ท่อแก๊สนอร์ดสตรีมรั่วส่งผลต่อวิกฤติภูมิอากาศอย่างไร

ท่อแก๊สนอร์ดสตรีมรั่วส่งผลต่อวิกฤติภูมิอากาศอย่างไร

ท่อแก๊สนอร์ดสตรีม – นับตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน เกิดเหตุท่อแก๊สนอร์ดสตรีม (Nord Stream) ท่อส่งแก๊สใต้น้ำระหว่างรัสเซียและเยอรมันมีการรั่วไหลโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่งผลให้เกิดภาวะตึงเครียดทางพลังงานระหว่างรัสเซียและโลกตะวันตกนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย แม้ว่าการรั่วดังกล่าวจะยังไม่ทราบสาเหตุ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ ย่อมส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากแก๊สธรรมชาติมีส่วนประกอบของมีเทน แก๊สเรือนกระจกที่อันตรายกว่าคาร์บอนไดออกไซด์

ในคืนวันที่ 26 กันยายน ผู้จัดการท่อแก๊สนอร์ดสตรีมพบว่าท่อแก๊สแรงดันตกจาก 105 บาร์ (หรือเท่ากับ 105 เท่าของแรงดันในชั้นบรรยากาศ) เหลือเพียง 7 บาร์ ไม่นานหลังจากนั้น พวกเขาก็พบว่าพื้นผิวขนาดความกว้างกว่า 1 กิโลเมตรในทะเลบอลติกพบฟองแก๊สซึ่งเกิดจากการรั่วไหล

‘ท่อแก๊สนอร์ดสตรีม’ ปิดทำการตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ซึ่งรัสเซียตัดสินใจรุกรานยูเครน แต่ท่อดังกล่าวก็ยังมีแก๊สอัดแน่นอยู่โดยคิดเป็นมีเทนถึง 90 เปอร์เซ็นต์ Björn Lund จาก Uppsala University ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวพบว่าเกิดแรงสั่นสะเทือนในช่วงเวลาเดียวกับที่เกิดการรั่วไหล อย่างไรก็ตาม พวกเขามองว่านี่คือการสั่นสะเทือนจากแรงระเบิด ไม่ใช่แผ่นดินไหวซึ่งจะมีลักษณะของแรงสั่นสะเทือนที่แตกต่างกัน

วิกฤติภูมิอากาศ

เหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความตระหนกในหมู่ประชาชนที่ใส่ใจประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Andrew Baxter อดีตวิศวกรด้านน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ปัจจุบันเขาเป็นผู้อำนวยการด้านการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่ Environmental Defense Fund เมื่อเขาทราบข่าวการรั่วไหล “ผมพยายามทำการคำนวณแบบคร่าวๆ เนื่องจากมีตัวแปรจำนวนมากที่เราไม่รู้ จึงยากที่จะกล่าวได้ว่าแน่นอนว่ามีแก๊สมีเทนรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณเท่าไหร่” เขากล่าว

Baxter ประมาณการว่ามีแก๊สมีเทนราว 115,000 ตันรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศในช่วงที่แรงดันในท่อแก๊สลดลง โดยอ้างอิงจากขนาดของท่อแก๊สและอุณหภูมิของน้ำทะเล หากเทียบกันแล้วแก๊สมีเทนถือเป็นแก๊สเรือนกระจกที่อันตรายกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉพาะในระยะสั้น Baxter คาดว่าการรั่วไหลครั้งนี้ส่งผลกระทบเทียบเท่ากับการปล่อยแก๊สคาร์บอนทั้งปีของรถยนต์สองล้านคัน

“หากมีการยืนยันตัวนี้ดังกล่าว การรั่วไหลครั้งนี้ก็จะเป็นเหตุการณ์แก๊สธรรมชาติรั่วไหลครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์” Zeke Hausfather นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก Berkeley Earth องค์กรไม่แสวงหากำไรกล่าว แต่เขายังเสริมว่าเหตุการณ์ครั้งนี้อาจไม่ได้ส่งผลกระทบรุนแรงนักหากมองการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกในระดับโลก

Mark Davis ผู้บริหารจาก Capterio ระบุว่าเหตุการณ์ครั้งนี้ แม้จะเป็นเรื่องใหญ่แต่คิดเป็นการปล่อยแก๊สมีเทนราว 0.14 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในหนึ่งปี 

การวัดด้วยดาวเทียม

การคำนวณอย่างแม่นยำว่าแก๊สมีเทนรั่วไหลสู่ชั้นบรรยากาศเท่าไหร่ จำเป็นต้องใช้เวลา ความพยายามในปัจจุบันเผชิญอุปสรรคทั้งในทางภูมิศาสตร์และโชคร้าย Itziar Irakulis-Loitxate จาก Valencia Polytechnic University ระบุว่าดาวเทียมสาธารณะซึ่งนักวิทยาศาสตร์ใช้สำรวจเหตุการณ์ทางธรรมชาติไม่ได้บันทึกภาพเหตุการณ์ในเวลาที่เหมาะควร ประกอบกับท้องฟ้าที่มีเมฆหนาแน่นทางละติจูดเหนือก็ทำให้แทบเป็นไปไม่ได้ที่จะมีข้อมูลดังกล่าว ยังไม่นับความท้าทายในการวัดแก๊สมีเทนเหนือแหล่งน้ำซึ่งทำได้ยาก เพราะน้ำจะดูดซับแสงอาทิตย์ทั้งหมดทำให้ยากต่อการวัดสัญญาณของแก๊สมีเทนด้วยสเปกโทรมิเตอร์ (spectrometer)

แต่อย่างน้อยก็มีศูนย์สังเกตการณ์แห่งหนึ่งที่ตรวจพบระดับแก๊สมีเทนที่พุ่งสูง นั่นคือระบบตรวจสอบคาร์บอนแบบบูรณ์การของสหภาพยุโรปในประเทศสวีเดน

ในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า เหล่านักวิทยาศาสตร์จะทำงานอย่างคร่ำเคร่งเพื่อคำนวณว่ามีแก๊สมีเทนปริมาณเท่าไหร่ที่ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากเหตุการณ์ท่อแก๊สรั่ว ขณะที่ Björn Lund ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหวอาจช่วยตอบได้ว่าสาเหตุของการรั่วไหลในครั้งนี้เกิดจากอะไรด้วยการเปรียบเทียบข้อมูลแรงสั่นสะเทือนกับการระเบิดใต้น้ำในอดีต ในปัจจุบันทีมของเขาคาดว่าน่าจะเกิดจากระเบิด TNT


ถอดความและเรียบเรียงจาก What Do Mysterious Nord Stream Methane Leaks Mean for Climate Change?

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก