รายงานวิกฤติภูมิอากาศโดย IPCC ระบุ โลกร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี

รายงานวิกฤติภูมิอากาศโดย IPCC ระบุ โลกร้อนที่สุดในรอบ 125,000 ปี

โลกสมัยใหม่ยังคงเดินหน้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนในอัตราเร็วอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในรอบ 2,000 ปี ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มเด่นชัด ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ไฟป่า และอุทกภัยที่ทำลายล้างชุมชนทั่วโลก
.

จากรายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยสถานะของวิกฤติภูมิอากาศในมุมมองของวิทยาศาสตร์โดยองค์การสหประชาชาติ การประเมินโดยคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change หรือ IPCC) ระบุว่าทุกอย่างจะแย่ลงกว่านี้หากเรายังปล่อยแก๊สเรือนกระจกต่อไป แต่รายงานก็ระบุอย่างชัดเจนว่าอนาคตของโลกใบนี้ส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของมนุษยชาติในปัจจุบัน

หลักฐานสนับสนุนมีอยู่ทั่วไปหมด หากเรายังไม่ทำอะไรอะไรสถานการณ์ก็มีแนวโน้มที่จะแย่ลงอย่างมาก Xuebin Zhang นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากสถาบัน Environment Canada ในโตรอนโต รวมถึงหนึ่งในนักวิจัยหลักของรายงานฉบับดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.. 2564

งานวิจัยชิ้นนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างนักวิทยาศาสตร์กว่า 200 ชีวิตเป็นเวลาหลายปีและได้รับการอนุมัติโดยรัฐบาล 195 ประเทศระหว่างการประชุมออนไลน์เมื่อสัปดาห์ก่อน นี่คือรายงาน 1 ใน 3 ชิ้นที่จะประเมินสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความพยายามในการจัดการปัญหา รวมถึงการปรับตัวเพื่อลดผลกระทบ เอกสารดังกล่าวเผยแพร่ในระยะเวลาไม่ถึงสามเดือนก่อนจะมีการประชุมโลกร้อนครั้งสำคัญที่กลาสโกว์ สก็อตแลนด์ ณ การประชุมนี้เองที่เหล่าตัวแทนรัฐบาลจะมีโอกาสให้คำมั่นเพื่อป้องกันหายนะโดยการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจก

หากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั่วโลกสุทธิเท่ากับศูนย์ภายในกลางศตวรรษนี้ ซึ่งเป็นคำสัญญาที่หลายประเทศตั้งเป้าหมายเอาไว้ โลกก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่ระบุไว้ในข้อตกลงปารีสในการจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสภายในสิ้นศตวรรษที่ 21 Valérie Masson-Delmotte แสดงความเห็น เธอคือนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก Climate and Environmental Sciences Laboratory ประเทศฝรั่งเศส และเป็นประธานร่วมของคณะทำงานของวิทยาศาสตร์กายภาพของรายงานฉบับดังกล่าว เธอกล่าวอีกว่าสภาพภูมิอากาศที่เราจะเผชิญในอนาคตขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราในปัจจุบัน
.

โลกที่ร้อนขึ้น

อุณหภูมิพื้นผิวโลกได้เพิ่มขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยระหว่าง ค.. 1850 – 1900 ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยพบมาก่อนนับตั้งแต่หลังยุคน้ำแข็งซึ่งเกิดขึ้นเมื่อ 125,000 ปีก่อน นี่คือข้อเท็จจริงแบบกำปั้นทุบดินซึ่งปรากฏอยู่ในบทสรุปของรายงาน IPCC โดยมีเป้าหมายให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเชิงนโยบายได้อ่าน

การประเมินในภาพรวมเน้นให้เห็นถึงความพยายามที่จะระบุว่าอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นมากแค่ไหนหากการปล่อยแก๊สเรือนกระจกยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ การคาดการณ์ที่มีความเชื่อมั่นมากที่สุดโดยนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศตลอดศตวรรษที่ 21 ตัวชี้วัดสำคัญที่นักวิจัยใช้ในการประมาณการคือความอ่อนไหวด้านภูมิอากาศที่ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวจะมากแค่ไหนหากระดับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเหนือจากระดับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมสองเท่า การคาดการณ์ที่ดีที่สุดของ IPCC อยู่ที่ 3 องศาเซลเซียส รายงานฉบับนี้ลดความไม่แน่นอนลงโดยระบุช่วงอุณหภูมิระหว่าง 2.5 ถึง 4 องศาเซลเซียสโดยอิงทั้งข้อมูลภูมิอากาศสมัยใหม่และข้อมูลในยุคโบราณ

ช่วงความอ่อนไหวด้านภูมิอากาศที่หดแคบลงแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจของนักวิทยาศาสตร์ในการคาดการณ์ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้างภายใต้สถานการณ์หลากหลายรูปแบบ ในสถานการณ์การปล่อยแก๊สเรือนกระจกระดับปานกลางซึ่งสะท้อนถึงระดับการปลดปล่อยซึ่งใกล้เคียงกับที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น 2.1 ถึง 3.5 องศาเซลเซียส อ้างอิงจากรายงานโดย IPCC ตัวเลขดังกล่าวมากกว่าขอบเขตที่รัฐบาลร่วมกันกำหนดไว้ที่ 1.5 ถึง 2 องศาเซลเซียสตามข้อตกลงปารีส แม้แต่สถานการณ์ที่ทุกรัฐบาลร่วมมือกันลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างเข้มข้น รายงานดังกล่าวก็ยังคาดการณ์ว่าอุณภูมิโลกจะเพิ่มมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียสในอนาคต ก่อนที่จะค่อยๆ ปรับตัวลดลงจนอยู่ใต้ขอบเขตดังกล่าวภายในสิ้นศตวรรษนี้

หลายคนอาจสงสัยว่ายังเป็นไปได้หรือไม่ที่จะจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส? คำตอบคือเป็นไปได้” Maisa Rojas หนึ่งในนักวิจัยหลักของรายงานและผู้อำนวยการ Centre for Climate and Resilience Research จาก University of Chile กล่าวแต่ตราบใดที่ยังไม่มีการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งหมดในทันที อย่างรวดเร็ว เป็นวงกว้าง การจำกัดอุณหภูมิไม่ให้เพิ่มเกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็เป็นเรื่องเกินเอื้อม
.

ผลกระทบขั้นวิกฤติ

รายงานฉบับนี้ไล่เรียงผลกระทบมากมายจนน่าเวียนหัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อโลก พร้อมทั้งข้อมูลสนับสนุนมากมายจากเหนือจรดใต้ ปริมาณน้ำแข็งเหนือทวีปอาร์กติกในช่วงปลายฤดูร้อนที่ผ่านมาอยู่ในระดับต่ำลงอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา อีกทั้งยังต่ำที่สุดเป็นเวลาอย่างน้อย 1,000 ปี การหดตัวลงของธารน้ำแข็งอยู่ในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นในรอบ 2,000 ปี ส่วนมหาสมุทรก็ร้อนเร็วขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนนับตั้งแต่สิ้นยุคน้ำแข็งเมื่อ 11,000 ปีก่อน

นอกเหนือจากตัวชี้วัดเหล่านี้ รายงาน IPCC ยังเน้นถึงความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในการทำความเข้าใจผลกระทบในระดับภูมิภาคจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงบริเวณที่ความร้อนสุดขั้ว ฝนตกหนัก และภัยแล้งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงที่สุด ตัวอย่างเช่น ภัยแล้งรุนแรงส่งผลกระทบต่อหลายพื้นที่ทั่วโลกโดยเฉพาะแถบเมดิเตอเรเนียนและภาคตะวันตกเฉียงใต้ของแอฟริกา

Zhang กล่าวว่าเมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต เหตุการณ์ภูมิอากาศสุดขั้วก็จะมีแนวโน้มรุนแรงยิ่งขึ้น เหนือพื้นแผ่นดิน สภาพความร้อนสุดขั้วซึ่งเกิดขึ้นหนึ่งครั้งทุกๆ 50 ปีในศตวรรษที่ผ่านมา อาจเกิดขึ้นทุก 4 ปีถ้าโลกมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นกว่ายุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 2 องศาเซลเซียส จากรายงานฉบับดังกล่าว ทั่วโลกอาจต้องคาดว่าจะเกิดเหตุภัยพิบัติซ้ำซ้อน เช่น คลื่นความร้อนและภัยแล้งที่ยาวนานซึ่งจะเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน

เราจะไม่ได้เจอกับภัยพิบัติแค่อย่างเดียว แต่จะต้องเจอกับหลายอย่างในเวลาเดียวกัน” Zhang กล่าว
.

การเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจแก้ไข

รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่าผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนต้องสิ่งทางกายภาพ เช่น ธารน้ำแข็ง แผ่นน้ำแข็ง และมหาสมุทร จะเกิดขึ้นไปอีกนานนับศตวรรษหรือกระทั่งยาวนานนับล้านปี เลขดังกล่าวยังไม่ได้ทำการปรับกับระดับความร้อนในปัจจุบันและยังไม่คำนึงถึงความร้อนที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต ระดับน้ำทะเลคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2 ถึง 3 เมตรในอีก 2,000 ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าอุณหภูมิเพิ่มขึ้นจะไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสก็ตาม แต่หากอุณหภูมิเพิ่มขึ้นถึง 2 องศาเซลเซียสก็จะทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มถึง 6 เมตร กระทบต่อชายฝั่งที่มีประชากรอยู่อาศัยหลายร้อยล้ายคน

รายงานฉบับนี้เตือนว่าผลกระทบร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น การสูญเสียแผ่นน้ำแข็ง พื้นที่ป่ามหาศาลถูกทำลาย หรือการเปลี่ยนแปลงกระแสน้ำในมหาสมุทรแบบกะทันหันก็ยังไม่สามารถตัดออกไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปล่อยแก๊สเรือนกระจกจำนวนมากและมีอุณหภูมเพิ่มสูงขึ้นอย่างยิ่งในช่วงปลายศตวรรษนี้ แต่สิ่งที่สร้างความไม่แน่นอนมากที่สุดในการคาดการณ์ด้านภูมิอากาศคือการตัดสินใจของมนุษย์

IPCC เตือนถึงหายนะจากภาวะโลกร้อนเป็นเวลานานนับสามทศวรรษ แต่รัฐบาลทั่วโลกก็ยังไม่ได้ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำ นั่นคือการเปลี่ยนผ่านสู่แหล่งพลังงานสะอาดและหยุดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกทั้งหมด แต่ Zhang มองว่าทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนแปลงไป ถ้าหากคนทั่วโลกจะเริ่มเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นรอบตัว

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นจริง และคนจำนวนมากรับรู้ถึงมัน” Zhang กล่าวรายงานฉบับนี้เป็นเพียงการยืนยันทางวิทยาศาสตร์ต่อสาธารณชนว่าสิ่งที่ทุกคนรู้สึกนั้นคือความจริง

แต่รายงานของ IPCC ยังคงกล่าวเกี่ยวกับบางอย่างที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือหายนะมากมายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้าเราแก้ไขโดยเร่งด่วน Rojas กล่าวว่าทุกๆ องศาที่เพิ่มขึ้นนั้นมีความหมายแนวคิดนี้สำคัญมาก คืออนาคตของลูกหลานอยู่ในมือของเราทุกคน

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก IPCC climate report: Earth is warmer than it’s been in 125,000 years

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก