟื้นฟูนั้นถูกตัดโค่นลงใหม่อีกครั้งภายในระยะเวลาเพียง 4 ถึง 8 ปี
การฟื้นฟูป่าธรรมชาตินับเป็นกลยุทธ์ที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งสำหรับหลายประเทศในการบรรลุเป้าหมายการฟื้นฟูระบบนิเวศและการกักเก็บแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่รายงานการฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ป่าดิบชื้นอาจทำให้หลายคนรู้สึกยังมีความหวัง แต่งานวิจัยชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่าป่าที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่มีแนวโน้มอย่างยิ่งที่จะถูกทำลายลงภายในระยะเวลาไม่กี่ปี
งานวิจัยชิ้นล่าสุดนี้เผยแพร่ใน Environmental Research Letters ศึกษาเชิงปริมาณถึงพื้นที่ป่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ในบราซิล พร้อมทั้งระบุปัจจัยที่ส่งผลถึงอัตราอยู่รอดของป่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่
ป่าแอตแลนติกบราซิลเป็นพื้นที่ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ขนาด 1.5 ล้านตารางกิโลเมตรเลียบชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติก แต่ปัจจุบันหลงเหลือพื้นที่เพียง 0.32 ล้านตารางกิโลเมตรเท่านั้น ป่าที่ถูกตัดขาดจากกันและระบบนิเวศที่ถูกคุกคามกลายเป็นพื้นที่สำคัญซึ่งหลายองค์กรต่างต้องการฟื้นฟู
ทีมวิจัยระบุรายละเอียดที่ดินตั้งแต่ช่วง พ.ศ. 2528 ถึง พ.ศ. 2562 เพื่อทำแผนที่และติดตามชะตากรรมของพื้นที่ป่า 0.45 ล้านตารางกิโลเมตรที่ได้รับการฟื้นฟู พวกเขาพบว่าป่าดังกล่าวมีหลงเหลือเพียง 0.31 ตารางกิโลเมตรในปี พ.ศ. 2562
“แม้ว่าพื้นที่ราว 2 ใน 3 ของผืนป่าที่ฟื้นฟูจะยังคงมีความหวังสำหรับการอนุรักษ์ระบบนิเวศในภาพรวม แต่อายุที่แสนสั้นของป่าที่ฟื้นฟูใหม่ราว 1 ใน 3 ก็ยังสะท้อนความท้าทายสำคัญของการทำงานอนุรักษ์” Pedro Ribeiro Piffer นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยหลักของงานชิ้นนี้กล่าว
ลักษณะการคงอยู่แบบชั่วคราวของผืนป่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่นี้ทำให้ประโยชน์ในแง่ความหลากหลายทางชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอนเป็นไปอย่างจำกัด
“การกักเก็บคาร์บอนจากการฟื้นฟูป่าและระบบนิเวศมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรับมือวิกฤติภูมิอากาศ จากสถิติที่ว่าพื้นที่ป่าในภูมิภาคเขตร้อนชื้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในศตวรรษที่ 21” María Uriarte จาก Columbia University ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศป่าในเขตร้อนชื้นกล่าว “อย่างไรก็ดี ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้นั้นจะขึ้นอยู่กับว่าป่าดังกล่าวคงทนถาวรและมีอายุยืนเพียงใด”
ในงานวิจัยชิ้นก่อนหน้านี้ Piffer และ Uriarte พบว่าหากผืนป่าที่พื้นฟูขึ้นใหม่ไม่ถูกทำลาย ป่าแอตแลนติกบราซิลจะสามารถกักเก็บคาร์บอนได้ราว 1.75 พันล้านตัน หรือราว 3 เท่าตัวหากเทียบกับปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บได้จริงราว 0.52 พันล้านตัน
“ผลการศึกษาของเราเน้นให้เห็นถึงความท้าทายสองขั้นในการอนุรักษ์ผืนป่าในพื้นที่ร้อนชื้น เพราะนอกจากเราจำเป็นจะต้องฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมแล้ว เรายังต้องปกป้องพื้นที่ป่าที่ฟื้นฟูขึ้นมาใหม่อีกด้วย ซึ่งการดำรงผืนป่าไว้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดปริมาณคาร์บอนในชั้นบรรยากาศ” Jean Paul Metzger อาจารย์จาก University of São Paulo หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
พวกเขายังระบุปัจจัยซึ่งอาจช่วยปกป้องผืนป่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่ด้วย ซึ่งทีมวิจัยพบว่าป่าที่ฟื้นฟูขึ้นนั้นจะมีโอกาสอยู่รอดมากกว่าหากอยู่บริเวณที่สูงชัน ใกล้กับแม่น้ำ ชิดกับป่าผืนเดิม และใกล้กับแปลงเกษตรวิถีธรรมชาติ ขณะที่ป่าจะมีแนวโน้มอยู่รอดน้อยลงหากอยู่ในพื้นที่ชนบท นอกจากนี้ แม้โครงการฟื้นฟูป่าจำนวนมากจะดำเนินการในทุ่งหญ้าและพื้นที่ที่มีการทำเกษตรหมุนเวียน แต่โอกาสที่ผืนป่าเหล่านั้นจะอยู่รอดนับว่าต่ำมาก
“ป่าที่ฟื้นฟูขึ้นใหม่อาจต้องใช้เวลาหลายทศวรรษก่อนที่ความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ที่เคยสูญหายไปจะกลับคืนมา การระบุสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ป่าอยู่อย่างยืนยาวย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่งเพื่อสร้างนโยบายสารณะที่มีประสิทธิภาพและเพิ่มพื้นที่ป่าในบราซิล”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Regrown Tropical Forests May Have Short Lifespans, Says New Study
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก