ลาวเตรียมผลักดันเขื่อนลำดับที่ 7 เหนือ ‘แม่น้ำโขง’ สายหลัก

ลาวเตรียมผลักดันเขื่อนลำดับที่ 7 เหนือ ‘แม่น้ำโขง’ สายหลัก

รัฐบาลลาวเตรียมแผนเดินหน้าสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าโครงการใหม่ลำดับที่ 7 บน “แม่น้ำโขง” สายหลัก เสี่ยงกระทบระบบนิเวศ และ 88 หมู่บ้านต้องย้ายถิ่นฐาน

สำนักข่าว Radio Free Asia รายงานในสัปดาห์นี้ว่ารัฐบาลลาวเตรียมแผนเดินหน้าสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าโครงการใหม่อย่างเป็นทางการ ซึ่งนับเป็นเขื่อนลำดับที่ 7 ซึ่งสร้างบน ‘แม่น้ำโขง’ สายหลัก

รายงานดังกล่าวอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัฐนิรนามระบุว่าหน่วยงานรัฐกำลังเตรียมเอกสารสำหรับก่อสร้างเขื่อนกำลังการผลิตไฟฟ้า 728 เมกะวัตต์ชื่อว่า Phou Ngoy โดยคาดว่าจะแจ้งต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) อย่างเป็นทางการภายในสิ้นปีนี้

โครงการมูลค่า 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐหากได้รับอนุมัติจะดำเนินการโดยบริษัท เจริญเอ็นเนอร์ยี่ แอนด์ วอเทอร์ เอเชีย จำกัด (CEWA) ซึ่งเป็นสัญชาติไทย และก่อสร้างโดยบริษัทผู้รับเหมาเกาหลีใต้สองบริษัทคือ Western Power และ Doosan Heavy Industries & Construction โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2572

โครงการเขื่อน Phou Ngoy ซึ่งอยู่เหนือปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาศักดิ์ประมาณ 18 กิโลเมตร เป็นเพียงหนึ่งในโครงการก่อสร้างเขื่อนอีกจำนวนมากเหนือ “แม่น้ำโขง” สายหลัก ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของแผนการพัฒนาชาติของรัฐบาลลาวที่จะเปลี่ยนประเทศซึ่งไม่ติดทะเลให้เป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

รายงานของ Radio Free Asia ระบุว่าเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนที่ 7 จาก 9 เขื่อนที่มีแผนก่อสร้างเหนือลำน้ำโขงสายหลัก ซึ่งสองแห่งคือเขื่อนดอนสะโฮงและเขื่อนไซยะบุรีได้ก่อสร้างเสร็จสิ้นแล้ว

จากรายงานแวดวงอุตสาหกรรมพลังงานน้ำเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 บริษัท CEWA ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้นและผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของเขื่อน Phou Ngoy พร้อมทั้งได้นำเสนอต่อรัฐบาลลาวแล้ว แต่จวบจนปัจจุบัน รัฐบาลลาวก็ยังไม่ได้แจ้งว่าจะมีโครงการดังกล่าวต่อคณะกรรมการแม่น้ำโขง

การแจ้งก่อนดำเนินการถือเป็นขั้นตอนภาคบังคับสำหรับการพัฒนาโครงการเหนือลำน้ำโขงโดยเหล่าประเทศสมาชิกคณะกรรมการแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากลาวแล้วก็มีประเทศเวียดนาม ไทย และกัมพูชา โดยอาจต้องใช้เวลาร่วม 6 เดือนสำหรับ “การขอรับคำปรึกษา” ระหว่างที่มี “การประเมินทางเทคนิคและการหารืออย่างเป็นทางการ” ในประเด็นด้านผลประโยชน์และความเสี่ยงจากโครงการที่ต้องใช้ทรัพยากรลำน้ำ

ผู้เชี่ยวชาญมองว่ารัฐบาลลาวยังคงดึงดันจะเดินหน้าก่อสร้างตามแผนไฟฟ้าพลังงานต่อไป ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีความตื่นตระหนกของผลกระทบจากเขื่อนขนาดยักษ์ต่อระบบนิเวศของลุ่มน้ำโขง เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศกัมพูชาประกาศขอให้งดก่อสร้างเขื่อนแห่งใหม่ชั่วคราวเป็นเวลา 10 ปีเพื่อพิจารณาผลกระทบ

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2564 ประเทศไทยตีตกรายงานทางเทคนิคของเขื่อนผลิตไฟฟ้าสานะคาม นอกจากนี้ รัฐมนตรีพลังงานของไทยซึ่งคิดว่าประเทศกำลังมีปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เกินจำเป็นให้สัมภาษณ์ว่าอาจปฏิเสธที่จะซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนเหล่านั้น นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อกระบวนการรับรอง เนื่องจากเขื่อน Phou Ngoy เองก็คงคาดว่าไทยจะเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายหลัก

แม้ว่าเหล่าประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่างจะเริ่มไม่สบายใจนักต่อโครงการเขื่อนขนาดยักษ์ที่กั้นลำน้ำโขงสายหลัก แต่คณะกรรมการแม่น้ำโขงก็ไม่มีอำนาจยับยั้งการก่อสร้างโครงการดังกล่าว ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ากระบวนการปรึกษาเชิงเทคนิคที่ยืดเยื้อของคณะกรรมการแม่น้ำโขงนั้นแทบไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อโครงการพัฒนา หรือเป็นประโยชน์ต่อประชาชน รายงานของ Radio Free Asia ระบุว่า เขื่อนดังกล่าวจะกระทบต่อประชาชนลาว 88 หมู่บ้านที่ต้องย้ายถิ่นฐานออกไป

เมื่อต้นปี 2564 ผมเคยเขียนเอาไว้ว่าโครงการเขื่อนผลิตไฟฟ้าของลาวนับวันจะ “ถอยห่างออกจากเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการผลักดันโดยผลประโยชน์ในประเทศจากการก่อสร้างเขื่อน” การอนุมัติเขื่อนครั้งล่าสุดยืนยันคำกล่าวนี้ได้เป็นอย่างดี

.

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก