‘จุลชีพ’ กว่า 900 ชนิด ซ่อนตัวอยู่ใต้ธารน้ำแข็งทิเบต หวั่นโลกร้อนทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

‘จุลชีพ’ กว่า 900 ชนิด ซ่อนตัวอยู่ใต้ธารน้ำแข็งทิเบต หวั่นโลกร้อนทำให้เชื้อโรคแพร่กระจาย

‘จุลชีพ’ 968 ชนิดถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้ธารน้ำแข็งทิเบต โดยส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย และประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ของสปีชีส์เหล่านั้น เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ทราบว่าจุลชีพเหล่านั้นมีอายุเท่าไหร่ อยู่มานานแค่ไหน

ภายใต้ธารน้ำแข็งทั่วโลก มีสิ่งต่างๆ ซ่อนอยู่ หนึ่งในนั้นคือ ‘จุลชีพ’ ที่สามารถทำให้เราเจ็บไข้ได้

นี่ข้อเท็จจริงหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบมาสักระยะแล้วว่าภายใต้ธารน้ำแข็งในสถานที่ต่างๆ มีทั้งแบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต ตลอดจนเชื้อรา หลบซ่อน ถูกขัง และจำศีลอยู่

ในแง่หนึ่งมันอาจเป็นสมดุลของโลกที่กักขังสิ่งเหล่านั้นไว้ด้วยน้ำแข็ง หรืออาจเกิดจากเหตุอื่นใดก็ตามแต่

แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้ คือ ‘มนุษย์’ กำลังปลุกจุลชีพเหล่านั้นขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิล จนทำให้โลกร้อน น้ำแข็งละลาย

และล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จาก Chinese Academy of Sciences ได้ค้นพบจุลชีพกว่า 900 สายพันธุ์ที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อน อาศัยอยู่ในธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบต

ผลจากการวิเคราะห์จีโนมของจุลชีพที่พบ เปิดเผยว่า บางชนิดมีศักยภาพที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ครั้งใหม่และใหญ่ หาก ‘จุลชีพ’ เหล่านั้นหลุดออกมาจากเรือนจำเยือกแข็ง

การศึกษานี้เป็นผลงนของนักวิจัยจาก Chinese Academy of Sciences

พวกเขาได้เก็บตัวอย่างน้ำแข็งจากธารน้ำแข็ง 21 แห่งบนที่ราบสูงทิเบต

พร้อมได้จัดลำดับ DNA ของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ถูกขังอยู่ในน้ำแข็ง สร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของจีโนมจุลชีพในชื่อ Tibetan Glacier Genome and Gene (TG2G)

ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ชุมชนจุลชีพที่ซ่อนอยู่ภายในธารน้ำแข็งได้รับการจัดลำดับทางพันธุกรรม

จุลชีพ
จุลชีพ กว่า 900 สายพันธุ์ ซ่อนตัวอยู่ใต้ธารน้ำแข็งทิเบต l Photo NASA

ในรายละเอียดทีมวิจัยพบจุลชีพ 968 ชนิดถูกแช่แข็งอยู่ภายใต้ธารน้ำแแข็งนั้น โดยส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย

และประมาณ 98 เปอร์เซ็นต์ของสปีชีส์เหล่านั้น เป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ไม่เคยรู้จักมาก่อน ไม่ทราบว่าจุลชีพเหล่านั้นมีอายุเท่าไหร่ อยู่มานานแค่ไหน

นักวิจัยกล่าวว่าความหลากหลายของจุลชีพในระดับนี้เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง เพราะการค้นพบสิ่งที่ยังมีชีวิตในธารน้ำแข็งส่วนมากยังเป็นเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้

แม้ภายใต้ธารน้ำแข็งจะเป็นสภาวะแวดล้อมที่รุนแรงสุดขั้ว เช่น อุณหภูมิต่ำ การจำกัดสารอาหาร แต่พื้นผิวของธารน้ำแข็งก็ยังเอื้ออำนวยให้สิ่งมีชีวิตต่างๆ ยังดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างน่าประหลาดใจ

ด้วยความไม่รู้นี้จึงมีความกังวลว่า หากแบคทีเรียสามารถหลุดออกมาได้ อาจเกิดนำไปสู่การเกิดโรคระบาดในท้องถิ่น ไปจนถึงขั้นการระบาดครั้งใหญ่ได้

ในข้อเท็จจริงอย่างหนึ่ง แบคทีเรียบางชนิดอาจอยู่ได้ไม่นานเมื่อออกมาพบสภาวะแวดล้อมภายนอก แต่ในอีกด้านหนึ่งแบคทีเรียก็มีความสามารถเฉพาะตัวในการแลกเปลี่ยนดีเอ็นเอกับแบคทีเรียอื่นๆ ได้

ดังนั้น ถึงแบคทีเรียจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานหลังหลุดจากพันธนาการ แต่พวกมันยังสามารถถ่ายทอดความเป็นพิษที่ตัวเองมีไปยังแบคทีเรียอื่นๆ ที่พวกมันพบได้ในช่วงระยะเวลาอันสั้น

ซึ่งปฏิสัมพันธ์ทางพันธุกรรมระหว่างจุลชีพเหล่านี่ล่ะ ที่นักวิทยาศาสตร์มองว่าอาจเป็นอันตรายครั้งใหญ่

ธารน้ำแข็งที่ราบสูงทิเบตมีความเชื่อมโยงกับแหล่งน้ำจืดหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำแยงซี แม่น้ำเหลือง และแม่น้ำคงคา ซึ่งเป็นต้นน้ำลำธารแก่สองประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกอย่างจีนและอินเดีย

ซึ่งตามหลักการแล้วโรคระบาดจะแพร่กระจายอย่างรวดเร็วเมื่อผ่านเข้าสู่พื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เยอะ ตามที่โลกได้เห็นในช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19

นักวิทยาศาสตร์ยังกังวลต่อว่า ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นนี้อาจส่งผลกระทบไปไกลกว่าผู้คนในทวีปเอเชีย

เนื่องจากทั่วโลกมีธารน้ำแข็งมากกว่า 20,000 แห่ง ครอบคลุมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ของมวลดินทั้งหมดของโลก

และธารน้ำแข็งแต่ละแห่งมีแนวโน้มที่จะมีชุมชนจุลชีพที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

ฉะนั้น ไม่ว่าที่ไหนก็อาจพบจุลชีพที่เป็นอันตรายได้ทั้งนั้น

ในขณะที่เราจำเป็นต้องเร่งลดการละลายของน้ำแข็ง ขณะเดียวกันเราก็ต้องเร่งตรวจสอบธารน้ำแข็งต่างๆ ด้วยเช่นกัน

ในอนาคต อะไรก็สามารถเกิดขึ้นได้ หากเราไม่เตรียมตัวป้องกันไว้เสียแต่เนิ่นๆ


อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน