การรุกราน ‘ไส้เดือนต่างถิ่น’ ทำให้ระบบนิเวศผืนป่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?

การรุกราน ‘ไส้เดือนต่างถิ่น’ ทำให้ระบบนิเวศผืนป่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ?

เป็นเวลากว่า 300 ปีที่การรุกรานคืบคลานอย่างช้าๆ อยู่ใต้ฝ่าเท้าเรา ทุกปีที่ผ่านไป ‘กองทัพไส้เดือนต่างถิ่น’ คืบคลานเข้าสู่ผืนป่า ทะลวงไปในกองใบไม้ ทุ่งหญ้า จนมาถึงสวนหลังบ้านของเรา

.
ถึงแม้ไส้เดือนเหล่านี้จะมีประโยชน์ในการปลูกพืชอาหาร แต่งานวิจัยพบว่าพวกมันอาจทำร้ายผืนป่าได้เช่นกัน และอาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ไส้เดือนเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นของพื้นที่อเมริกาเหนือส่วนใหญ่ เนื่องจากยุคน้ำแข็งที่คร่าชีวิตพวกมันไปจนหมด ไส้เดือนถูกนำกลับสู่ทวีปอเมริกาเหนือจากการตั้งถิ่นฐานของชาวยุโรปในศตวรรษที่ 18 Michael McTavish นักวิจัยจาก University of Toronto ระบุว่าปัจจุบันมีไส้เดือนต่างถิ่นกว่า 30 ชนิดพันธุ์อาศัยอยู่ในแคนาดา 

ไส้เดือนทำให้สภาพแวดล้อมของดินทางกายภาพเปลี่ยนแปลงไป ไส้เดือนจึงส่งผลกระทบทุกอย่างตั้งแต่การย่อยสลายของสารอินทรีย์ วัฎจักรของสารอาหาร การกักเก็บคาร์บอน และวิธีที่น้ำไหลผ่านชั้นดิน” McTavish กล่าวพวกมันจึงส่งผลต่อทุกสรรพชีวิตในระบบริเวศ

เรามักนึกถึงไส้เดือนในฐานะผู้ช่วยพรวนดินในสวนหลังบ้าน แต่หากอยู่ในระบบนิเวศอื่น พวกมันอาจกลายเป็นกองกำลังทำลายล้างสูง
.

Photo : Cristina Sevilleja Gonzalez

.

ภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

ไส้เดือนคือวิศวกรระบบนิเวศ นั่นหมายถึงพวกมันมีบทบาทสำคัญในการกำหนดสภาพแวดล้อม

โดยปกติแล้ว จุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยบนพื้นดินอื่นๆ เช่น ปลวก ไส้เดือนฝอย กิ้งกือ และเห็ดราจะทำหน้าที่ย่อยสลายสารอินทรีย์ในผืนป่าแคนาดา พวกมันเปลี่ยนใบไม้และท่อนไม้ให้กลายเป็นดิน ปลดปล่อยธาตุอาหารที่เคยอยู่ในรูปอินทรียสาร หากไม่มีไส้เดือน สสารเหล่านั้นก็จะสะสมและย่อยสลายอย่างช้าๆ 

เมื่อไส้เดือนรุกรานป่าของเรา พวกมันทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วโดยการกินใบไม้ที่หล่นตามพื้นดิน มันสลายอินทรียสารเหล่านั้นไม่ต่างจากสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ แต่มันทำด้วยความเร็วสูงกว่ามาก กล่าวคือ ไส้เดือนย่อยสลายอินทรียสารเหล่านั้นอย่างรวดเร็วซึ่งอาจส่งผลเสียต่อระบบนิเวศที่เคยชินกับการย่อยสลายอย่างช้าๆ

เมื่อไส้เดือนบุกเข้ามา มันได้ทำให้สภาพแวดล้อมของดินเปลี่ยนไปอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นค่าความเป็นกรดด่าง สภาพพื้นผิว ความหนาแน่น และธาตุอาหาร ปัญหาจึงตามมาเพราะสิ่งมีชีวิตซึ่งอาศัยอยู่เดิมนั้นไม่คุ้นชินกับสภาพแวดล้อมเช่นนี้

McTavish ระบุว่าสภาพพื้นดินแบบใหม่ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของพืชท้องถิ่น และเปิดทางให้พืชต่างถิ่นงอกงามขึ้น ขณะที่ Erin Cameron อาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมจาก St. Mary’s University พบว่าไส้เดือนต่างถิ่นทำให้ความชุกชุมของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในดินลดลงถึง 50 เปอร์เซ็นต์

การรุกรานดังกล่าวสร้างความกังวลต่อนักวิทยาศาตร์ภูมิอากาศ เพราะไส้เดือนกำลังคืบคลานไปสู่ทางเหนือ และกำลังรุกล้ำเข้าสู่ป่าเขตหนาวที่ไม่มีไส้เดือนมายาวนานนับตั้งแต่ยุคน้ำแข็ง
.

ป่าเขตหนาวกำลังสูญเสียคาร์บอน

Justine Lejoly นักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดินจาก University of Alberta วิจัยเรื่องผลกระทบของไส้เดือนต่อคาร์บอนที่กักเก็บในดิน เธอระบุว่าความหิวกระหายของไส้เดือนนั้นส่งผลต่อคาร์บอนที่กักเก็บในดินของป่าเขตหนาว

ป่าเขตหนาวมีความพิเศษ เพราะในช่วงที่อากาศเริ่มอบอุ่น พื้นดินของผืนป่าจะปกคลุมด้วยดินที่มีแร่ธาตุผสมกับดินที่มีอินทรียสาร นี่คือเอกลักษณ์ของป่าเขตหนาวที่จะประกอบด้วยใบไม้ที่กำลังย่อยสลายชั้นหนา มอส และท่อนไม้ที่หักลงมา

ชั้นของใบไม้ที่หนาหนุ่มของป่าเขตหนาวคือพื้นที่เก็บคาร์บอนปริมาณมหาศาล Dendrobaena octaedra คือไส้เดือนต่างถิ่นที่ชื่นชอบป่าเขตหนาวเป็นพิเศษ มันกินใบไม้เหนือพื้นดินและปล่อยคาร์บอนออกมา

ป่าเขตหนาวได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่กักเก็บคาร์บอนภาคพื้นดินที่สำคัญแห่งหนึ่ง” Lejoly กล่าวถ้าเราสูญเสียอินทรียสารเหล่านั้นไป หมายความว่าคาร์บอนก็จะไม่ถูกกักเก็บไว้ในป่าอีกต่อไป
.

Photo : Cristina Sevilleja Gonzalez

.
Lejoly
ประมาณการว่าปัจจุบันป่าเขตหนาวแห่งนี้มีไส้เดือนราว 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เธอคาดว่าภายในปี พ.. 2593 ป่าเขตหนาวแทบทั้งหมดจะถูกรุกราน นั่นหมายความว่าป่าแห่งนี้อาจสูญเสียคาร์บอนที่กักเก็บเอาไว้ทั้งหมด

แบบจำลองที่พัฒนาโดย Cameron พบว่าผลกระทบจากไส้เดือนต่างถิ่นอาจทำให้ปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บบริเวณผิวดินลดลงถึง 50 ถึง 94 เปอร์เซ็นต์หลังจากผ่านไป 125 ปี แต่การสูญเสียคาร์บอนดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากที่สุดในช่วง 35 ถึง 40 ปีแรก นั่นหมายความว่าป่าเขตหนาวจะปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากกว่าที่มันกักเก็บได้นั่นเอง
.

การรุกรานระลอกสอง

เมื่อไม่นานมานี้ ไส้เดือนจากเอเชียหลายชนิดพันธุ์เริ่มคุกคามถึงภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งสร้างความกังวลให้กับนักวิทยาศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องดิน โดยเฉพาะไส้เดือนกระโดด หรือไส้เดือนงูซึ่งมีที่มาจากเกาหลีใต้และญี่ปุ่น พวกมันชอนไชไปทั่วพื้นดินในสหรัฐอเมริกาและข้ามเขตแดนไปยังแคนาดา

McTavish เกรงว่าไส้เดือนกระโดดจะเป็นภัยคุกคามที่น่ากังวลว่าไส้เดือนที่มาจากยุโรป เนื่องจากไส้เดือนกระโดดมีขนาดใหญ่กว่า ย่อยสลายอินทรียสารได้เร็วกว่า และอยู่รวมกันหนาแน่นกว่าโดยอาจมีมากถึง 100 ตัวในพื้นที่หนึ่งตารางเมตร ไส้เดือนกระโดดมีชื่อเสียงในการถล่มผิวดินด้านบนแล้วเปลี่ยนสภาพเป็นชั้นดินคล้ายกับกากกาแฟซึ่งเกิดจากมูลไส้เดือนนั่นเอง
.

จัดการกับภัยคุกคาม

ไส้เดือนต่างถิ่นพบได้ทุกที่ตั้งแต่ออนตาริโอไปจนถึงอแลสกา การขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในภูมิภาคนั้นเกิดจากิจกรรมของมนุษย์ โดยปกติแล้วไส้เดือนจะขยับขยายได้ราว 10 เมตรต่อปี แต่ไส้เดือนต่างถิ่นเหล่านี้สามารถเดินทางได้หลายร้อยกิโลเมตรในหนึ่งวันหากติดไปกับรถยนต์ เรือ หรือแม้แต่ชาวสวนเอง

McTavish ระบุว่าการให้ความรู้ความเข้าใจต่อสาธารณะถึงอันตรายของไส้เดือนจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อจำกัดการย้ายถิ่นฐานของไส้เดือนไปยังพื้นที่อื่นๆ

ปัญหาสำคัญคือถ้ามันเริ่มแพร่ระบาดในพื้นที่เมื่อไหร่ เราไม่มีทางจัดการได้เลย” Cameron กล่าวดังนั้นการจัดการจะต้องเริ่มตั้งแต่การป้องกันไม่ให้มันมาถึงพื้นที่ปลายทาง
.

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ถอดความและเรียบเรียงจาก Invasive earthworms are remaking our forests, and climate scientists are worried

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก