ปีเตอร์ คาลมุส “ผมมาที่นี่เพราะไม่มีใครฟังนักวิทยาศาสตร์”

ปีเตอร์ คาลมุส “ผมมาที่นี่เพราะไม่มีใครฟังนักวิทยาศาสตร์”

“เราจะสูญเสียทุกอย่าง เราไม่ได้ล้อเล่น เราไม่ได้โกหก เราไม่ได้พูดเกินจริง” – ปีเตอร์ คาลมุส

.
บ่อยครั้งที่คำพูดของนักวิทยาศาสตร์มักถูกละเลยจากสังคม

เพียงเพราะขึ้นชื่อว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ ? หรือเพราะว่ามันเป็นเรื่องที่ฟังดูน่าเหลือเชื่อเกินไป ?

โดยเฉพาะประเด็นวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ถูกย้ำหนักย้ำหนาว่าถึงเวลาแล้วที่มนุษยชาติต้องลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง ไม่เช่นนั้นชีวิตของพวกเราจะพาลพบกับความผิดปกติ

แต่ก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจใยดี และนำไปปฏิบัติมากนัก

มิหนำซ้ำบางครั้ง ยังมีหน่วยงานมาคัดกรองเรื่องราวและกระทำการบางอย่างเพื่อปกปิดข้อมูลเหล่านั้น – ทำนองเดียวกับ (เรื่องสมมติ – ?) ที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์เรื่อง Don’t Look Up

หรือทุกวันนี้เพียงแค่พูดหรือเขียนรายงานอาจยังไม่พอ ?

หลายวันก่อน (7 เมษายน 2022) นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันมาประท้วงที่ธนาคารใหญ่ Chase Bank

พวกเขาตะโกนก้องด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่าอนาคตของโลกกำลังย่ำแย่เพียงใด

ก่อนนักวิทยาศาสตร์ทั้งหมดจะถูกจับตัว พื้นที่ถูกเคลียร์กลับสู่สถานะปกติ และโลกของเรายังคงปล่อยเชื้อเพลิงฟอสซิลขึ้นสุ่ชั้นบรรยากาศเหมือนเดิม

เว้นแต่น้ำเสียงของ ‘ปีเตอร์ คาลมุส’ หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมประท้วงในวันนั้น ยังดังก้องต่อมาถึงวันนี้

คลิปวีดีโอขณะที่ ‘ปีเตอร์ คาลมุส’ ตะโกนร้องบอกกับสังคมกลายเป็นไวรัลที่ถูกแชร์บนโลกอินเทอร์นานนับสัปดาห์

‘ปีเตอร์ คาลมุส’ คือใคร ทำไมน้ำเสียงของเขาถึงก้องกังวาน และจุดประเด็นวิกฤตโลกร้อนสำเร็จขึ้นอีกครั้ง

สำหรับคนที่ติดตามข่าวสารด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชื่อของ ‘ปีเตอร์ คาลมุส’ แทบจะเรียกได้ว่าเป็นขาประจำของนักวิทยาศาสตร์ที่ออกมาพูด (ที่ไม่ใช่การประท้วง) อย่างสม่ำเสมอ

คาลมุส จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ในสาขาฟิสิกส์จากฮาร์วาร์ด และปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากโคลัมเบีย

ปัจจุบัน ทำงานในห้องปฏิบัติการ JPL ของ NASA ที่ศึกษาทั้งอวกาศและโลก เพื่อทำความเข้าใจภาวะฉุกเฉินของสภาพอากาศ และความหลากหลายทางชีวภาพ

เขายังเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง Climate Ad Project องค์กรที่สร้างความตระหนักเกี่ยวกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมถึง Earth Hero แอพพลิเคชั่นที่รวบรวมนักเคลื่อนไหวมาร่วมทำกิจกรรมรณรงค์

ในปี 2017 คาลมุส ตีพิมพ์หนังสือของตัวเองชื่อ Being the Change: Live Well and Spark a Climate Revolution เล่าเรื่องราวการเปลี่ยนแปลงตัวเองที่เชื่อมโยงกับข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

หนังสือบอกกับผู้อ่านว่าโลกใบนี้สวยงามอย่างไร และเราต้องทำอะไรเพื่อรักษาโลกที่สวยงามใบนี้ให้คงอยู่ต่อไป

ในบทแรกเขาเล่าว่า ตัวเขารู้จักคำว่า ‘โลกร้อน’ ตอนเรียนอยู่ในชั้นประถม 6 ซึ่งเป็นครั้งเดียวที่มีการกล่าวถึงคำนี้ในชั้นเรียนการศึกษา

คาลมุสย้อนความหลังว่ามันฟังดูเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่าความเป็นจริงที่ต้องมานั่งห่วงกังวล

แต่ความสนใจเรื่องนี้มาเกิดขึ้นตอนปี 2006 หลังจากเขามีลูกคนแรก ซึ่งทำให้เขาตระหนักได้ว่าจะใช้ชีวิตแบบเก่าไม่ได้อีกแล้ว

“เราจะยังคงเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไปอย่างรวดเร็ว สิ่งนี้จะสร้างความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อชีวมณฑลสำหรับคนรุ่นอนาคต”

สองวันหลังจากรายงาน IPCC ของคณะทำงานชุดที่ 3 เผยแพร่ เขากับเพื่อนตัดสินใจว่าจะไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการล่ามโซ่ตัวเองไว้กับ Chase Bank เพื่อประท้วงการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลของธนาคาร

Chase Bank ขึ้นชื่อว่าเป็นเป็นแหล่งเงินทุนใหญ่ของบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิล ตามรายงานของ Vox ในปี 2021

ธนาคารแห่งนี้ให้การสนับสนุนการจัดหาเชื้อเพลิงฟอสซิลในปี 2020 สูงถึง 51.3 พันล้านดอลลาร์ และตั้งแต่ปี 2016 – 2020 Chase Bank ใช้เงินไปมากกว่า 317 พันล้านดอลลาร์

ชายสี่คนล่ามโซ่ตัวเองไว้ที่ประตูธนาคารด้วยกุญแจมือ สวมเสื้อกาวน์ห้องแล็บที่มีตรา Extinction Rebellion ถูกเผยแพร่ผ่าน facebook.com/ScientistRebellion

“ผมมาที่นี่เพราะไม่มีใครฟังนักวิทยาศาสตร์” คาลมุสประกาศกับเพื่อนผู้ประท้วง

“ผมเต็มใจจะเสี่ยงเพื่อโลกที่งดงามใบนี้”

“เราพยายามเตือนพวกคุณมาหลายสิบปีแล้ว นักวิทยาศาสตร์ของโลกกำลังถูกละเลย และมันต้องหยุดได้แล้ว เรากำลังจะสูญเสียทุกอย่างไป”

“เราจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง และเราไม่ได้ล้อเล่น เราไม่ได้โกหก เราไม่ได้พูดเกินจริง มันเลวร้ายมาก” คาลมุสกล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ ราวกับน้ำตาจะหลั่งออกมาพร้อมๆ กัน

“นี่สำหรับเด็กทุกคนบนโลก… เรื่องนี้ยิ่งใหญ่กว่าพวกเราทุกคนมาก ถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะต้องลุกขึ้นเสี่ยงและเสียสละเพื่อโลกที่สวยงามแห่งนี้”

นักวิทยาศาสตร์เรียกร้องให้ Chase Bank หยุดจัดหาเงินทุนสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิล และลงทุนในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลใหม่ๆ

คาลมุสเน้นย้ำว่ามนุษยชาติกำลังใกล้จะล่มสลาย และหากเราไม่ทำเช่นนี้ในทันที ก็จะเกิดผลร้ายตามมา

ตามรายงาน IPCC ของคณะทำงานชุดที่ 3 ใจความสำคัญระบุว่า การปล่อยคาร์บอนฯ สูงสุดจะต้องเกิดขึ้นไม่เกินปี 2025 และลดลงเหลือครึ่งหนึ่งของระดับปัจจุบันภายในปี 2030 จากนั้นให้ลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2050

แม้การประท้วงของคามุสและเพื่อนนักวิทยาศาสตร์จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว เขาและเพื่อนถูกจับ (และได้รับการปล่อยตัวค่อนข้างเร็ว) แต่สิ่งที่เขาพูดก็ได้กลายเป็นกระแสในเวลาต่อมา

ในประเทศไทย แฮซแท็ก #LetTheEarthBreath ติดเทรนด์ทวิตเตอร์นานถึง 3 วัน

เช่นเดียวกับคลิปวีดีโอที่ถูกแชร์ทั้งบนเฟสบุ๊กและแอพพลิเคชั่น tiktok

คามุส ได้เขียนบทความเล่าประสบการณ์การประท้วงเผยแพร่บนเว็บไซต์ The Guardian

ใจความตอนหนึ่งเขาบอกว่า “ถ้าทุกคนเห็นในสิ่งที่ผมเห็น สังคมจะเปลี่ยนเข้าสู่โหมดฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ และยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในเวลาเพียงไม่กี่ปี”

จากเหตุการณ์เกิดขึ้น สิ่งที่คาลมุสลงมือทำ ตั้งแต่การลดก๊าซเรือนกระจกในชีวิตประจำวัน การพัฒนาตัวเองจนไปเป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ ตลอดจนการออกมามีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม

เปรียบเสมือนบทเรียนที่สอนวิธียืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้องให้กับโลก

ว่าเราสามารถลงมือทำบางสิ่งบางอย่างได้ตั้งแต่วันนี้
.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน