ในอดีตเราอาจคุ้นชินกับภาพ ‘ปูเสฉวนใช้ฝาขวดเครื่องดื่มชูกำลังเป็นบ้าน’
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนสภาพชายหาดว่า ‘ขยะ’ กำลังมีมากกว่าเปลือกหอย
แต่หาใช่เพียงปูเสฉวนเท่านั้นที่หันมาพึงพิงขยะ
ปัจจุบันพบว่าพวก ‘ปลาหมึก’ ในทะเลต่างก็หันมาใช้พวกขวด ท่อ กระป๋อง และอื่นๆ เป็นบ้านและที่หลบภัย
ข้อมูลจากนักสมทุรศาสตร์ Federal University of Rio Grande พบปลาหมึกยักษ์ 24 ชนิด ซ่อนอยู่ในขวดแก้วที่แตก กระป๋องโซดา และแม้กระทั่งแบตเตอรี่เก่า บ้างก็ใช้ขยะพวกนี้เป็นที่พรางตัวจากสัตว์ผู้ล่า ตลอดจนใช้เป็นที่วางไข่
ทีมวิจัยพบว่า 40% เป็นการปฏิสัมพันธ์กับวัตถุที่เป็นแก้ว ในขณะที่ 25 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นกับขยะประเภทพลาสติก
เหตุที่ความสัมพันธ์กับแก้วมีมากกว่า คาดว่าเป็นเพราะพื้นผิวของแก้วมีความคล้ายคลึงกับเปลือกหอยกว่าพลาสติก
ปฏิกิริยาของหมึกกับขยะเพิ่มขึ้นมากที่สุดระหว่างปี 2018 และ 2021
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นนี้อาจเกิดจากการที่ภาพถ่ายใต้น้ำสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น
แต่ก็อาจบ่งชี้ได้ว่ามลภาวะในมหาสมุทรกำลังเลวร้ายลงเรื่อยๆ
.
.
ในความเห็นของนักสมุทรศาสตร์ เขามองว่า การที่หมึกนำขยะมาใช้สำหรับพรางตัวสะท้อนได้ว่า รอบๆ ตัวของพวกมันล้วนแต่ขยะ
ขณะเดียวกันก็สะท้อนได้ว่า ‘เปลือกหอย’ ที่เคยเป็นบ้านหลังเก่า กำลังขาดแคลน
เปลือกหอย ถูกเก็บขึ้นจากทะเลเป็นจำนวนมาก เพื่อใช้เป็นของประดับตกแต่ง และกระตุ้นกิจกรรมการท่องเที่ยว
เมื่อแหล่งพึงพิงตามธรรมชาติหายไป พวกมันจึงต้องหยิบฉวยเอาจากสิ่งใหม่ที่ปะปนเข้ามาแทน
ซึ่งถือเป็นการปรับตัวแบบสุดโต่งโดยมีมนุษย์เป็นแรงผลักดันให้สิ่งนี้เกิดขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าปลาหมึกจะปรับตัวต่อการปรากฏตัวของขยะในถิ่นที่อยู่ได้ดี
แต่การใช้แบตเตอรี่หรือวัตถุพลาสติกอาจทำให้ปลาหมึกสัมผัสกับโลหะหนักหรือสารเคมีอันตราย
หรือบางครั้งเป็นการใช้แก้วที่แตกก็อาจสร้างบาดแผลทางกายภาพให้กับสัตว์ได้เหมือนกัน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการวิจัยที่ยังบอกถึงที่มาและผลกระทบได้ไม่ชัดมาก ยังจำเป็นต้องศึกษาในรายละเอียดเชิงลึกต่อไป
แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนและต้องลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนก็คือการจัดการขยะให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
-
Octopuses Are Reusing Human Trash as Shelter
-
Octopuses are increasingly using garbage in the ocean floor for shelter, study finds
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน