บอลโลกที่กาตาร์กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

บอลโลกที่กาตาร์กับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม

กองทัพเครื่องปรับในสนามแข่งขันกลางแจ้งขนาดมโหฬาร เที่ยวบินระหว่างประเทศหลายร้อยเที่ยวบิน และแสงไฟสว่างเจิดจ้าปริมาณมหาศาล

คนจำนวนหลายล้านคนเดินทางไปยังกาตาร์เพื่อร่วมงานมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดบนโลกใบนี้ แต่ความขัดแย้งก็มาพร้อมกับเหล่าแฟนบอลที่เดินทางมาจากทั่วทุกมุมโลก นอกจากเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชน กฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศ การปฏิบัติต่อแรงงานต่างถิ่น อีกประเด็นหนึ่งคือฟุตบอลโลกที่กาตาร์ปีนี้จะเป็นหนึ่งในมหกรรมที่ทำลายสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคสมัยใหม่

ก่อนเริ่มการแข่งขัน นักเตะมืออาชีพที่ใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมต่างร่วมกันยื่นหนังสือต่อฟีฟ่าเพื่อให้องค์กรดังกล่าวเลิกโฆษณาว่าการแข่งขันบอลโลกที่กาตาร์เป็นเจ้าภาพนั้นเป็นกลางทางคาร์บอน พร้อมทั้งให้ปรับเปลี่ยนการแข่งขันบอลโลกหญิงที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพในปีหน้า

“มหกรรมนี้ถูกแปะป้ายว่าเป็น ‘การแข่งขันบอลโลกโดยฟีฟ่าครั้งแรกที่เป็นกลางทางคาร์บอน’ ซึ่งหมายความว่าผลกระทบต่อโลกจะมีค่าเท่ากับศูนย์ แต่นั่นไม่ใช่ข้อเท็จจริง” จดหมายดังกล่าวระบุ “ความจริงแล้ว กลยุทธ์ความยั่งยืนของฟีฟ่าสำหรับบอลโลกที่กาตาร์เกิดขึ้นได้จากการคำนวณคาร์บอนที่ผิดพลาด วิธีการหักกลบลบคาร์บอนที่ชวนตั้งคำถาม พร้อมทั้งโยนภาระความรับผิดชอบให้แฟนบอลแทนที่จะชดเชยด้วยตนเอง” 

ขณะที่ฟีฟ่าระบุว่า องค์กรมี “โครงการริเริ่มจำนวนมากและรอบด้าน … เพื่อลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันครั้งนี้”

ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจากการแข่งขันเป็นหนึ่งในปัญหาที่หลายคนกังวลเป็นเวลาหลายปีนับตั้งแต่เริ่มมีเหตุการณ์รุนแรงด้านภูมิอากาศรอบโลก ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ไฟป่า และอุทกภัย ความกังวลดังกล่าวส่งผลต่อภาพลักษณ์อย่างรุนแรง บางผับในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ต่างประเทศว่าพวกเขาจะไม่ฉายการแข่งขันเนื่องจากความกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเทศกาตาร์ยังเผชิญหน้ากับความร้อนที่รุนแรงซึ่งคนจำนวนไม่น้อยอาจรู้สึกว่าเป็นความร้อนที่เกินกว่าจะทนไหว ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเลยที่แผนแรกเริ่มในการจัดแข่งขันฟุตบอลโลกในช่วงฤดูร้อนจะถูกล้มเลิกไป แต่อุณหภูมิในช่วงพฤศจิกายนที่อาจสูงถึง 32 องศาเซลเซียสก็เลวร้ายไม่ต่างกัน เจ้าภาพทำการติดตั้งเครื่องปรับอากาศในสนามแข่งขันตลอดรายการ แฟนบอลหรือนักข่าวบางคนถึงขั้นรายงานว่ารู้สึกหนาวเกินไปนระหว่างเกมการแข่งขันที่จัดขึ้นในตอนกลางคืน

“เราไม่ควรติดเครื่องปรับอากาศในสนามแข่งขันกลางทะเลทราย” Gilles Dufrasne จาก Carbon Market Watch แสดงความเห็น เขาคือหนึ่งในผู้เรียกร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลในสหภาพยุโรปตรวจสอบคำกล่าวอ้างเรื่องการแข่งขันบอลโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน เขายังระบุเพิ่มเติมว่าผลกระทบจากคาร์บอนในการแข่งขันอาจกลายเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการที่แฟนบอลหลายล้านคนต้องบินไปยังกาตาร์รวมทั้งการก่อสร้างสนามกีฬาอีกเจ็ดแห่ง

ฟีฟ่าระบุว่าการเดินทางคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการปล่อยคาร์บอนทั้งหมดในมหกรรมกีฬาครั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวสูงอย่างยิ่งเนื่องจากกาตาร์มีขนาดเล็กเกินกว่าที่จะรองรับแฟนบอลทั้งหมด แฟนบอลจำนวนหนึ่งจึงต้องอยู่ในประเทศข้างเคียงอย่างสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์แล้วบินสั้นๆ ประมาณหนึ่งชั่วโมง หรือขับฝ่าทะเลทรายรถหกชั่วโมงมาชมการแข่งขัน สายการบินรัฐวิสาหกิจ กาตาร์แอร์เวย์สเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกาตาร์และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวนมาก

“เราทำการลดและยกเลิกเที่ยวบินไปยัง 18 จุดหมายปลายทางเพื่อให้สนามบินนานาชาติมีที่พอสำหรับสายการบินต่างๆ ที่จะพาแฟนบอลเข้ามาชมการแข่งขัน” Akbar Al Baker ผู้บริหารกาตาร์แอร์เวย์สให้สัมภาษณ์

Julien Jreissati ผู้อำนวยการกลุ่มกรีนพีซระบุว่าการเพิ่มเที่ยวบินของกาตาร์แอร์เวย์อาจไม่อยู่ในการประมาณการของฟีฟ่าที่คาดว่าการแข่งขันบอลโลกครั้งนี้จะปล่อยคาร์บอนรวมทั้งสิ้น 3.6 เมกะตัน ทำให้ตัวเลขของฟีฟ่ายิ่งไม่น่าเชื่อถือ

หลังจากได้รับเลือกเป็นผู้จัดการแข่งขันฟุตบอลโลก กาตาร์ก็ให้คำมั่นว่าจะเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกที่เป็นกลางทางคาร์บอน “เราได้ดำเนินโครงการริเริ่มจำนวนมากเพื่อลดผลกระทบจากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมต่างๆ ในการแข่งขันกีฬาดังกล่าว อาทิ การสร้างสนามแข่งขันที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ อาคารที่ได้รับการรับรองว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั้งในแง่การออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการ การคมนาคมคาร์บอนต่ำ และการจัดการขยะอย่างยั่งยืน” ฟีฟ่าระบุในคำแถลงการณ์เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

แต่ผู้เชี่ยวชาญก็ยังตั้งคำถามว่าการแข่งขันดังกล่าวเหมาะหรือไม่ที่จะจัดในประเทศแห้งแล้งที่ต้องสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่ถึง 7 แห่งและปรับปรุงอีกหนึ่งแห่ง ยังไม่นับว่าจะต้องก่อสร้างรถไฟหลายสายและโรงแรมอีกจำนวนมาก

ฟีฟ่าระบุว่าการปล่อยแก๊สเรือนกระจทั้งหมดจากการแข่งขันนี้จะเท่ากับ 3.6 ล้านตัน (หรือ 5.4 ล้านตัน) คาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะถูกหักกลบลบกันกับ “ทางออกคาร์บอนต่ำ” ทั้งในกาตาร์และประเทศแถบภูมิภาคดังกล่าวทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม Dufrasne จาก Carbon Market Watch ระบุว่าการกล่าวอ้างความเป็นกลางทางคาร์บอนเกิดจากการคำนวณอย่างไม่ตรงไปตรงมาโดยเกลี่ยการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยไปตลอดการใช้เงิน 60 ปี “จากการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการก่อสร้างสนามแข่งขันแห่งใหม่ทั้งหมด พวกเขาเกลี่ยความรับผิดชอบในการปล่อยคาร์บอนที่เกิดขึ้นภายในหนึ่งเดือนโดยการหารด้วย 60 ปี” เขากล่าว

อีกหลายองค์กรก็เห็นด้วยกับความคิดดังกล่าว เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมากลุ่มคลังสมองและนักรณรงค์ส่งคำร้องให้หน่วยงานกำกับดูแลด้านการโฆษณาใน 5 ประเทศสมาชิกสภาพยุโรปให้พิจารณาเรื่องการโฆษณาให้เข้าใจผิดของฟีฟ่า และการหลอกลวงเรื่องการเป็นกลางทางคาร์บอน โดยระบุว่าฟีฟ่ารายงานระดับการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำกว่าความเป็นจริงและกล่าวอ้างข้อมูลอย่างผิดๆ

ช่องทางหนึ่งที่ฟีฟ่าคาดว่าจะใช้หักกลบรอยเท้าคาร์บอนจากการแข่งขันดังกล่าวคือการซื้อคาร์บอนเครดิต รัฐบาลกาตาร์ระบุว่าได้ลงทุนในโครงการเพื่อความยั่งยืนเพื่อช่วยจ่ายหนี้การปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ จวบจนปัจจุบัน กาตาร์ได้ดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนในประเทศตุรกีและเซอร์เบีย อย่างไรก็ตาม ตลาดคาร์บอนเครดิตก็ยังไม่ได้แข็งแรงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นที่จะหักกลับลบกันกับการปล่อยคาร์บอนจากงานฟุตบอลโลก นักรณรงค์ต่างกังวลกับการสื่อสารเรื่อง ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ของฟีฟ่า

“การส่งสัญญาณเช่นนี้กลายเป็นความเสี่ยงและแรงจูงใจผิดๆ ที่ว่าคุณสามารถบินไปที่กาตาร์เพื่อชมการแข่งขันฟุตบอลในสนามกีฬาที่สร้างขึ้นมาใหม่กลางทะเลทรายโดยไม่สร้างผลกระทบใดๆ ต่อภูมิอากาศ” Dufrasne กล่าว

Jreissati จากกรีนพีซยังชี้ถึงความหน้าไหว้หลังหลอกของรัฐที่สร้างความร่ำรวยจากเชื้อเพลิงฟอสซิล แล้วใช้เงินจำนวนเล็กน้อยเพื่อลงทุนในโครงการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกในประเทศอื่น “เราต้องเข้าใจว่ารายได้หลักของประเทศมาจากแก๊สธรรมชาติและน้ำมัน” เขากล่าว “และหากการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนไม่ได้เป็นไปเพื่อการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบ ซึ่งหมายถึงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลสู่การใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งหมด นั่นก็นับว่าเป็นปัญหา”

เขาเสริมด้วยว่ารัฐที่ร่ำรวยน้ำมันอย่างกาตาร์สามารถดำเนินโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของตนเองเพื่อให้ไม่รู้สึกว่าเป็นคนไม่ดีเมื่อต้องตัดสินใจขยายการผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ หรือที่เราเรียกว่ากระบวนการ “ฟอกเขียว”

ถึงแม้ว่า Jreissati จะกังวลต่อผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่เขาก็ไม่อยากทำลายบรรยากาศของความสนุกสนาน

“งานมหกรรมกีฬาอย่างฟุตบอลโลกหรือกีฬาโอลิมปิกนำมาซึ่งความสนุกสนานและความสุขแก่คนนับล้านทั่วโลก หรือนับพันล้านคนใช่ไหมล่ะ” อย่างไรก็ตาม เขาก็หวังว่าปัญหาด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการแข่งขันกีฬาจะช่วยนำไปสู่บทสนทนาเพื่อปรับปรุงให้การจัดมหกรรมเช่นนี้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

“เราหวังว่าการถกเถียงในวันนี้จะเป็นสัญญาณที่แข็งแกร่งเพื่อให้ทั้งประเทศเจ้าภาพอย่างกาตาร์และองค์กรฟีฟ่าในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นระบบเพื่ออนาคตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และสุขสงบกว่าในปัจจุบัน”

ถอดความบางส่วนและเรียบเรียงจาก Qatar World Cup lays bare the huge environmental cost of tournament

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก