ในทุกๆ วันศุกร์ ‘เกรต้า ธุนเบิร์ก’ ยังคงทำหน้าที่เป็นผู้นำสาส์น บอกเล่าปัญหาวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งถึงรัฐบาลสวีเดน
นับจากจุดเริ่มต้นเมื่อปี 2018 จากสาวน้อยอายุ 15 มาถึงวันนี้ กิจกรรม Friday Strike Back ก็เริ่มทวีความเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ
ในสัปดาห์ที่เธอบันทึกไว้บนทวิตเตอร์ว่าเป็น ครั้งที่ 223 (เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน) – เธอและหนุ่มสาวอีก 623 คน ไม่ได้ทำเพียงแต่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ แต่ยังได้ร่วมกันฟ้องร้องแบบกลุ่มต่อรัฐบาลสวีเดน
ในข้อหาไม่สามารถดำเนินมาตรการที่อย่างเข้มแข็งและเพียงพอเพื่อหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
เกรต้า อธิบายว่า รัฐสวีเดนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดของรัฐธรรมนูญในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งนำไปสู่สภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับคนรุ่นปัจจุบันและอนาคต
ทั้งยังให้ความเห็นอีกว่า กฎหมายด้านสภาพอากาศควรเข้มงวดมากกว่านี้
เธอ – ผู้ได้รับสมญาจากสื่อว่าเป็น Climate Icon อธิบายต่อว่า เราไม่มีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองระยะยาวจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม แต่เราจำเป็นต้องใช้วิธีการที่เรามีอยู่และทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้
การยื่นฟ้องครั้งนี้ถือเป็นคดีแรกที่เกิดขึ้นโดยคนสวีเดน ต่อศาลสวีเดน เพื่อให้รัฐฐาลสวีเดนเกิดการเปลี่ยนแปลง
โดยก่อนหน้านี้ เยาวชนชาวโปรตุเกส 6 คนได้ทำการฟ้องร้องสวีเดนและอีก 32 ประเทศต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป โดยกล่าวหาว่าดำเนินการล้มเหลวในการจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
หากมีคำตัดสินที่ระบุว่ารัฐบาลสวีเดนและรัฐอื่นๆ ที่ถูกฟ้องเป็นฝ่ายแพ้คดี รัฐเหล่านั้นจำเป็นต้องปฏิบัติตามปฏิญญาปารีสที่มุ่งบรรลุเป้าหมายลดอุณหภูมิโลกให้ลดลง 1.5 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา องค์กรและพลเมืองได้หันไปใช้กระบวนการทางศาลเพื่อตอบโต้รัฐต่อการเพิกเฉยในการรับมือวิกฤตสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น
ด้วยเห็นว่านี่ล่ะคือช่องทางสำคัญที่จะกระตุ้นให้รัฐหันมาสนใจปัญหาอย่างจริงจังเสียที
เมื่อเดือนธันวาคม 2019 ศาลฎีกาของเนเธอร์แลนด์ได้สั่งให้รัฐบาลลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 25 %ภายใน 1 ปี หลังจากพ่ายแพ้ในคดีที่ถูกฟ้องร้องโดยกลุ่มรักษ์สิ่งแวดล้อม
เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในฝรั่งเศส เมื่อพลเมืองกว่า 2 ล้านคนฟ้องร้องรัฐบาลฝรั่งเศสต่อศาล เนื่องจากล้มเหลวในการดำเนินการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หรือสำหรับตัวเกรต้าเอง เมื่อปี 2019 เธอและเด็กอีก 15 คนจากทั่วโลกยื่นฟ้องต่อองค์การสหประชาชาติว่า ประเทศอาร์เจนตินา บราซิล ฝรั่งเศส เยอรมนี และตุรกี ละเมิดอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กจากการที่ไม่ลงมือทำอะไรกับวิกฤตโลกร้อน
สำหรับสวีเดน รัฐบาลใหม่ฝ่ายขวาจัดกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากแทบไม่ได้ใส่ใจเป้าหมายทางสิ่งแวดล้อมเลย
ทั้งที่ก่อนหน้านี้ ในปี 2017 รัฐบาลสวีเดนได้นำกฎหมายด้านสภาพอากาศมาใช้ซึ่งกำหนดให้รัฐบาลต้องทำงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซที่ทำให้โลกร้อนลงไปสู่เป้าหมายสุทธิที่เป็นศูนย์ซึ่งกำหนดไว้สำหรับปี 2045
อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านวันมาเรื่อยมา ทั้งเกรต้า และเพื่อนๆ ของเธอต่างก็ทราบดีว่ามันไม่มีความคืบหน้าใดๆ โดยนัยสำคัญ
จนเมื่อนายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาอย่าง ‘อูล์ฟ คริสเตอร์สสัน’ เข้ามารับตำแหน่ง ก็ประเดิมงานด้วยการยุบกระทรวงสิ่งแวดล้อมไปรวมกับกระทรวงอื่น
โดย คริสเตอร์สสัน ได้ประกาศยุบกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Ministry of the Environment) ซึ่งเคยถือเป็นกระทรวงสำคัญของสวีเดน ไปรวมกับกระทรวงพลังงาน ธุรกิจ และอุตสาหกรรม (Ministry for Energy, Business and Industry) แทน
‘ออโรรา’ องค์กรทางสิ่งแวดล้อมของสวีเดน ที่นำโดยเยาวชนโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้รัฐสวีเดนดำเนินการอย่างจริงจังมากขึ้นเพื่อต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นโจกท์หลักในการยื่นฟ้องระบุว่า
“รัฐของสวีเดนไม่เคยปฏิบัติต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศเหมือนกับวิกฤตที่กำลังเป็นอยู่ และรัฐบาลใหม่ก็ส่งสัญญาณอย่างชัดเจนว่าจะไม่ทำอย่างนั้นเช่นกัน”
ปัจจุบัน ข้อมูลจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาและอุทกวิทยาแห่งสวีเดน ระบุว่า อุณหภูมิเฉลี่ยในสวีเดนสูงขึ้นเกือบ 2 องศาเซลเซียส ตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 1800 ซึ่งเร็วกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกถึงสองเท่า
และตอนนี้หิมะปกคลุมน้อยลงสองสัปดาห์ต่อปี
อ้างอิง
- Greta Thunberg, 600 others sue Sweden for climate inaction
- Swedish activists sue state over its climate policies
- Greta Thunberg sues her native Sweden for failing to take action on climate
- Greta Thunberg and 15 other children filed a complaint against five countries over the climate crisis
- ‘Devastating consequences’ as new Swedish government scraps environment ministry
ผู้เขียน
โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน