เมื่อสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า ประกาศว่า ‘ฟุตบอลโลก 2022’ ที่จัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคม 2565 นี้ จะเป็นการจัดงานแบบมีความเป็นกลางทางคาร์บอนครั้งแรกในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ทำให้นักสิ่งแวดล้อมหลายคนตั้งคำถามต่อประกาศดังกล่าวว่า ฟีฟ่าสามารถทำได้จริงหรือไม่ ถ้าหากทำได้ กาตาร์จะมีกลยุทธ์อย่างไรในการจัดฟุตบอลโลกให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ?
ความเป็นกลางทางคาร์บอนคืออะไร ? ทำไมถึงสำคัญ ?
ก่อนอื่น เราต้องมาทำความเข้าใจกับคำว่า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality)” เสียก่อน กล่าวคือ ความเป็นกลางทางคาร์บอนเป็นการรักษาสมดุลระหว่างการปล่อยคาร์บอนและการดูดซับคาร์บอนจากชั้นบรรยากาศ แล้วค่อยนำคาร์บอนเหล่านั้นมากักเก็บเอาไว้ ทั้งหมดนี้เพื่อให้บรรลุกับข้อตกลงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์หรือ Net Zero
อย่างไรก็ดี ความเป็นกลางทางคาร์บอน กับ การปลอดคาร์บอนนั้นไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกันแต่อย่างใด โดยการปลอดคาร์บอนนั้น คือการดำเนินกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดการปล่อยคาร์บอนใด ๆ ทั้งในระหว่างกระบวนการผลิต การจัดหา หรือการดำเนินงาน โดยการดำเนินการให้ปลอดคาร์บอนนั้นจะต้องนำไปใช้กับห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด ทั้งวัตถุดิบ โลจิสติกส์ และบรรจุภัณฑ์ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์หรือหน่วยงานไหนที่ดำเนินกิจกรรมโดยปราศจากคาร์บอนได้เลยแม้แต่แห่งเดียว
ถึงแม้ว่าการดำเนินกิจกรรมโดยปราศจากการปล่อยคาร์บอนนั้นจะเป็นเรื่องยากในปัจจุบัน แต่การดำเนินกิจกรรมโดยใช้ความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นยังสามารถทำได้อยู่ ด้วยเหตุนี้หลายองค์กรจึงมีความพยายามในการทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นให้มีความเป็นกลางทางคาร์บอนให้มากที่สุด ผ่านการคำนวณและสร้างมารตราฐานในการปล่อยและดูดซับคาร์บอนตามความสามารถของแต่ละองค์กรในปัจจุบัน
ฟุตบอลโลก 2022 สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ตามรายงานการประเมินปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการแข่งขันฟุตบอลโลกโดยกาตาร์และฟีฟ่าได้คาดการณ์ไว้ว่า ฟุตบอลโลกในปีนี้จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 3.6 ล้านตัน โดยแหล่งที่มาใหญ่ที่สุดมาจากการเดินทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องบินที่มาจากต่างประเทศ โดยจะคิดเป็น 52% ของปริมาณก๊าซที่จะถูกปล่อยทั้งหมด ส่วนของการก่อสร้างสนามกีฬาและสถานที่ฝึกซ้อมทั้งหมดจะคิดเป็น 25% และสุดท้ายคือโรงแรมและที่พักในระยะเวลาตลอด 5 สัปดาห์ รวมถึงเรือสำราญที่กาตาร์จ้างมาเพื่อเป็นโรงแรมลอยน้ำด้วย ในส่วนนี้คิดเป็น 20%
สืบเนื่องจากตัวเลขคาร์บอนที่อาจถูกปล่อยในฟุตบอลโลก ทางกาตาร์วางแผนที่จะซื้อคาร์บอนออฟเซ็ต 1.8 ล้าน โดยคาร์บอนออฟเซ็ตคือ กระบวนการชดเชยคาร์บอน โดยให้บุคคลหรือองค์กรจ่ายเงินซื้อคาร์บอนเครดิตผ่านบริษัทนายหน้าในจำนวนที่เทียบเท่ากับคาร์บอนฟุตปรินต์ที่องค์การนั้น ๆ ปล่อยออกมา ในครั้งนี้กาตาร์จะซื้อคาร์บอนออฟเซ็ตจาก Global Carbon Council ซึ่งเป็นองค์กรจดทะเบียนคาร์บอนเครดิตในกรุงโดฮา ซึ่งเงินที่จ่ายมานั้นจะถูกนำไปใช้จ่ายในโครงการพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศ
ดูจากแผนการและรายงานประเมินแล้ว อาจคิดว่าทุกอย่างดูดีและเต็มไปด้วยกระบวนการที่ตระหนักต่อสิ่งแวดล้อม ทว่าหลายหน่วยงานที่จัดการด้านสิ่งแวดล้อมกลับไม่ได้คิดอย่างนั้น หนึ่งในองค์กรด้านคาร์บอนอย่าง Carbon Market Watch (CMW) ได้ออกมาโต้กลับรายงานการประเมินดังกล่าวของกาตาร์และฟีฟ่าว่า ตัวเลขเหล่านั้นไม่ใช่จำนวนตัวเลขทั้งหมดที่ควรจะเป็น กล่าวคือ กาตาร์ประเมินการปล่อยมลพิษจากสนามกีฬาที่ใช้ในการแข่งขันทั้ง 7 แห่งต่ำกว่าความเป็นจริงมาก ความจริงแล้วกาตาร์จะต้องคำนวณถึงอายุการใช้งานของสนามกีฬาพวกนี้ด้วย รวมถึงควรนำปริมาณการปล่อยก๊าซที่อาจจะเกิดขึ้นจากสนามกีฬาเหล่านี้ภายหลังที่ฟุตบอลโลกจบลงแล้วมาคำนวณลงไปพร้อมกับตัวเลขอื่น ๆ นั่นจึงทำให้ทาง Carbon Market Watch ได้ตั้งคำถามถึงกาตาร์ต่อการสร้างสนามกีฬาหลายแห่งเพื่อรองรับฟุตบอลโลกเพียงงานเดียว และสนามกีฬาเหล่านี้ก็อาจจะไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่ประชาชนมากนักหลังจบการแข่งขันฟุตบอลโลก
แต่ถึงอย่างนั้นทางกาตาร์ได้ออกมาเน้นย้ำว่า นี่จะเป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรกของโลกที่สามารถเป็นกลางทางคาร์บอน โดยได้ยกตัวอย่างสนามกีฬาที่ถูกสร้างด้วยตู้คอนเทนเนอร์กว่า 974 ตู้ ที่พวกเขาคาดไว้ว่าพวกมันสามารถรื้อถอนออกมาและนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้ รวมถึงสนามกีฬาอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ กาตาร์ได้ยกตัวอย่างสิ่งที่จะถูกใช้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ ที่กาตาร์อ้างว่าถูกทำมาเพื่อสร้างฟุตบอลโลกสีเขียว อาทิ รถบัสไฟฟ้ากว่า 800 คัน ต้นไม้อีก 16,000 ต้น รวมถึงโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ ซึ่งทางกาตาร์คิดว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นสามารถชดเชยการปล่อยคาร์บอนได้จริง ๆ และสมควรได้รับการชื่นชมมากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้
อย่างที่ทราบกันว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่อีเวนต์ใหญ่อย่างฟุตบอลโลกจะสามารถควบคุมและจัดการปริมาณคาร์บอนได้ นี้จึงนับเป็นความท้าทายอย่างมากของกาตาร์และฟีฟ่าในการพยายามให้การแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้มีความเป็นกลางทางคาร์บอน เราจึงต้องติดตามกันต่อไปยาว ๆ จนถึงหลังการแข่งขันสิ้นสุดลงว่า สุดท้ายแล้วกาตาร์และฟีฟ่าสามารถทำได้อย่างที่อวดอ้างไว้หรือไม่ หรือนี้จะเป็นเพียงคำโฆษณาที่หลอกให้นักสิ่งแวดล้อมดีใจ
อ้างอิง
- Carbon neutral What does that actually mean?
- Qatar’s ‘problematic’ claims to a ‘carbon-neutral’ World Cup as it air conditions 7 stadiums that don’t have domes
- Qatar’s Carbon-Neutral World Cup Is a Fantasy
- ภาพประกอบ Fauzan Saari
ผู้เขียน
หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ