เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมาศาลจาการ์ตาตัดสินว่ารัฐบาลอินโดนีเซียล้มเหลวที่จะรักษาสิทธิในอากาศสะอาดของประชาชน นับเป็นการตัดสินครั้งสำคัญที่อาจใช้บังคับให้ภาครัฐดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศที่เลวร้ายในเมือง
.
คำพิพากษาที่เฝ้ารอมาอย่างเนิ่นนานตลอดการต่อสู้ทางกฎหมายเป็นเวลากว่าสองปีระหว่างประชาชนชาวจาการ์ตา 32 คนกับประธานาธิบดีโจโก วิโดโด แห่งอินโดนีเซีย รัฐมนตรีสามคน ผู้ว่าราชการเมืองจาการ์ตา และสองผู้นำชุมชน ศาลมีคำตัดสินให้จำเลยผิดฐาน “กระทำการขัดต่อกฎหมาย” อีกทั้งล้มเหลวที่จะจัดการกับปัญหามลภาวะทางอากาศในเมืองหลวงของประเทศ
ในคำพิพากษาระบุว่าพวกเขาละเมิดกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีข้อกำหนดให้ผู้มีอำนาจกำหนดนโยบายต้องทำให้คุณภาพอากาศทั่วประเทศเป็นไปตามมาตรฐาน โดยมีตัวชี้วัดจำนวนหนึ่ง
จาการ์ตามีประชากรว่า 10.5 ล้านคน เมืองดังกล่าวได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มลภาวะทางอากาศย่ำแย่ที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่สม่ำเสมอ Alghiffari Aqsa ทนายความของโจทก์กล่าวว่าคำตัดสินครั้งนี้นับเป็น “ประวัติศาสตร์”
เราหวังว่าจำเลยทุกคนจะยอมรับคำตัดสินนี้ เพราะพวกเขาเองก็อาศัยอยู่ที่นี่ “เราหวังว่าเขาจะยอมรับคำพิพากษาและดำเนินการตามทุกประเด็นอย่างเป็นรูปธรรมและมีการวางกลยุทธ์ที่ชัดเจน” ขณะที่ทนายฝั่งจำเลยปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นต่อ CNN
ก่อนการตัดสิน Leonard Simanjuntak ผู้อำนวยการกรีนพีซ อินโดนีเซียและหนึ่งในผู้กล่าวหาในฐานะประชาชนคนหนึ่งระบุว่ามีการเรียกร้องค่าชดเชยจากปัญหาสุขภาพที่มีนัยสำคัญเพราะต้องสูด “อากาศสกปรก” ของจาการ์ตา เขาอ้างถึงอาการหอบหืด ปัญหาทางผิวหนัง โดยมีโจทก์คนหนึ่งมีอากาศติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนนับตั้งแต่ย้ายมาที่เมืองแห่งนี้
ประชาชนมองว่ารัฐบาลละเลยการปฏิบัติหน้าที่และข้อผูกพันในการจัดการมลภาวะของจาการ์ตา พร้อมทั้งล้มเหลวที่จะรักษาซึ่งสิทธิของประชาชนในอากาศสะอาด
“ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีความอ่อนไหวในระดับเดียวกัน แต่มีคนบางกลุ่มที่เผชิญกับปัญหาสุขภาพเนื่องจากการหายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไป” Simanjuntak กล่าว
อินโดนีเซียคือประเทศที่มีมลภาวะมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนจาการ์ตาก็ติดอันดับ 10 เมืองที่มีมลภาวะมากที่สุดในโลก อ้างอิงจากรายงานคุณภาพอากาศโลกโดย IQAir
มลภาวะทางอากาศนิยมวัดในหน่วยความเข้มข้นของ PM 2.5 ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีสารพิษอย่างซัลเฟต ไนเตรต และคาร์บอนดำ มันมีขนาดเล็กจนสามารถทะลุลึกเข้าไปในปอด และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง เช่น มะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร
องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานสำหรับค่า PM2.5 ที่ปลอดภัยในระดับ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในอินโดนีเซียมาตรฐานที่ปลอดภัยซึ่งกำหนดโดยรัฐบาลอยู่ที่ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่ที่จาการ์ตา ค่าที่อ่านได้มักเกินกว่าที่กำหนดอย่างสม่ำเสมอ โดย PM2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 39.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อ้างอิงจากรายงานของ IQAir
การเปลี่ยนสภาพเป็นเมืองอย่างรวดเร็วและภาวะการจราจรติดขัดคือสาเหตุหลักของคุณภาพอากาศที่ย่ำแย่ในเมืองจาการ์ตา อ้างอิงจากงานวิจัยโดยศูนย์วิจัยด้านพลังงานและอากาศสะอาด งานศึกษาชิ้นดังกล่าวยังระบุอีกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินบริเวณรอบนอกของเมืองเองก็เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุ
Yuyun Ismawati ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Nexus3 ระบุว่าเธอเข้าร่วมกับคดีนี้หลังจากรู้สึกทนไม่ไหวอีกต่อไปกับคุณภาพอากาศในเมืองที่ย่ำแย่ “คดีฟ้องร้องโดยประชาชนสำหรับฉันคือการเรียกร้องและรักษาสิทธิสำหรับสุขภาพของทุกคน โดยเฉพาะเด็กๆ ซึ่งจะเป็นอนาคตของชาติ” เธอกล่าว
เธอยังพูดอีกว่าหลานอายุสองขวบทั้งสองคนเริ่มมีอากาศทางผิวหนังคือโรคกลากเกลื้อนหลังจากที่นั่งเล่นริมระเบียงบนอพาร์ทเมนท์ชั้นสิบห้าของครอบครัวในกลางเมืองจาการ์ตา “หมอกล่าวว่าเราควรลดไม่ให้หลานสัมผัสกับอากาศภายนอก” เธอกล่าว “มันแย่มากเพราะเด็กๆ ควรได้รับแสงอาทิตย์ แต่เขากลับออกไปไม่ได้เพราะอากาศแย่เนี่ยนะ?”
ก่อนการตัดสิน Yuyun และคนอื่นๆ หวังว่าชัยชนะในศาลจะกดดันให้รัฐบาลบังคับใช้มาตรฐานคุณภาพอากาศในจาการ์ตา เธอยังต้องการให้รัฐบาลท้องถิ่นและระดับชาติให้บังคับใช้มาตรการทางสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดขึ้น และมีข้อกำหนดเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เคร่งครัด พร้อมทั้งนโยบายอากาศสะอาดที่โปร่งใส
Simanjuntak จากกรีนพีซระบุว่าแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากมลภาวะทางอากาศเมื่อต้องเดินทางบนท้องถนนในจาการ์ตา “แม้แต่หน้ากากอนามัยก็ช่วยอะไรมได้” เขากล่าว
ก่อนที่จะมีการตัดสิน เขากล่าวว่าเขาหวังที่คำพิพากษานี้จะบังคับให้ภาครัฐใช้ทรัพยากรเพื่อทำให้อากาศสะอาดในจาการ์ตาหายใจได้มากขึ้น “สิ่งที่เราต้องการคือการปฏิรูปเชิงนโยบายที่ครบถ้วนในแง่ของกรอบกฎหมาย มีการกำหนดมาตรฐานสภาพอากาศที่สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก” Simanjuntak กล่าว
ในบทสรุปเพื่อสนับสนุนคดีความ David R. Boyd จากองค์การสหประชาชาติระบุว่า “มลภาวะทางอากาศคือปัญหาสำคัญในอินโดนีเซียซึ่งทำให้มีคนหลายแสนคนต้องตายก่อนวัยอันควรในแต่ละปี” เขาเสริมด้วยว่า “ปัญหาดังกล่าวมีความรุนแรงอย่างยิ่งในจาการ์ตา”
“ผมขอกล่าวด้วยความเคารพถึงความล้มเหลวของรัฐบาลอินโดนีเซียในการพัฒนาคุณภาพอากาศภายนอกอาคารของจาการ์ตา โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาล้มเหลวที่จะดำเนินการอย่างเร่งด่วนและแข็งขันเมื่อต้องเจอกับระดับมลภาวะที่เกินมาตรฐานอย่างต่อเนื่องและยาวนาน นี่คือการละเมิดสิทธิในรัฐธรรมนูญด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี” เขาระบุ
เมื่อมีการฟ้องร้องคดีในเดือนกรกฎาคมปี 2019 รัฐบาลปฏิเสธข้อกล่าวหาว่าคุณภาพอากาศเลวร้ายลง พร้อมทั้งบอกสื่อว่าอย่านำเสนอสถานการณ์ให้ “เลวร้ายเกินจริง”
Irvan Pulungan ตัวแทนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศประจำจาการ์ตาระบุว่ารัฐบาลพยายามที่จะพัฒนาคุณภาพอากาศอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาสองปีนี้
เขาระบุว่าหลังจากมีการยื่นฟ้องร้อง รัฐบาลท้องถิ่นของจาการ์ตามีการออกกฎหมายจำนวนมาก ทั้งการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์บนอาคารของรัฐบาล ทดสอบการปล่อยมลภาวะของรถยนต์ เพิ่มโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม ทำเลนจักรยาน และหนุนให้ประชาชนใช้การขนส่งสาธารณะ
แต่ผู้ยื่นคำฟ้องมองว่าการกระทำเพียงเท่านั้นยังไม่เพียงพอ มลภาวะทางอากาศของจาการ์ตายังมีส่วนมาจากนอกเมือง เช่น โรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าถ่านหินที่อยู่จังหวัดข้างเคียง นี่คือสาเหตุที่พวกเขาต้องการฟ้องรัฐบาลท้องถิ่นในจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งนายวิโดโดประธานาธิบดี
น่าเสียดายที่การดำเนินการจากรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลางนับว่าน้อยมาก เรียกว่าไม่เกิดอะไรขึ้นเลยด้วยซ้ำ
Yuyun หวังว่าชัยชนะในศาลของเหล่านักรณรงค์จะเป็นมากกว่าเรื่องเชิงสัญลักษณ์ และส่งผลให้รัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลระดับชาติจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศอย่างจริงจัง
“ฉันกำลังเรียกร้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมให้กับลูกหลานและเด็กๆ ทุกคนที่จะต้องเจอกับอากาศสกปรกในอนาคต” เธอกล่าว “เราในฐานะผู้ใหญ่ต้องรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น”
ถอดความและเรียบเรียงจาก Jakarta residents win battle for clean air against Indonesian government
ผู้เขียน
บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก