‘ฟอกเขียว’ คำกล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่งานวิจัยบอกว่าเป็นความจริง

‘ฟอกเขียว’ คำกล่าวหาบริษัทยักษ์ใหญ่ที่งานวิจัยบอกว่าเป็นความจริง

งานวิจัยชิ้นล่าสุดซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร PLOS One พบว่าเหล่าบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ อาทิ Chevron, ExxonMobil, BP และ Shell ใช้คำว่า “ภูมิอากาศ” “คาร์บอนต่ำ” และ “การเปลี่ยนผ่าน” บ่อยครั้งมากขึ้นในรายงานประจำปีและกลยุทธ์ธุรกิจฉบับใหม่เกี่ยวกับการลดคาร์บอนขององค์กร แต่บริษัทกลับไม่มีการดำเนินงานใดๆ เกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนดังที่ให้คำมั่นไว้ อีกทั้งรายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทยังต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก
.

“เราจึงสรุปว่าการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดไม่ได้เกิดขึ้นจริง เนื่องจากปริมาณเงินลงทุนและการดำเนินงานไม่อาจเทียบเท่าได้กับสิ่งที่บริษัทพยายามนำเสนอ” นักวิจัยจาก Tohoku University และ Kyoto University ในประเทศญี่ปุ่นกล่าว “ตราบใดที่บริษัทยังไม่มีการดำเนินงานหรือลงทุนอย่างจริงจังดังคำกล่าวอ้าง คำกล่าวหาที่ว่าบริษัทฟอกเขียวนั้นก็นับว่าเป็นความจริง”

บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ 4 แห่งที่งานวิจัยชิ้นนี้ให้ความสนใจ ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์คิดเป็นสัดส่วน 10 เปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนทั้งหมดตั้งแต่ พ.ศ. 2488 บริษัทชั้นนำระดับโลกให้คำมั่นว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด หรืออย่างน้อยคือลดรอยเท้าคาร์บอนเนื่องจากแรงกดดันจากเหล่านักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ผู้ถือหุ้น และรัฐบาลที่จะลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกเพื่อป้องกันผลกระทบที่ร้ายแรงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

บริษัทถูกโจมตีอย่างหนักจากนักวิจารณ์ที่ระบุว่าบริษัทสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณชนเกี่ยวกับอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาเนิ่นนานหลายปี แต่กลับแทบไม่ช่วยอะไรเพื่อบรรเทาวิกฤติโลกร้อนที่กำลังจะเกิดขึ้น

จวบจนปัจจุบัน ภาคพลังงานก็ยังไม่มีการดำเนินการอย่างเป็นระบบว่าจะบรรลุเป้าหมายลดคาร์บอนได้อย่างไร งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่าบริษัทมหาชนยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมน้ำมันดำเนินการได้ต่ำกว่าเป้าหมายในด้านพลังงานหมุนเวียน
.

ไม่พบการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมีนัยสำคัญ

จากข้อมูลระหว่างปี พ.ศ. 2552 ถึง 2563 นักวิจัยพบว่าบริษัทมักจะพูดถึงการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดแต่กลับไม่มีการดำเนินการเปลี่ยนแปลงในระดับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ตัวอย่างเช่น BP และ Shell ให้คำมั่นว่าจะลดการลงทุนขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ความจริงแล้วทั้งสองบริษัทกลับเพิ่มพื้นที่ขุดเจาะน้ำมันแห่งใหม่จากการสำรวจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ทีมวิจัยยังระบุว่าพวกเขาไม่พบการลงทุนในพลังงานสะอาดที่มากพอจะทำให้บริษัทเปลี่ยนจากการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลสู่พลังงานหมุนเวียน ความจริงแล้วงานวิจัยยังระบุว่า “ExxonMobil ไม่ได้ผลิตพลังงานสะอาดใดๆ ในทศวรรษที่ผ่านมา” ขณะที่กำลังการผลิตพลังงานหมุนเวียนของ BP ซึ่งใหญ่ที่สุดใน 4 บริษัทมีเพียง 2,000 เมกะวัตต์ หรือเทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่ 2 โรงเท่านั้น

งานวิจัยยังพบว่าบริษัทน้ำมันจากยุโรปอย่าง BP และ Shell มีท่าทียอมรับวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศ ลงทุนในพลังงานสะอาดมากกว่า และมุ่งมั่นในการทำงานมากกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทน้ำมันสัญชาติอเมริกันอย่าง ExxonMobil และ Chevron ที่แสดงท่าที ‘ต่อต้าน’ การลงทุนด้านพลังานหมุนเวียนและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด
.

บริษัทยังย้ำว่าพวกเขากำลังเดินหน้าสู่พลังงานสะอาด

โฆษกของบริษัท Chevron ระบุว่าบริษัทไม่สามารถแสดงความเห็นต่องานวิจัยชิ้นดังกล่าวได้เพราะยังไม่ได้รับข้อมูล แต่ Chevron เน้น “ลดความเข้มข้นของคาร์บอนในการปฏิบัติงานของเรา และพยายามริเริ่มธุรกิจคาร์บอนต่ำที่สอดคล้องกับธุรกิจหลักของเรา” โดยบริษัทให้คำมั่นว่าจะลงทุนหนึ่งหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจคาร์บอนต่ำภายใน พ.ศ. 2571

ส่วน BP ระบุว่าบริษัทมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญเพื่อบรรลุเป้าหมายคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายใน พ.ศ. 2564 จึงไม่อาจเชื่อได้ว่างานวิจัยชิ้นนี้ได้คำนึงถึงความก้าวหน้าดังกล่าวอย่างแท้จริง เช่นว่าบริษัทได้ลงทุนมูลค่า 1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจพลังงานคาร์บอนต่ำ BP ยังรายงานว่าการผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติมีแนวโน้มลดลงในช่วงเวลาของการศึกษา

โฆษกของบริษัท Shell ระบุว่าบริษัทตั้งเป้าปล่อยคาร์บอนสุทธิเท่ากับศูนย์ภายใน พ.ศ. 2593 ทั้งในด้านการผลิตและจัดจำหน่าย นอกจากนี้ บริษัทยังเป็นบริษัทพลังงานแห่งแรกที่เสนอแผนเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดให้กับที่ประชุมผู้ถือหุ้น และได้รับการรับรอง

ขณะที่บริษัท ExxonMobil ระบุว่าผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลในบริษัทระบุว่ากำลังการผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติจะค่อนข้างคงที่จนถึงปี พ.ศ. 2568 โดยบริษัทให้คำมั่นว่าจะลงทุน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในธุรกิจคาร์บอนต่ำ และมี “ความก้าวหน้าในโครงการคาร์บอนต่ำกว่า 20 แห่งทั่วโลก”

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


ถอดความและเรียบเรียงจาก Accusations of ‘greenwashing’ by big oil companies are well-founded, a new study finds

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก